เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีความมุ่งมั่น
เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีความมุ่งมั่น
ในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่างล้วนทำได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ไม่ว่าจะการติดต่อสื่อสาร การซื้อของ การทำธุรกรรมต่าง ไม่เว้นแม้แต่การทำการบ้านของเด็ก ๆ ที่อยากรู้อะไรก็แค่เพียงเปิดอินเตอร์เน็ต ถามอากู๋ หรือ กูเกิ้ล เท่านี้คำตอบก็มารออยู่ตรงหน้าพร้อมส่งอาจารย์ได้ทันที ไม่ต้องไปค้นตำราในห้องสมุดให้เหนื่อยเหมือนเด็กยุคก่อน
เมื่อทุกอย่างง่ายดายเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเมื่อพวกหนู ๆ จะโตขึ้นมีความมุ่งมั่น มานะ พยายามได้อย่างไร ไม่ต้องกังวลค่ะ ดิฉันมีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะช่วยให้พ่อแม่ยุคใหม่เลี้ยงลูกน้อยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และอุปสรรคที่จะต้องพบเจอต่อไปในอนาคต
ในทางจิตวิทยาเรียกความมุ่งมั่นที่ว่านี้ว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ซึ่งหมายถึง แรงจูงใจที่เป็นแรงขับให้คนเราพยายามที่จะทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จตามมาตรฐานที่ดีที่สุดที่ตนตั้งไว้ โดยคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จะไม่ทำงานเพราะหวังรางวัล (หรือสิ่งจูงใจภายนอก) แต่ทำเพื่อที่จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (แรงจูงใจภายใน) และมีการวิจัยพบว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่แล้วมาจากการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวนั่นเอง
เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้มีความมุ่งมั่น (แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์)
ฝึกให้เด็กช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ในวัยเด็กเล็กให้ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น หัดแปรงฟันเอง แต่งตัวเอง กินข้าวเอง ใส่รองเท้าเอง อาบน้ำเอง เป็นต้น เมื่อโตขึ้นก็มอบหมายให้ช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้นตามวัย เมื่อเด็กได้รับการฝึกให้ดูแลตนเองและดูแลงานของส่วนกลางในบ้าน ก็จะทำให้เด็กเกิดความเคยชิน อยากที่จะทำอะไรให้สำเร็จด้วยตนเอง และสร้างความภูมิใจให้เด็กอีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อเด็กทำอะไรสำเร็จพ่อแม่ก็ควรที่จะโอบกอด หรือชมเชยลูก ทั้งคำพูดและแววตา ชมพร้อมให้เหตุผลและรายละเอียด อย่างชนิดที่ว่าออกมาจากใจให้ลูกได้รับรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมากแค่ไหน เช่น “หนูเก่งมากลูก ที่แปรงฟันเองได้สะอาดมาก ฟันหนูจะได้ไม่ผุ ฟันสวยก็ยิ้มสวย ใคร ๆ ก็รัก” เป็นต้น และอาจมอบของขวัญของรางวัลให้เป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกบ้างตามโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้มากจนเกินไป จนลูกติดนิสัยทำอะไรแล้วก็ต้องร้องขอสิ่งตอบแทนค่ะ
การเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น…เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่พ่อแม่ไทยให้ความสนใจ
เพราะเด็กญี่ปุ่นที่เราเห็นนั้น มักดูเก่งและมีความสามารถ ซึ่งการเลี้ยงดูหรือการใช้ชีวิตของเด็กญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะเก่งหรือโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พัฒนาชาติให้เจริญได้ขนาดนี้
ญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ได้อยู่เป็นรองของหลายๆ ประเทศใหญ่ๆ เลย แต่ก็มีหลายคนที่คิดว่าเด็กญี่ปุ่นต้องมีความสุขสบายเพราะอยู่ในประเทศที่มีสังคมและการจัดการสังคมที่ดีแน่นอน!!
แต่แท้จริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นไม่นิยมฝึกให้เด็กญี่ปุ่นมีนิสัยที่สบายเกินไป เพราะเด็กที่สบายเกินไปอาจเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักสบายจนอาจมีผลเสียต่อการพัฒนาชาติ
ซึ่งเทคนิคการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่นที่ทางแอดจะนำมาเสนอนี้ คุณชินอิจิโร่ อิคาริ คุณพ่อชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์อิจิมันเนนโด ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตหนังสือชุด Happy Advice ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจนทะลุยอดขาย 4 ล้านเล่ม ได้เผยถึงโจทย์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันให้ฟังว่า…
ระยะหลังมานี้ ชาวญี่ปุ่นไม่ได้เน้นให้ลูกเรียนอย่างเดียว แต่จะสร้างเสริมคุณลักษณะหลายๆ ด้านเข้าไปด้วย ซึ่งจะเน้นความเป็นมนุษย์ทั้งในตนเองและในผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติ รู้จักคุณค่าของตัวเอง มีความเกรงอกเกรงใจ ซึ่งความมุ่งหวังนี้เพื่อสร้างลูกให้อยู่ในสังคมอย่างไม่สร้างปัญหาหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
“การทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นเรื่องไม่ดี ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่สาธารณะจะเตือนลูกให้รู้ทันที”
คุณอิคาริเผยถึงแนวการสอนที่สะท้อนให้เห็นว่าการสอนลูกให้คิดถึงส่วนรวมเป็นเรื่องที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก ส่วนเรื่องระเบียบวินัยนั้น คุณพ่อชาวญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่า จะไม่เข้มงวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด แต่จะยึดหลักความสมดุลโดยเน้นที่ตัวลูกเป็นหลัก เช่น ให้ลูกช่วยกันตั้งกฎกติกาขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมว่าควรจะดู หรือเล่นกี่ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องระเบียบวินัยที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะเน้นสอนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพแล้ว คุณอิคาริยังบอกต่อว่า การเลี้ยงลูกให้มีความสุขคือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
เลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์พ่อชาวญี่ปุ่น
สำหรับหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์คุณอิคารินั้น มีหลักง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่คนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลูกได้ ซึ่งมีเทคนิคดังต่อไปนี้
1.การแสดงความรักของพ่อแม่ควรแสดงอย่างเปิดเผย เช่น การกอด หรือพยายามสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อกับแม่รักลูก ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่ และลูกจะมีความสุขไปพร้อมๆ กัน
2.เวลาที่ลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง ไม่ควรดุในทันที แต่ควรเปิดใจและรับฟังลูกก่อน นั่นจะทำให้ลูกเริ่มเข้าหาและใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวตามมา
3.รู้จักขอโทษเมื่อทำไม่ดีกับลูก เช่น โมโหเกินไป หรือโกรธที่ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งจริงอยู่ที่บางครั้งมันห้ามไม่ได้ แต่ควรเรียกอารมณ์กลับมาให้เร็วที่สุด และพยายามขอโทษลูกกับอารมณ์ชั่ววูบที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจทำ
4.ถ้าเห็นลูกพยายามมุ่งมั่นหรือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ควรชื่นชมในทันทีและควรชมบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มีความภูมิใจ และความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ต่อไป
5.ไม่ควรบังคับหรือคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เพราะชีวิตเป็นของลูก และเป็นคนละส่วนของพ่อแม่ ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าลูกเป็นเสมือนสิ่งของของตัวเอง
ทั้งนี้ในการเลี้ยงลูกให้มีความสุขนั้น คุณอิคาริฝากเพิ่มเติมว่า คุณพ่อควรสนับสนุนคุณแม่ในการเลี้ยงลูกด้วย เช่น แบ่งเบาภาระให้กับคุณแม่ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การอุ้มลูกไปเล่น รวมถึงช่วยงานบ้านเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญต้องไม่ทำตัวให้เป็นภาระของคุณแม่ แล้วการเลี้ยงลูกจะสนุกและมีความสุขมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ยังถือว่าอยู่บนท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจร่วมไปจะเป็นเหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่และขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยทั้งการเข้าแถวรับความช่วยเหลือโดยไม่มีการแก่งแย่ง การอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่เกะกะขวางทางผู้อื่น ทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้รางวัลลูกอย่างไรถึงเหมาะสม
เลี้ยงลูกไม่เครียด แม่มือใหม่ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่ปวดหัว เป็นซึมเศร้า
เลี้ยงลูกแบบธรรมชาติ เคล็ดไม่ลับฝึกลูกให้มีความพยายาม พร้อมประสบความสำเร็จในอนาคต
https://www.blockdit.com/posts/5ee761b14683454748f866e1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!