หนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ถือว่าหาดูได้ยาก จะต้องมี “สุริยุปราคา” อยู่ด้วยอย่างแน่นอนแต่ สุริยุปราคาคืออะไร ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการโคจรของดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ หลายคนอาจมีความต้องการที่จะออกไปดูโดยไม่ระวัง อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อดวงตาได้ เด็ก ๆ คนไหนยังไม่รู้ข้อมูลเบื้องต้นของปรากฏการณ์นี้รีบอ่านเลย
เด็ก ๆ รู้ไหม สุริยุปราคาคืออะไร ?
สุริยุปราคา (Solar Eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของมนุษย์ โดยเกิดจากการที่ดวงจันทร์เคลื่อนตัวเข้าบังแสงของดวงอาทิตย์ เป็นผลมาจากการโคจรของดวงจันทร์, โลก และดวงอาทิตย์ เมื่อทั้งดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์มาอยู่ในระนาบเดียวกัน แต่มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ทำให้ดวงจันทร์ไปบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะส่องลงมาที่โลกนั่นเอง ถ้าเทียบกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั่วไป ถือว่าสุริยุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ใน 1 ปีจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง และการบดบังจะสังเกตได้ในพื้นที่บดบังเท่านั้น ไม่นานดวงจันทร์ก็จะเคลื่อนตัวผ่านไป หรือที่เรามักเรียกกันว่า “สุริยคราส” นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ระบบสุริยะ คืออะไร ? เรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ เสริมพัฒนาการเด็ก
วิดีโอจาก : Compulsory Science IPST
4 รูปแบบของสุริยุปราคา
การเกิดสุริยุปราคาสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 4 แบบ โดยจะจำแนกรูปแบบ โดยอิงตามลักษณะการมองเห็นจากบนพื้นผิวโลก ดังนี้
- แบบบางส่วน (Partial Solar Eclipse) : เกิดการบดบังแสงจากดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีแสงบางส่วนส่องผ่านมายังพื้นผิวโลกในบางส่วน
- สุริยุปราคาแบบเต็มดวง (Total Solar Eclipse) : จะมองเห็นดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ในพื้นที่นั้นบนโลกจะมองไม่เห็นแสงของดวงอาทิตย์
- แบบวงแหวน (Annular Solar Eclipse) : คล้ายกับแบบเต็มดวง คือ ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทำให้ไม่มีแสงออกมา แต่จะต่างกันตรงที่ว่ายังมีพื้นที่รอบ ๆ ของดวงจันทร์ที่มีแสงจากดวงอาทิตย์เล็ดลอดออกมาคล้ายวงแหวน
- สุริยุปราคาผสม (Hybrid Eclipse) : เกิดจากความโค้งของโลกทำให้บางส่วนของแนวคราสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง เพราะอยู่ใกล้มากกว่า ในส่วนที่เหลือจะเห็นสุริยุปราคาเป็นรูปแบบวงแหวนแทน
จากทั้งหมด 4 แบบนั้น โดยปกติแล้วผู้คนมักจะอยากเห็นแบบเต็มดวง หรือแบบวงแหวนมากที่สุด จนกลายเป็นภาพจำมาตลอดในหนังสือเรียนต่าง ๆ
จันทรุปราคา VS สุริยุปราคา
ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ได้ยินกันมาโดยตลอด แต่เด็ก ๆ เข้าใจความแตกต่างของทั้ง 2 อย่างนี้หรือไม่ ว่าต่างกันอย่างไร โดยความต่างนั้นจำแนกจากรูปแบบการเรียงตัวกันของโลก, ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ รวมไปถึงลักษณะการมองเห็นจากบนโลก โดยจันทรุปราคา (Lunar Eclipse) จะเกิดจากการโคจรของโลกเราเอง ที่ไปแทรกอยู่ตรงกลาง ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ในระนาบเดียวกัน โลกจะบดบังแสงของดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์ที่ไม่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์มืดลง จนมองเห็นเป็นสีแดง ๆ ส้ม ๆ หรือที่หลายคนเรียกว่า “จันทรคราส” นั่นเอง ต่างจากสุริยุปราคาที่เป็นดวงจันทร์มาบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกแทน
สิ่งที่น่าจดจำเกี่ยวกับสุริยุปราคาในประเทศไทย
มีการจดบันทึกเป็นหลักฐานว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีตช่วงสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน หากอิงอายุของโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ อาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้าสมัยดังกล่าวอยู่มาก สำหรับในไทยมีเหตุการณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำนายวันเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้เอาไว้ล่วงหน้าเอาไว้ถึง 2 ปี โดยวันที่ทำนายนั้นคือวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411เมื่อถึงวันนั้นก็เกิดสุริยุปราคาขึ้นจริง ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องขึ้นเป็น “พระบิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย” และมีการกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” อีกด้วย
การเกิดสุริยุปราคามีประโยชน์หรือไม่ ?
หากวัดจากบุคคลทั่วไป คงต้องบอกตามตรงว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เป็นเพียงสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากออกไปดูเท่านั้นเอง ตรงกันข้ามกับผู้ที่ทำงานแวดวงดาราศาสตร์ บุคคลกลุ่มนี้จะใช้โอกาสนี้ในการเฝ้าสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคโรนา (Corona) ของดวงอาทิตย์ เนื่องจากโดยปกติแล้วบริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างมาก ทำให้การสังเกตทำได้อย่างยากลำบากนั่นเอง สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการออกมาดูนั้น อาจมองว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้หากไม่ระมัดระวัง
3 สิ่งที่ต้องระวังหากเด็ก ๆ จะออกมาดูสุริยุปราคา
เมื่อมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ด้วยความที่หาดูได้ยาก ทำให้หลายคนอยากพาบุตรหลานออกมามองดู โดยอาจลืมคำนึงถึงความปลอดภัยไปบ้าง ดังนั้นต้องระวังให้ดี ดังนี้
- การสังเกตด้วยตาเปล่า บางครั้งอาจทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยวัดจากเวลา และตำแหน่งที่เหมาะสม แต่เพื่อความปลอดภัย กันไว้ดีกว่าแก้ ไม่ควรให้บุตรหลาน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่มองปรากฏการณ์นี้ด้วยตาเปล่าอย่างเด็ดขาด เนื่องจากส่วนที่สว่างนั้นสามารถส่งผลเสียต่อดวงตาได้
- ปกติแล้วการจะดูสุริยุปราคานั้นจะทำผ่านการมองจากกล้องที่มีแผ่นกรองแสงปิดหน้ากล้องเท่านั้น ไม่สามารถใช้กล้องทั่วไปดูได้ และถึงแม้จะมีแผ่นกรองแสงก็ไม่ควรมองนานจนเกินไปเช่นกัน
- ระวังวัสดุที่กรองแสงได้ แต่ยังคงอันตราย เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ดูสุริยุปราคา เช่น ฟิล์มถ่ายรูป, แว่นกันแดด, แผ่น CD หรือ DVD, กระดาษห่อลูกอม และฟิล์มเอกซเรย์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้มองเห็นภาพที่ไม่ชัดแล้ว ยังส่งผลเสียต่อดวงตาด้วย
การเกิดสุริยุปราคาเป็นบทเรียนที่เด็กวัยเรียนต้องพบเจอในชั้นเรียนอยู่บ้าง เราจึงหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของปรากฏการณ์ที่หาได้ยากนี้ไม่มากก็น้อยนอกห้องเรียน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องฟ้าจำลอง พาเด็ก ๆ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ศึกษาเรื่องดาว ดูดวงกลางกรุงฯ
คนท้องกับจันทรุปราคา ความเชื่อคนท้อง ห้ามแม่ท้องดูจันทรุปราคา
ชั้นบรรยากาศ มีกี่ชั้น? มารู้จักชั้นบรรยากาศของโลกกันเถอะ !
ที่มา : narit, lib.rmutr, kapook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!