ดนตรีกับพัฒนาการ 2 คำนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรต่อตัวของเด็ก คำตอบนั้นมีมากมาย ดังนั้นการให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสกับดนตรีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกได้มากยิ่งขึ้น
ดนตรีกับพัฒนาการ ส่งผลกับลูกอย่างไร
- ดนตรีกับเด็กเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้
- ทารกน้อยที่ร้องไห้จ้า หยุดร้องงอแงเมื่อได้ยินเสียงเพลงเห่กล่อมของพ่อแม่ปลอบประโลม
- คราวถึงวัยเริ่มหัดพูดช่างเจรจา การฟังเพลงทำให้จดจำคำร้องและทำนองได้อย่างว่องไว
- เมื่อยิ่งโตขึ้น ดนตรีเป็นทางออกแห่งอารมณ์พลุ่งพล่าน เป็นสนามสร้างความมั่นใจให้ได้แสดงตัวตน และยังเป็นที่พักใจยามเหนื่อยล้าได้อีกด้วย
แม้ดนตรีจะมีบทบาทในชีวิตลูกน้อยอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่หากได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในการเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเพียงการใช้เสียงร้อง ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ให้หลักฐานสนับสนุนว่า การเรียนดนตรีส่งผลต่อการพัฒนาของสมองโดยตรง กล่าวกันว่า หากคุณมีเงินและมีเวลาจำกัดแล้วจำเป็นต้องเลือกลงทุนกับลูกเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการเสริมพัฒนาการเพิ่มเติม การเรียนดนตรีจะเป็นสิ่งแรกที่ควรพิจารณาเลยทีเดียว
บทความเพิ่มเติม : เลี้ยงลูกให้เป็นนักดนตรี ทำอย่างไรได้บ้าง ทำไงให้ลูกรักเสียงเพลง
ดังนั้นวันนี้เลยอยากมาชวนคุณพ่อคุณแม่คุยกันเรื่องประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของการให้ลูกน้อยได้เรียนดนตรีค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง บางอย่างคุณพ่อคุณแม่อาจคาดเดาได้บ้างอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีบางเรื่องที่ลืมนึกถึงไป พอฟังแล้วจะได้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นค่ะ ว่าจะลงทุนกับการเรียนดนตรีกับลูกน้อยเมื่อไรอย่างไรบ้างดี
พัฒนาโครงสร้างของสมองและความจำ
งานวิจัยหลายงานพบว่า การเรียนดนตรี เพิ่มการเจริญเติบโตของสมองส่วนต่าง ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญโดยพบว่าสมองส่วนที่ควบคุมทักษะการอ่าน การเข้าใจคำพูด และการพัฒนาทางด้านภาษานั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังเชื่อว่ามีผลต่อความยืดหยุ่นของการทำงานของสมองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเรียนดนตรีมีผลโดยตรงกับความจำ งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศชิลีพบว่าเมื่อศึกษาเด็กอายุ 10-13 ปี จำนวน 40 คน โดยเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์การเรียนดนตรีอย่างมีแบบแผนมาเป็นเวลามากกว่าสองปีและฝึกซ้อมวันละไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง ส่วนอีกครึ่งไม่มีการเรียนดนตรีเพิ่มเติมไปจากที่มีอยู่ในแบบเรียนของโรงเรียน เมื่อวัดการทำงานของสมองจากการวัดการไหลเวียนของเลือดระหว่างที่ให้ดูภาพและฟังเมโลดี้ของดนตรีไปพร้อมกันเป็นเวลาสี่วินาที ซึ่งนักวิจัยจะให้เด็กโฟกัสไปที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ได้บอกให้โฟกัสอะไรเป็นพิเศษ แล้วหลังจากนั้นจึงลองถามทั้งภาพและเมโลดี้ พบว่ากลุ่มเด็กที่เรียนดนตรีสามารถทำบททดสอบความจำนี้ได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ทักษะด้านการจดจำที่ดีนั้นยังเชื่อมโยงกับความสามารถในการอ่านและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในวัยเยาว์อีกด้วย
พัฒนาการด้าน EF
การเรียนดนตรีจะทำให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะที่สอดคล้องไปกับพัฒนาการด้าน EF หรือ Executive Functions อันเป็นกระบวนการทางความคิดที่พ่อแม่ยุคใหม่เริ่มเรียนรู้และใส่ใจมากขึ้นเพราะสำคัญยิ่งว่า IQ และ EQ ที่เคยเป็นจุดโฟกัสของพ่อแม่ยุคก่อน โดยหากมองตามกระบวนการแล้ว การเรียนดนตรีช่วยให้ลูกใช้ทักษะด้าน EF ครบทั้ง 9 ด้าน นั่นคือ
- ความทรงจำใช้งาน : ผ่านการเรียนรู้จดจำตัวโน้ต ทฤษฎี เสียงดนตรี โดยสามารถจัดเก็บข้อมูลที่ได้รับและดึงมาใช้ได้ยามต้องการ
- การยั้งคิดและควบคุมตนเอง : เพราะเด็กต้องตัดใจจากการเล่นมาซ้อมดนตรี ฝึกหันเหความสนใจจากเรื่องสนุก เรื่องง่าย มาลองทำอะไรที่ยากและท้าทายขึ้น
- การยืดหยุ่นทางความคิด : โดยเฉพาะการเล่นดนตรีที่สามารถพลิกแพลงไปได้หลายรูปแบบเช่นการ improvise
- การจดจ่อ : สามารถจดจ่อมากพอที่จะซ้อมเพลงเดิมซ้ำไปซ้ำมาได้เป็นเวลานานเพื่อให้เล่นได้คล่องขึ้น
- การควบคุมอารมณ์ : ไม่ว่าจะอยากเล่น เบื่อ เหนื่อย ก็ยังสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้มากพอที่จะลงมือซ้อมได้
- ตั้งเป้าหมายและการจัดการ : เด็กต้องเห็นเป้าหมายชัดเจน เช่น จะเล่นเพลงนี้ให้ได้ภายในกี่เดือน และพร้อมที่จะจัดสรรเวลาซ้อม แบ่งเวลาจากภาระด้านอื่น ๆ มาอย่างเหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- การประเมินตัวเอง : เช่น หากยังเล่นได้ผิดพลาดก็ต้องประเมินถึงข้อบกพร่องของตัวเองว่าเกิดจากสาเหตุใดและคิดหาวิธีแก้ไข
- การริเริ่ม เช่นเป็นผู้เลือกเครื่องดนตรี เลือกเพลงที่อยากเล่น ริเริ่มอยากไปแสดงในคอนเสิร์ตต่าง ๆ ไม่ว่าเวทีเล็กหรือใหญ่ และริเริ่มลงมือซ้อมลงมือทำตามที่คิดไว้
- ความพากเพียรพยายาม : การเรียนดนตรีนั้นมีความยากและท้าทาย เด็กจะเข้าใจผ่านการเรียนดนตรีว่า ไม่มีใครเก่งได้โดยไม่ฝึกฝน ทุกอย่างอาศัยความพยายามมานะอุตสาหะ ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ และแม้จะผ่านความเหนื่อยยากท้อแท้ หากเอาจริงเอาจังไม่ละความพยายาม ก็จะทำได้ในที่สุด
การมีทักษะดนตรียังส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือมี Self Esteem จากการได้ลงมือฝึกฝน ลงทุนลงแรงกับบางอย่างแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผลิดอกออกผลมาเป็นทักษะความสามารถที่จับต้องได้ แสดงออกให้คนรอบข้างได้รับรู้จนได้รับความยอมรับในวงสังคมของตนเองเช่นในครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูง
ดนตรีกับพัฒนาการ ด้านอารมณ์
การเรียนดนตรีนั้นส่งผลในด้านอารมณ์หลากหลายรูปแบบ การที่เด็กสามารถจดจ่อกับการเล่นดนตรี ช่วยทำให้เด็กมีจิตใจสงบนิ่งและระงับอารมณ์ได้ดีขึ้น ดนตรีช่วยเพิ่มสุนทรียะ และทำให้เด็กมีอารมณ์ดี ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กขุ่นข้องหมองใจ การใช้ดนตรีเป็นเครื่องระบายอารมณ์ก็เป็นทางออกที่ดีที่เด็กเข้าถึงได้ง่ายสำหรับเด็กเล็กที่ยังมีปัญหาในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ยังแยกแยะอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ค่อยถูก และอธิบายความรู้สึกได้ไม่ดีนัก การเรียนดนตรีจะช่วยให้เด็กได้เข้าถึงอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นและเรียนรู้ที่จะแสดงออกถึงอารมณ์ที่แตกต่างกันไปรวมถึงจัดการกับอารมณ์ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าเมื่อเรียนดนตรี การที่เด็กได้ฝึกแยกแยะตัวโน้ตเสียงสูงต่ำจะทำให้สมองมีความยืดหยุ่นและรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกคนรอบข้างได้ไวเป็นพิเศษ อีกทั้งสามารถแยกแยะอารมณ์ได้ดี มีงานวิจัยพบว่า เด็กที่เรียนดนตรี สามารถดูภาพผู้คนที่แสดงสีหน้าต่าง ๆ แล้วเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่คนคนนั้นกำลังแสดงออกได้อย่างละเอียดลึกซึ้งกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรี ดังนั้นการเรียนดนตรีจึงทำให้เด็กเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นได้อย่างดีหรือที่เรียกว่ามี empathy ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากของศตวรรษนี้
บทความเพิ่มเติม : ลูกน้อยชอบร้องเพลง อยากเป็นนักร้อง ทำอย่างไรให้ความฝันลูกเป็นจริง
นอกจากพัฒนาการด้านต่าง ๆ การเรียนดนตรียังทำให้เด็กมีโอกาสที่จะใช้ดนตรีเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลายของตัวเอง และยังสามารถช่วยเรื่องการเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ ได้อีกด้วย กลอง เปียโน กีตาร์ เป็นเครื่องดนตรีแถวหน้าที่เด็ก ๆ มักจะเลือกเรียน และระยะหลังมานี้ เครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่ายอย่างอูกูเลเล่ ก็เริ่มฮิตติดกระแสเช่นกัน
ในเรื่องของช่วงวัยนั้น การเริ่มเรียนดนตรีอย่างมีแบบแผน มักเริ่มราวอายุสี่ขวบ เพราะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อแขนขาและนิ้วมือแข็งแรงและมีการควบคุมได้ดีมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ควบคุมเครื่องดนตรีได้ อีกทั้งยังเป็นช่วงที่สามารถรับฟังคำสั่ง และปฏิบัติตามได้อย่างเข้าใจ และเป็นช่วงที่สามารถเริ่มฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับที่ครูสอนเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง รวมถึงเป็นเวลาที่กำลังเหมาะสมในการนำดนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือฝึกระเบียบวินัยในการเข้าเรียน ในการซ้อมทำการบ้านทุก ๆ สัปดาห์ด้วยค่ะ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลังเลใจที่ทุ่มเทเงินและเวลาเพื่อสนับสนุนให้ลูกได้เรียนดนตรี และให้ลูกรักได้เลือกเครื่องดนตรีที่ถูกใจ แม้คำแนะนำทั่วไปมักบ่งชี้ให้เรียนแบบกลุ่มหรือเรียนส่วนตัวกับคุณครูตามโรงเรียนดนตรีเพื่อให้เข้าใจทั้งด้านทฤษฎีได้อย่างถี่ถ้วนและมีแบบปฏิบัติอย่างมีแบบแผน แต่หากเรื่องค่าเรียนที่สูงทำให้ยังคงลังเล จริง ๆ แล้วในยุคอินเทอร์เน็ตอย่างสมัยนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องลงทุนแค่เพียงซื้อตัวเครื่องดนตรี แล้วใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันผ่านทาง YouTube หรือช่องทางอื่น ๆ ออนไลน์ก็ย่อมได้เช่นกันค่ะ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือเวลาในการเรียนและเล่นดนตรี ควรเป็นเวลาแห่งความสุขสดชื่น ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกได้ฝึกสมองได้สร้างเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ จะยังนำมาซึ่งช่วงเวลาคุณภาพในการสื่อสายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เครื่องดนตรีขิม เล่นยังไง? เด็ก ๆ สามารถเล่นได้ไหมมาดูกัน
เครื่องดนตรีเด็กเล่นได้ ฝึกเพิ่มทักษะ ลูกให้ลูกเป็นอัจฉริยะด้านดนตรี เริ่ด!
เลี้ยงลูกให้เป็นนักดนตรี ทำอย่างไรได้บ้าง ทำไงให้ลูกรักเสียงเพลง
ที่มา : bloomberg , rakluke , cassiopiablog , percussionplay
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!