ผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งท้อง หรือคนปกติธรรมดา หากมีอาการแสบท้อง แสบอก คล้ายว่ากรดไหลย้อนจะมาเยือนยังรู้สึกแย่ และกระทบกับการใช้ชีวิต แล้วหากแม่ตั้งครรภ์ที่พุงโตอยู่แล้ว เกิดอาการแบบเดียวกัน ย่อมต้องทรมานมากกว่าแน่นอน ทั้งอึดอัดพุง จุกเสียด แสบท้อง โดยเฉพาะหากมีอาการในช่วงที่ต้องพักผ่อนนอนหลับ แต่… แม่ตั้งครรภ์ แสบท้องมาก นอนไม่ได้ ต้องทำยังไงดี จะมีผลกระทบกับสุขภาพ การเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในท้องไหม มาดูวิธีจัดการและแก้ไขปัญหานี้กันค่ะ
แม่ท้อง แสบท้องมาก นอนไม่ได้ เพราะอะไร
อาการแสบท้องขณะตั้งครรภ์ บางครั้ง แสบท้องมาก นอนไม่ได้ ก็พอจะคาดการณ์ได้ค่ะว่าคุณแม่มีอาการ “กรดไหลย้อน” ซึ่งสาเหตุที่เกิดภาวะนี้ในแม่ท้องก็คือ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่อยู่ติดกับกระเพาะคลายตัวบ่อยกว่าปกติ จนน้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร
- มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้น รองรับทารกในครรภ์ที่เติบโตมากขึ้น จนและเบียดกระเพาะอาหารให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อกินอาหารมาก ๆ หรือเอนตัวลงนอนหลังมื้ออาหารทันที หรือทิ้งช่วงเวลาไม่นาน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดก็จะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณหน้าอก หรือรู้สึกว่า แสบท้องมากจนนอนไม่ได้
สังเกตอาการ กรดไหลย้อนในแม่ตั้งครรภ์
อาการกรดไหลย้อนในแม่ท้องนั้นใกล้เคียงกับอาการกรดไหลย้อนปกติทั่วไป จะมีความแตกต่างบ้างตรงที่เป็นมากหรือน้อย และมีความถี่ในการเกิดอาการว่าบ่อยแค่ไหนค่ะ ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่พบคือ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แน่นท้อง
- จุกเสียด หรือเจ็บหน้าอกหลังกินอาหาร
- แสบร้อนบริเวณกลางอก
- เรอเหม็นเปรี้ยว
- มีรสเปรี้ยวหรือขมภายในปาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
แม่ท้องกี่เดือนเสี่ยงเกิดอาการ แสบท้องมากจนนอนไม่ได้
จริง ๆ แล้วอาการกรดไหลย้อน สามารถเกิดได้กับคุณแม่ในทุกช่วงระยะของการตั้งครรภ์ค่ะ คือ มักพบว่าเกิดกับการตั้งครรภ์ช่วง 6-12 สัปดาห์ รวมทั้งระหว่างตั้งครรภ์ 3-6 เดือนและช่วงใกล้คลอด อาจพูดได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ก็ยิ่งเสี่ยงที่อาการเหล่านี้จะไม่หายขาดค่ะ
แก้ไขอย่างไรให้อาการ แสบท้องมาก นอนไม่ได้ หายไปจากแม่ท้อง
การป้องกันหรือลดโอกาสเกิดกรดไหลย้อนในแม่ท้องให้น้อยที่สุดนั้น สามารถทำได้โดยแบ่งการดูแลตัวเองออกเป็นช่วง ๆ ค่ะเริ่มจากช่วง 1-3 เดือนแรก และเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการโปรตีนในการบำรุงร่างกาย ทั้งเพื่อตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ ฉะนั้น ควรเลือกโปรตีนที่ย่อยง่ายและไขมันต่ำ อย่างเนื้อไก่และเนื้อปลา ไม่ควรทานอาหารมื้อละมาก ๆ แต่ให้เปลี่ยนเป็นมื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยแทนจะดีกว่า
ปรับพฤติกรรมการกิน ปราบอาการกรดไหลย้อน
- ไม่ควรกินอาหารก่อนนอน เพราะจะยิ่งเพิ่มโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากน้ำย่อยในกระเพาะยังทำงานอยู่ และฤทธิ์ที่เป็นกรดจะเข้าไปกัดเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร ทำให้แสบร้อนและปวดแน่นที่หน้าอก ดังนั้น ควรกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้านอนไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารบางประเภท เช่น ของหมักดอง ของทอด รวมทั้งคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากเป็นอาหารที่กระตุ้นให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย และยังส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัว เพิ่มความเสี่ยงของอาการเสียดท้องได้ง่าย
- พยายามแบ่งการกินเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ แทนการกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ จะช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้ดีกว่า
- กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพราะหากอาหารที่กินเข้าไปยังมีชิ้นใหญ่อยู่ จะทำให้ใช้เวลาในการย่อยนานขึ้น และทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดท้อง
- ไม่กินข้าวคำน้ำคำ เพราะจะยิ่งทำให้มีของเหลวในกระเพาะอาหารมากขึ้น เสี่ยงต่อการที่กรดในกระเพาะอาหารและอาหารจะไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
- ให้หมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลเป็นตัวช่วย โดยการเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดนี้หลังอาหารจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลายให้มากขึ้นซึ่งอาจเพิ่มความเป็นกลางของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารได้
- ไม่นอนทันทีหลังจากที่กินอาหารเสร็จ เพราะกรดในกระเพาะอาหารยังทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอยู่ การกินแล้วนอนเสี่ยงที่จะทำให้น้ำกรดที่กำลังย่อยอาหารไหลย้อนกลับมากัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร จนเกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ง่ายขึ้น
- กรณีที่ต้องการเอนหลัง หลังมื้ออาหาร แนะนำให้จัดหมอนสูงกว่าปลายเท้า หรือวางหมอนเสริมที่ใต้บ่าเพิ่มด้วยได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ความเครียดก็มีส่วนที่ทำให้คุณแม่มีอาการแสบท้องมาก นอนไม่ได้ เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้นะคะ เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งออกมามากขึ้นนั่นเองค่ะ ดังนั้น คุณแม่ต้องพยายามผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ อย่าให้ตัวเองเกิดความเครียดระหว่างตั้งครรภ์นะคะ
แม่ตั้งครรภ์ เป็นกรดไหลย้อน นอนไม่ได้ กินยาเองได้มั้ย
กรดไหลย้อนในแม่ตั้งครรภ์นับว่าเป็นอาการทางสุขภาพโดยทั่วไปที่ไม่อันตรายรุนแรงต่อการตั้งครรภ์ และไม่กระทบต่อร่างกายและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ด้วย เพียงทำให้คุณแม่ไม่สบายตัวและรู้สึกรำคาญเท่านั้น แต่หากอาการแสบท้องมาก นอนไม่ได้ ส่งผลต่อการพักผ่อนอย่างเพียงพอของคุณแม่ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบแก้ไขให้เป็นปกติโดยเร็วค่ะ
ซึ่งคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า จะสามารถจัดการปัญหานี้เบื้องต้นด้วยการกินยาเองได้หรือไม่ คำตอบคือ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกินยาลดกรดได้ค่ะ แต่… ควรเป็นยาลดกรดที่แพทย์วินิจฉัยว่าสามารถกินได้ และปลอดภัยสำหรับแม่ท้องเท่านั้นนะคะ
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ยาสำหรับแก้ปัญหานี้จะเป็นยาน้ำป้องกันกรดไหลย้อน ที่จะตรงเข้าไปช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อน เป็นยาที่ไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงปลอดภัยกับคุณแม่และไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
แสบท้องรุนแรงแค่ไหน ต้องไปพบแพทย์
โดยทั่วไปภาวะกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่มักไม่ได้รุนแรงจนถึงกับต้องไปพบแพทย์นะคะ เนื่องจากส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรมการกิน รวมทั้งกินยา แต่ก็มีบางกรณีที่คุณแม่อาจจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ เช่น
- แม้จะกินยา และปรับพฤติกรรมการกิน การนอน (หลังกิน) แล้ว อาการยังคงไม่ดีขึ้น
- อาการกรดไหลย้อนรุนแรงจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการนอน แสบท้องมาก นอนไม่ได้ นอนไม่หลับ นอนไม่พอ
- มีอาการบ่อยจนไม่สามารถกลืนอาหารได้ หรือมีน้ำหนักลดลงเพราะกินอาหารได้น้อย
- มีแนวโน้มว่าอาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ และเริ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายรุนแรง เช่น หลอดอาหารถูกทำลาย
นอกจากนี้ อาการแสบท้อง หรืออาการแสบร้อนกลางอก ที่คุณแม่ประสบอาจเป็นสัญญาณของอาการทางสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย อาทิ โรคกระเพาะอาหาร ซึ่งจะมีอาการแสบร้อนที่ท้องส่วนบนหรือช่วงกลางอกหลังจากมื้ออาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหาร มีอาการแสบร้อนกลางอก ปวดท้อง หรือแสบที่กระเพาะอาหาร หรือมีอาการแสบที่บริเวณลิ้นปี่
ดังนั้น หากมีอาการแสบท้องบ่อย ๆ ไม่หายสักที คุณแม่ควรไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหารหรือเปล่า จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง ถูกโรค และตรงจุดต่อไปค่ะ
ที่มา : www.paolohospital.com , www.enfababy.com , www.pobpad.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินมะม่วงได้ไหม ส่งผลอะไรต่อลูกหรือเปล่า
อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ เป็นยังไง จะรู้ได้ไงว่าท้อง
อาการคนใกล้คลอด เป็นอย่างไร อาการใกล้คลอดแบบไหน ควรไปหาหมอ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!