นวราตรี เป็นงานประจำปี ที่ทางวัดพระศรีมหาอุมาเทวีจัดขึ้นเนื่องใน “วันวิชัยทัสมิ” โดยช่วงเวลาจะถูกกำหนดแตกต่างกันออกไปตามปฏิทินฮินดู เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน เป็นเทศกาลที่สำคัญมากสำหรับชาวฮินดูทั่วโลก ที่ต่างก็ออกมาเฉลิมฉลองร่วมกัน รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
เทศกาล นวราตรี คือเทศกาลอะไร?
นวราตรี หรือ ดูเซร่า เป็นเทศกาลที่ถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงการสักการบูชาแด่พระแม่ทุรคา พระแม่อุมาเทวี ด้วยการแห่เฉลิมฉลองเป็นประจำในทุก ๆ ปี โดยคำว่า “นวราตรี” มีความหมายว่า “เก้าคืน” เป็นคำในภาษาสันสกฤต เป็นพิธีการเก่าแก่สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยพระเวท เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู ที่ร่วมกัน บูชา พระแม่อุมาเทวี (พระแม่ทุรคา) ในปางต่าง ๆ ทั้ง 9 ปางอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลา 9 วัน
พระแม่อุมาเทวี ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ เป็นชายาแห่ง พระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง พระแม่อุมาจึงนับว่าเป็น 1 ใน 3 แห่ง พระตรีศักติ หมายถึงพระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี ด้วย
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นเทวสถานในลัทธิศักติ นับถือเทวีเป็นหลัก เมื่อยามที่พระองค์เสวยร่างเป็น พระแม่อุมา เจ้าแห่งความเมตตากรุณา ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ขอพรเรื่องความรักและขอบุตร
ทุก ๆ ปี ในช่วงวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 รวม 9 วัน 9 คืน จะเป็นช่วงเทศกาล นวราตรี หรือ ดูเซร่า ชาวฮินดูเชื่อว่า ช่วงเวลานี้พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์
ผู้ศรัทธาจะละเว้นการทานเนื้อสัตว์ 9 วัน 9 คืน เพื่อบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี (ในภาคพระแม่มหาทุรคา) ที่ทรงต่อสู้กับ อสูรควาย (มหิงสาสูร) เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน จนเอาชนะได้ในวันที่ 10 จึงมีพิธีแห่ฉลองยิ่งใหญ่ และรอรับความเป็นสิริมงคลจากองค์เทพ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา
บทความที่เกี่ยวข้อง : 50 ชื่อลูกจากเทพเจ้าฮินดู ตั้งชื่อลูกเพราะ ๆ เป็นมงคล เสริมดวง
ปางต่าง ๆ ของเทวีทุรคา
งานนี้จัดถึง 9 คืน การจะจัดงานโดยไม่มีความแตกต่างเลยก็ดูกระไรอยู่ ฉะนั้นแต่ละคืนชาวฮินดูก็จะบูชาเทวีทุรคาทั้งเก้าปาง หรือ นวทุรคา ดังต่อไปนี้
- ปางไศลบุตรี (shailputri) ปางพระปารวตี ผู้เป็นธิดาของพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย
- ปางพรหมจาริณี (bramcharini) ปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัย จึงวิวาห์ด้วย
- ปางจันทราฆัณฐ์ (chandraghanta) ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก
- ปางกูษมัณฑา (kushmanda) ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างสรรค์จักรวาล
- ปางสกันธ์มาตา (skandmata) ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตัก แสดงถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร
- ปางกาตยะยานี (kaatyayani) ปาง 4 กร แห่งการทำลายมารร้ายในจิตใจ ประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก
- ปางกาลราตรี (kaalratri) ปางที่มีผิวดำ หมายถึงการทำลายซึ่งอวิชชา ความโง่เขลาผู้อยู่เหนือกาลเวลา
- ปางมหาเคารี (mahagauri) ปางประทานพรให้สาวกประสบแต่ความสุขสวัสดิ์มงคล
- ปางสิทธิธาตรี (siddhidatri) ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ ฤาษี สิทธา เทวดา คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ สาวกที่เข้าเฝ้า
ขบวนแห่นวราตรี วัดแขกสีลม
ในปีนี้ วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เป็น วันวิชัยทัสมิ จะมีขบวนแห่ เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลา 19:30 น. มีทั้งหมด 8 ขบวน
- ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
- ขบวนคนทรงองค์พระขันทกุมาร
- ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี
- ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร
- ขบวนราชรถองค์พระขันทกุมาร
- ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ
- ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน
- ขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี
ซึ่งก่อนเคลื่อนขบวนราชรถคันใหญ่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี จะมีพิธีทุบมะพร้าว โดยสานุศิษย์จะปามะพร้าวลงบนพื้น ผลไม้แห่งพระเจ้า ที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ สะอาด
ชาวฮินดู เชื่อสืบต่อกันมาว่า การทุบมะพร้าวเบื้องหน้าพระพักตร์ของเทวรูปที่นับถือ เป็นการแสดงถึงการทำลายหรือละทิ้งอัตตาของตนเอง แด่พระผู้เป็นเจ้า
ผู้มาร่วมงานจะแต่งกายชุดสีขาว หรือชุดส่าหรีแบบอินเดีย พร้อมดอกไม้สีเหลือง สีแดง และมีการตั้งโต๊ะบูชาองค์เทพต่าง ๆ ในเส้นทางที่ขบวนผ่าน เพื่อรอรับพรจากพระแม่อุมาเทวี
บทความที่เกี่ยวข้อง : “เทวีไวรัสโคโรนา” นักบวชฮินดูในอินเดียสร้างไว้สักการะให้สถานการณ์โควิดยุติลง
บทสวดขอพรพระแม่อุมา
“โอม…โรคานนะเศษานะปะหัมสิ ดุษฏา รุษฏา ตุ กามาน สะกะลานะภีษะฏาน ตะวามาศรีตานาม นะ วิปันนะรานาม ตะวามาศรีตา หยา ศระยะตาม ปะระยานติ”
ของไหว้ที่ใช้ในการบูชา
- กำยานหรือธูปหอม 9 ดอกหากเป็นกลิ่นกุหลาบได้ยิ่งดี
- ดอกไม้ที่มีสีแดง 9 ดอก เช่น ดอกกุหลาบแดง ดอกชบาแดง เยอบีร่าแดงเพราะสีแดงเป็นสีประจำตัวของแม่ทุรคา
- ผลไม้ 9 ผลอาทิเช่น กล้วย ชมพู่ แอปเปิล สาลี่ เป็นต้น
- น้ำนม 1 ถ้วย น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- เทียนแดง 1 คู่
จากนั้นก็ท่องคาถาเอ่ยพระนามของพระแม่ว่า เจ อัมบรี มา ทั้งหมด 108 จบ เมื่อกล่าวเสร็จก็สามารถขอพรรับพลังได้ตามอัธยาศัย พิธีนี้สามารถทำได้ตลอดทั้งคืน ไปจนถึงรุ่งเช้า พระเทวีทุรคาจะรักษาให้ปลอดภัยมีชัยชนะ
วิธีบูชาพระเทวี ในเทศกาลนวราตรี
- ทำความสะอาดทั้งห้องพักในทุกส่วนของบ้านให้เหมาะสมต่อการอัญเชิญพระแม่ ถ้ามีห้องพระแยก ใช้ห้องพระเป็นมณฑลพิธีบูชาได้เลย จากนั้นตั้งวางรูปภาพ รูปเคารพพระแม่
- หาโต๊ะ1ตัว เท่าโต๊ะญี่ปุ่นเล็ก ๆ หรือจะเป็นพื้นที่ว่างบนหัวที่นอน หรือบริเวณหิ้งพระที่มีอยู่แล้ว จัดหาผ้าสีแดง หรือสีเหลืองวางปูรองเป็นแท่นที่ประทับ
- อัญเชิญรูปเคารพ เทวรูป รูปภาพของพระแม่ที่ท่านบูชาอยู่วางประทับ ในที่ที่เตรียมไว้
- วันที่ 29 ตุลาคม 2562 (วันแรกของนวราตรี) เป็นวันเริ่มการบูชาของท่าน ตลอดเก้าวันนี้ จะต้องทำการบูชาพระแม่ เตรียมดอกไม้ เครื่องหอม ผลไม้ตามสมควร ถวายการบูชาทุก ๆ 3 วันให้ทำการบูชา 1 ครั้ง หรือบูชาทุกวันก็ยิ่งดี แต่ไม่ควรเกินกว่ากำลังเรา
- ทุก ๆ วันหลังเลิกงานกลับมาจากบ้านก็จุดประทีปถวายสักหนึ่งดวง (ย้ำว่าต้องอยู่บ้าน) แนะนำให้เป็นเทียนถ้วยเล็ก ๆ ถวายแด่พระแม่ตลอดเก้าวัน และไม่ต้องจุดทั้งวันทั้งคืน
- สวดภาวนา ให้เริ่มจากบทบูชาพระคเณศก่อนเสมอ แล้วตามด้วยพระแม่ที่เราตั้งเป็นประธานในการบูชา ถ้าเป็นพระแม่ลักษมีก็ถวายมนต์พระแม่ลักษมีก่อน จากนั้นก็หลับตานึกถึงพระแม่องค์อื่น ๆ แล้วภาวนาบูชาพระองค์ในจิต หรือจะเปิดเพลงมนต์บนยูทูบก็มีเยอะมากเลือกสรรกันเอาเอง แล้วอธิษฐานขอพรกันตามสมควร สุดท้ายให้จบด้วยการแผ่เมตตาแด่สรรพสัตว์ทั้งปวงด้วยคำกล่าว “โอม ศานติ ศานติ” ก็เป็นอันจบพิธี
เทศกาลนวราตรีในอินเดีย
ทั้งนี้ ในอินเดียมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรีทั่วทั้งอินเดีย แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค นอกจากการบูชาเทวีแล้ว ชาวฮินดูยังฉลองด้วยการเต้น ดันดิยาราส (Dandiya-raas) หรือรำกระทบไม้ โดยถือไม้สั้น ๆ คนละคู่ ตีกระทบกันเป็นวง วนไปวนมา แม้ดูแล้วไม่มีท่าเต้นอะไร แต่คนเล่นเขาก็สนุกสนานกันมาก ซึ่งการเต้นนี้ก็อาจแตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละที่ อีกด้วย ผู้ที่มาร่วมในพิธี “นวราตรี” ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ล้วนมีจิตศรัทธาเดียวกันเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง
เทศกาลนวราตรี เป็นช่วงเวลาของการรักษาศีล ทำกายใจให้บริสุทธิ์ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ สวดมนต์และปฏิบัติธรรม โดยช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับเทศกาลถือศีลกินเจของชาวจีนจึงมีคนไทยเชื้อสายจีนมาร่วมงานด้วย ซึ่งการปฏิบัติบูชานี้ ชาวฮินดูเชื่อว่าการบูชาพระแม่ทุรคา ปางหนึ่งของพระแม่อุมา อย่างสม่ำเสมอ พระองค์จะประทานพรด้านความกล้าหาญ ชนะศัตรูรอบทิศ รวมถึงดลให้มีบริวารมาก มีความยุติธรรม ตลอดจนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นับเป็นประเพณีอันเก่าแก่แห่งการนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่
ถือเป็นวันบูชาพระอุมาเทวีในปางทุรคาผู้ได้รับชัยชนะจากการปราบมหิงษาสูร เชื่อว่าใครบูชาพระองค์ในวันนี้จะได้ชัยชนะตลอดปี แต่เดิมจึงเป็นที่นิยมบูชากันมากในหมู่นักรบและกษัตริย์ ก่อนอัญเชิญพระองค์ไปลอยทะเลส่งเสด็จสู่สวรรค์ในวันสุดท้ายของเทศกาล “นวราตรี”
บทความที่เกี่ยวข้อง : ชื่อลูกจากภาษาฮินดูหรือฮินดี 100 ชื่อ ไม่เหมือนใคร ความหมายดี แสนไพเราะ
กำหนดการเทศกาลนวราตรี วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
กำหนดการงานพิธีนวราตรี และงานแห่ประเพณี วัดแขก สีลม ประจำปี 2565 ถูกกำหนดให้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 7 ตุลาคม 2565 ซึ่งกำหนดการมีดังนี้
- 25 ก.ย. – พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร (บรมครู) พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน, เทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า, พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มหาเทวี และมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด เพื่อเริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2565 พิธีบูชาเข้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน, พิธีบูชาเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า, พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มหาเทวี และมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานในวัดฯ เพื่อเริ่มงานนวราตรีประจำปี
พิธีบูชาเย็น เริ่มเวลา 16.00 น. เสร็จพิธีอัญเชิญพิฆเนศวร, องค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีออกแห่ ในเส้นทางถนนปั้น
- 26 ก.ย. – เริ่มงานพิธีนวราตรี โดยบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา และอัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา
พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีบูชาเย็นเริ่มเวลา 16.00 น. อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา เวลาประมาณ 18.30 น. (บูชาองค์พระแม่ศรีมหาทุรคาเทวี)
- 27-28 ก.ย. – พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป
- 29 ก.ย. – 1 ต.ค. – พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี (เทพแห่งโชคลาภ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์และเงินทอง)
พิธีบูชาเช้าเริ่มเวลา 09.00 น. พิธีชาโฮมัมเริ่มเวลา 17.00 น. พิธีบูชาใหญ่เริ่มเวลา 19.30 น. เป็นต้นไป
- 2 ต.ค. – พิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ
- 3 ต.ค. – พิธีบูชาพระแม่ปางบูชาองค์พระศิวะ
- 4 ต.ค. – พิธีบูชาองค์พระแม่มหาสรัสวดี
- 5 ต.ค. – งานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) เวลาประมาณ 19.30 น. เป็นต้นไป
- 7 ต.ค. – พิธีเชิญธงสิงห์ลง และอาบน้ำคณะพราหมณ์-คณะคนทรง พิธีบูชาเย็นเริ่มเวลา 17.00 น. หลังจากเสร็จพิธี คณะพราหมณ์ผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ที่ทำพิธีมาแล้วให้สานุศิษย์ทุกท่านฟรี
เส้นทางในการแห่ขบวน
ส่วนใครที่ต้องการไปร่วมงานเทศกาลนี้ นอกจากจะต้องระวังในเรื่องของการรักษาระยะห่างจากภาวะของโควิด 19 แล้ว ยังควรต้องศึกษาเส้นทางการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่ประสงค์ขับรถไปในงานสามารถศึกษาเส้นทางได้จากเพจ Hindu Meeting (Fan Page)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
20 สถานที่ ไหว้พระขอความรัก อธิษฐานขอความรัก อยากมีรักดี เจอคู่แท้
วันคเณศจตุรถี หรือวันเกิดพระพิฆเนศ 10 กันยายน 2565
แจกวอลล์เปเปอร์เสริมดวงการเงิน ประจำปี 2565 Wallpaper เสริมดวง
ที่มา : facebook, nationtv, thansettakij
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!