เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมลูกให้มีความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องศิลปะ สำหรับเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาในยุคนี้
การปลูกฝัง และ ส่งเสริมลูก ให้มี ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่คุณพ่อ คุณแม่ยุคใหม่ควรให้ความสนใจ
กระตุ้นลูกให้มีความคิดสร้างสรรค์
แม้แต่คนที่ทำงานในอาชีพซึ่งเน้นเรื่องความรู้เฉพาะทาง อาทิ แพทย์ ตำรวจ ครู ทนายความ นักบัญชี ฯลฯ ก็ต้องใช้เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน
ในยุคหนึ่งการรับสมัครคนเข้าทำงาน มีความจำเป็นต้องรับสมัครคนที่เรียนเก่ง สามารถท่องจำความรู้ได้มาก ๆ เข้าไปปฏิบัติงาน แต่เมื่อเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานในทุกองค์กร ความจำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาต่าง ๆ ก็หมดไป เพราะเราสามารถให้เครื่องคำนวนค่าบัญชีชั้นสูงแทนการจ้างนักบัญชีที่มีสูตรคำนวนแม่น ๆ ได้ เราสามารถค้นหาความรู้ที่มีอยู่ทุกมุมโลกได้ ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที ฯลฯ แต่ความเชี่ยวชาญที่เครื่องมือต่าง ๆ จะเข้ามาแทนที่ไม่ได้ คือ การนำองค์ความรู้เหล่านั้น มาสรรค์สร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ดังนั้น การพัฒนา “ความคิดสร้างสรรค์” จึงเป็นสิ่งที่เราควรฝึกฝน และสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยแนวทางบางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก โดยมีหลักการที่ได้รวบรวมมาจากนักคิดท่านต่าง ๆ ดังนี้
ส่งเสริม ลูก ให้มี ความคิด สร้างสรรค์
1. ฝึกการตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ก่อน แม้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดูจะไม่มีวี่แววว่าจะเป็นไปได้ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมมินิมาราธอน ในขณะที่เราและลูกมีอาการภูมิแพ้ การเข้าร่วมประกวดการเล่านิทานในขณะที่เราและลูกขี้อายมาก ฯลฯ ซึ่งทักษะเรื่อง “การตั้งเป้าหมาย” จะทรงพลัง จนทำให้เราและลูกพยายามไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยวินัย และการฝึกคิดแบบสร้างสรรค์ ที่จะจัดเวลา วิธีการ กลยุทธ์ใดใด เพื่อไปสู่เป้าหมายในที่สุดค่ะ ดังนั้น โจทย์ต้อง ยาก และ ท้าทาย นะคะ
2. ฝึกให้ลูกมองอุปสรรคเป็นโอกาสเสมอ เมื่อไหร่ที่มีอุปสรรคเข้ามา เราควรแสดงตนเป็นผู้ให้กำลังใจ และร่วมวิเคราะห์แนวทางในการก้าวข้ามอุปสรรคไปกับลูก ไม่ควรใช้วิธีการหลบเลี่ยงปัญหา เพราะนอกจากจะไม่เป็นการส่งเสริมแนวคิดที่สร้างสรรค์แล้ว ยังทำให้ลูกมีภูมิต้านทานในการใช้ชีวิตต่ำ นำไปสู่เรื่องปัญหาของความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย
ส่งเสริมให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์
3. ฝึกให้ลูกอยู่กับแนวคิดที่เป็นปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นอนาคต เท่านั้น เพราะการที่ลูกวกวนอยู่กับแนวความคิดแบบเก่า ๆ ที่ลูกทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เคยประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้ลูกไม่ได้พัฒนาแนวความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์งาน แต่เราจะสนับสนุนให้ลูกจะกลับไปที่ความคิดเก่า เพื่อพัฒนาต่อยอดแนวคิดให้มีความใหม่ หรือสดขึ้น และต้องให้แรงเสริมกับความสร้างสรรค์ขึ้น โดยหาแง่มุมชักชวนให้ลูกเห็นมุมมอง หรือจุดที่ลูกพัฒนาขึ้นค่ะ
4. ฝึกสร้างสรรค์จากสิ่งที่ใกล้ตัว วัตถุดิบในการสร้างสรรค์ ควรอยู่ในวิถีชีวิตของเราและลูก เช่น คุณแม่สอนทำอาหารก็สามารถให้ลูกได้ช่วยทำอาหาร จัดอุปกรณ์ จัดโต๊ะอาหาร จัดบรรยากาศในห้องรับประทานอาหาร จัดตกแต่งสถานที่ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งเป้าให้ลูกได้ช่วยออกแบบความคิดร่วมกัน และลงมือทำออกมา คุณพ่อสอนปลูกต้นไม้ ก็สามารถให้ลูกช่วยเตรียมอุปกรณ์ปลูก ช่วยกันปลูก ออกแบบการจดบันทึกต้นไม้ ออกแบบสถานที่จัดวางต้นไม้ ฯลฯ งานง่าย ๆ ภายในบ้านก็นำมาเป็นเครื่องมือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ลูกได้ทั้งสิ้นค่ะ
5. ฝึกลูกด้วยความเชื่อมั่น เชื่อใจ ให้เกียรติ เคารพความคิด การตัดสินใจ อารมณ์ดี มองโลกในแง่บวกตลอดเวลา เพื่อการบ่มเพาะพลังแห่งการสร้างสรรค์ในตัวลูกให้ลุกโพรง ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องที่ลูกต้องการ การชี้นำจะส่งผลให้ลูกเป็นผู้ตาม และขาดความมั่นใจในการเสนอแนวความคิดด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้หากแนวคิดบางเรื่อง มีความหมิ่นเหมต่อเรื่องศีลธรรมบางข้อ อาทิ ลูกอยากทดลองเรื่องหอยทากว่ายน้ำเป็นหรือไม่? ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกระทบต่ออีก 1 ชีวิต เราและลูกควรหาข้อมูลร่วมกันให้มากพอจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ก่อนจะทำการทดลองตามสมมติฐานของลูก เพราะความคิดสร้างสรรค์ ก็ต้องการคุณธรรมรองรับสนับสนุนเช่นกัน
6. ฝึกด้วยการใช้มาตรฐานส่วนตัว ไม่ใช้มาตรฐานสังคมในการดูแลลูก ไม่เปรียบเทียบลูก ชื่นชมลูกอย่างที่ลูกเป็น ไม่ผลักดันให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ออกแรงเชียร์ในสิ่งที่ลูกใช่ เพื่อให้ลูกได้ใช้ศักยภาพบวกของตนเองในด้านนั้น ๆ มาต่อยอดความสนใจของตนเองจนเกิดเป็น การสร้างสรรค์งานในแนวคิดใหม่ ๆ เมื่อเด็ก ๆ รักในสิ่งที่เรียนรู้ เขาจะไม่หยุดค้นคว้า และจะคิดค้นพัฒนาสิ่งที่แตกต่าง แต่สร้างสรรค์ไปเรื่อย ๆ ค่ะ และนี่ก็ถือเป็นการ ส่งเสริมลูก ให้มี ความคิดสร้างสรรค์
ฝึก ลูก ให้ มี ความ คิด สร้าง สรรค์
7. ฝึกด้วยคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ที่มาจากวิถีชีวิตของคุณพ่อคุณแม่เอง ดังนั้นแนวทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ลูกจะศักดิ์สิทธิ์ เพราะลูกได้รับแบบอย่าง บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของชีวิต มาเอื้ออำนวยแนวคิดของลูกนั่นเอง ฉนั้น “ร้อยคำสอน..ก็ไม่เท่าหนึ่งแสดงวิธีทำ” ค่ะ
ของเล่นที่ช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์
ส่งเสริมลูก ให้มีความคิดสร้างสรรค์
นักคิด นักสร้างสรรค์ในทุกสาขาอาชีพ มักจะกล่าวถึงแนวทางการเลี้ยงดูของ “แม่ และ พ่อ” ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดต่อการคิดแบบสร้างสรรค์ของเขาไว้ว่า แม่ที่ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาอยากทำอะไร เพราะเมื่อได้อยู่กับสิ่งที่รัก พวกเขาก็สร้างสรรค์งานที่รักให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้หลาย ๆ อย่างในชีวิตก็ดีขึ้นตามมาเอง และสิ่งที่สำคัญคือการทำงานด้วยความรัก ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย และก็เป็นคนที่รู้สึกสุขภาพจิตดีมาก ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกสร้างสรรค์…อย่างเป็นสุข ก็ลองใช้สมการง่าย ๆ “คิดนอกกรอบ+คิดบวก=ความคิดสร้างสรรค์” ไปใช้กับลูก ๆ ดูค่ะ แล้วเราจะพบว่า “สร้างงานอย่างสร้างสรรค์..ก็เท่ากับสร้างสุขให้ชีวิต” นะคะ
โดย ครูป๋วย
แหล่งที่มาของบทความ
www.allprodad.com
www.parents.com
อ่านบทความอื่นๆ ที่คุณน่าจะสนใจ
Social Skill แบบไหนที่เด็กควรมี
เมื่อลูกน่ารักกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา
แชร์ให้แม่รู้ 5 กิจกรรม เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สำหรับลูกรัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!