ลูกพัฒนาการช้า ทำอย่างไรดี?
ลูกพัฒนาการช้า
สถิติกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 มีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้าไม่สมวัย ร้อยละ 10 พบว่าอยู่ในภาวะเป็นโรค อีกร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่สามารถกระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการที่สมวัยได้ แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องอาจส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในวัยเรียนได้
ผศ. แดนเนาวรัตน์ จามรจันทร์
ผ.ศ. แดนเนาวรัตน์ จามรจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายว่า พัฒนาการเด็กเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา โดยจะมีกระบวนการแบ่งเซลล์ จากเซลล์จึงพัฒนาเป็นตัวอ่อน มีโครงสร้าง มีการเคลื่อนไหว โดยเราสามารถแบ่งพัฒนาการออกเป็น 4 ด้าน คือ พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการทางด้านการปรับตัว พัฒนาการทางด้านภาษา และพัฒนาการทางด้านสังคม
อาจารย์กล่าวเพิ่มเติมว่าในกรณีที่เด็กคลอดออกมาแล้วเราจะดูว่าเด็กสามารถทำอะไรได้ตามพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละวัย แต่ถ้าเด็กไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามวัย เช่น อายุ 2-3 เดือนแล้วคอยังไม่แข็ง ก็อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าเด็กอาจจะมีข้อบกพร่องด้านพัฒนาการการเคลื่อนไหว หรือเด็กอายุ 4-5 เดือนยังไม่สามารถพลิกคว่ำได้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้โครงสร้างของเด็กจะเติบโตควบคู่กับพัฒนาการเสมอ ถ้าเราไม่ฝึกพัฒนาการของเด็กให้ตรงกับวัยก็จะมีปัญหาต่อโครงสร้างของเด็ก เช่น ในกรณีเด็กนอนหงายอย่างเดียวและมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เราเรียกว่าภาวะปวกเปียก เด็กจะมีลักษณะของขาที่แบะออก ส่งผลกับโครงสร้างของข้อสะโพก ตัวกระดูกที่เป็นเบ้ากระดูกที่มีส่วนหัวกระดูก อาจทำให้มีการเคลื่อนของข้อกระดูกตรงนั้นได้ นอกจากนั้นกล้ามเนื้อจะหดตัวได้ต้องอาศัยอะไรหลาย ๆ อย่างรวมทั้งแรงกระตุ้นจากภายนอกเพื่อให้เด็กเคลื่อนไหว ถ้าเด็กมีพัฒนาช้าก็จะไม่สามารถทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยได้ เช่น ถ้าเด็กไม่สามารถยืนได้ ก็จะไม่สามารถเอื้อมไปหยิบของหรือหนังสือมาเพื่อเสริมพัฒนาการอย่างอื่นหรือเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพัฒนาไปสู่พัฒนาการทางด้านอื่น สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กคนอื่นก็จะมีข้อได้เปรียบตรงที่เขามีโอกาสที่จะเรียนรู้โลกภายนอกได้มากกว่า
อาจารย์ฝากไว้ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้พื้นฐานเรื่องพัฒนาการในแต่ละวัยโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกตั้งแต่หลังคลอด สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดควรสังเกตพัฒนาการของลูกในแต่ละเดือนเป็นพิเศษ หากพัฒนาการของลูกช้าไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ ควรเก็บข้อสงสัยและพามาพบผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับคำแนะนำ เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกมาตรวจพัฒนาการหรือกระตุ้นพัฒนาการได้ที่ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ (02) 218 1100
เด็กพัฒนาการล่าช้า คือ เด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าลำดับขั้นพัฒนาการปกติตามช่วงอายุของเด็ก โดยที่เด็กอาจจะมีพัฒนาการล่าช้าด้านใดด้านหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งด้านก็ได้ในด้านหลักของพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ
1.พัฒนาการด้านนิสัยส่วนบุคคลและการเข้าสังคม
2.พัฒนาการด้านการพูดการสื่อสาร
3.พัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การปรับตัว
4.พัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่
ซึ่งพัฒนาการในแต่ละด้านจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับการเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้นเมื่อพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งบกพร่องหรือล่าช้า ก็จะส่งผลถึงพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย
เด็กพัฒนาการช้างสังเกตจากอะไร
อาการผิดปกติของอวัยวะที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจ เนื่องจากอาการนี้จะส่งผลถึงพัฒนาการและกระทบไปถึงส่วนอื่นๆ ได้ สำหรับจุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนจาก 8 สิ่งผิดปกติของลูกรักที่บ่งบอกว่าลูกเป็นเด็กพัฒนาการช้าดังนี้
1. เด็กพัฒนาการช้าศรีษะผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นด้วยตาว่า ลูกมีศรีษะเล็กหรือใหญ่เกินไป บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของสมอง อาจจะเกิดจากการที่สมองเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น ขาดอากาศขณะคลอด หรืออาจจะเป็นโรคทางพันธุกรรมเส้นรอบศรีษะโดยปกติของเด็กตั้งแต่
– แรกเกิดจนถึง 3 เดือนแรกจะมีความยาว 35 เซนติเมตร
– 4 เดือน : 40 เซนติเมตร
– 1 ปี : 45 เซนติเมตร
– 2 ปี : 47 เซนติเมตร
– 5 ปี : 50 เซนติเมตร
2.เด็กพัฒนาการช้าหูผิดปกติ ใบหูผิดรูป อยู่ต่ำหรือสูงเกินไปจนสังเกตได้ติ่งหูยาวผิดปกติ มีรูด้านหน้าหูหรือหูไม่มีรู อายุ 6 เดือนแล้วไม่สามารถหันตามทิศทางของเสียง และไม่ตอบสนองกับเสียงที่ได้ยินรอบข้าง เช่น ไม่สะดุ้งตกใจเมื่อมีเสียงดังการให้ลูกฟังเสียงที่มีโทนเสียงแตกต่างกัน เสียงที่มีความซับซ้อน รวมถึงการพูดคุยโต้ตอบเสียงที่ถูกเปล่งออกมาจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังของลูกได้
3.เด็กพัฒนาการช้าตาผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ลองมองตาลูกสิคะ หากลูกเป็นเด็กพัฒนาการล่าช้าตาลูกจะห่างจนผิดปกติ ตาเหล่าเข้า-ตาเหล่ออกเห็นว่าแสงสะท้อนจากรูม่านตาเป็นสีขาว แสดงว่ามีความผิดปกติอยู่ด้านหลังรูม่านตา อาจจะเป็นต้อ มีเนื้องอก จอประสาทตาลอก พัฒนาการที่ผิดปกติคือ มองตามวัตถุแล้วตาแกว่งไม่หยุดนิ่ง ไม่จับจ้องวัตถุ ไม่สบตา กระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นโดย >>> การให้เล่นของเล่นสีสันสดใสที่เคลื่อนไหวได้ เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนของ ช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกเคลื่อนไหวดวงตาเพื่อมองตามวัตถุ
4.เด็กพัฒนาการช้าจมูกผิดปกติ เด็กจะมีดั้งจมูกบี้หรือเชิดมาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องดูหน้าตาโดยรวมด้วย เช่น หางตาชี้ กระหม่อมแบน ลิ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นอาการของเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กจะไม่ตอบสนองหรือไม่มีปฏิกิริยากับกลิ่นต่างๆ เลย เช่น ไม่นิ่วหน้าหรือจามเมื่อมีกลิ่นเหม็นฉุน โดยปกติแล้วทารกเริ่มได้กลิ่นตั้งแต่อายุ 3 วันแล้ว ยิ่งเป็นกลิ่นคุณแม่เขาจะพยายามหันไปหาด้วยความคุ้นเคย
5.เด็กพัฒนาการช้าปากผิดปกติ ปากบางเป็นปากปลา (ไม่เห็นริมฝีปากเลย) หรือปากแหว่งเพดานโหว่ เด็กจะมีอาการพูดไม่ชัด ติดอ่าง เสียงผิดปกติ ไม่เล่นเสียงและส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่โต้ตอบตำพูดตามวัย มีพัฒนาการทางภาษาช้า เช่น สองขวบแล้วยังพูดคำที่ไม่มีความหมาย ไม่ทำตามคำสั่งและไม่พยายามพูดกับคนอื่น กระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นโดย >>> คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงสามารถกระตุ้นพัฒนาการการพูดได้จากการตอบสนองเสียงอ้อแอ้ ชวนลูกคุยโต้ตอบให้เหมือนคุยกันรู้เรื่อง ชวนลูกออกเสียงคำง่ายๆ ให้เด็กได้เลียนเสียง ชวนเล่นเกมเป่าฟองสบู่ เป่าลูกโป่งหรือเป่าน้ำในแก้ว ซึ่งจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อเพดานช่องคอและการใช้ลมออกเสียง
6.เด็กพัฒนาการช้าลิ้นผิดปกติ สังเกตพบว่าลิ้นใหญ่ ลิ้นยืดออกมาขณะพูด การสบของฟันปกติ เด็กจะน้ำลายไหลย้อย เด็กมักอ้าปากกว้างไม่หุบ ไม่กลืนอาหาร ไม่เคี้ยวข้าวหรือเคี้ยวนาน ไอหรือสำลักอาหารบ่อยๆ กระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นโดย >>> คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นด้วยการนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก เพื่อให้เกิดการดูดโดยวางหัวนิ้วแม่มือลงบนคางใต้ริมฝีปากล่างแล้วลากออกเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปากล่างทั้งสองประมาณ 5 -10 ครั้ง
7.เด็กพัฒนาการช้าแขนขาและบริเวณลำตัวผิดปกติ เด็กจะมีแขนขายาวไม่เท่ากันทั้งสองข้าง นิ้วยึดติด นิ้วเกิน 5 นิ้ว นิ้วกุด กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งเกินไป คือเด็กเคลื่อนไหวลำบากและเคลื่อนไหวผิดปกติ ข้อยึดติด ข้อสะโพกหลุด แบะออกมามากเกินไปหรือหนีบติดกันไม่ยอมแบะ ท้องผูกเรื้อรัง เป็นสัญญาณของการเคลื่อนไหวลำไส้มีปัญหา หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องการย่อยและการดูดซึม กล้ามเนื้อแขนขานุ่มนิ่ม อ่อนปวกเปียก คือไม่มีแรงในการเคลื่อนไหว ยกแขนยกขาลำบาก ไม่สามารถควบคุมลำตัวเพื่อทรงตัวให้มีความสมดุลขณะถูกอุ้ม เช่น 3 เดือนคอยังไม่แข็ง 9 เดือนยังไม่คว่ำหรือยังไม่คลาน 1 ขวบแล้วยังหยิบของเล่นไม่ได้ กำมือไม่ได้ ข้อเท้าติดบิดหมุนไม่ได้รอบ กระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นโดย >>> การกระตุ้นพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อคุณแม่ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอหรือนักกายภาพบำบัด เพื่อจะได้กระตุ้นกล้ามเนื้อได้ถูกต้อง
8.เด็กพัฒนาการช้าผิวหนังผิดปกติ สีผิวของเด็กผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง หรือมีปานเป็นริ้ว เป็นแนวสีขาวหรือสีดำเป็นแถบใหญ่ มีปานตามผิวหนังมากกว่า 6 จุด หลังมีปานลายเป็นต้นคริสต์มาส บวกกับกล้ามเนื้อนิ่ม เป็นสัญญาณบอกอีกกลุ่มหนึ่ง ผิวหนังแห้งอย่างมาก คันและต้องเกาอยู่ตลอดเวลา
อาการทั้งหมดที่กล่าวเป็นอาการที่พบเป็นส่วนใหญ่ แต่เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติอาจมีอาการที่แตกต่างออกไป มากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น หากคุณแม่สังเกตเบื้องต้นแล้วสงสัยว่า ลูกของคุณเข้าข่ายเด็กพัฒนาการล่าช้า อย่าเก็บความสงสัยนั้นไว้คนเดียวค่ะ แนะนำให้รีบปรึกษากุมารแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจเช็คประเมินพัฒนาการ และวางแผนรักษาแก้ไขได้ทันเวลา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรงเรียนศิริวัฒน์วิทยา สายไหม จากรุ่นแม่สู่รุ่นลูกของคุณแม่ตั๊กและน้องแต๋ม (School Hit)
อาหารเด็ก 1 ขวบ เมนูซุป อาหารอร่อยๆ เพิ่มพัฒนาการของลูก รสชาติอร่อยๆ
วิธีเล่นแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูก
https://health.kapook.com/view85465.html
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!