ทารกเป็นแผลร้อนใน สาเหตุเกิดจากอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

ทารกเป็นแผลร้อนใน ลูกเป็นแผลในปาก ตุ่มขาวในปากทารก อันตรายมากไหม อาการแผลร้อนในในปากของทารกต้องทำยังไงบ้าง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อทารกเป็นร้อนใน
ทารกเป็นแผลร้อนใน
ทารกเป็นแผลร้อนใน เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เด็กบางคนมีอาการแผลร้อนในเป็นๆ หายๆ และมีความเจ็บปวดมาก นำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างสูงของคุณพ่อคุณแม่ เรามาลองดูกันนะคะว่าหากลูกเป็นแผลร้อนในคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรดี
อาการของแผลร้อนในต่างจากแผลในช่องปากสาเหตุอื่นอย่างไร?
อันดับแรกเราควรแน่ใจก่อนว่าแผลในช่องปากของลูกนั้นเป็นแค่ “แผลร้อนใน” ไม่ได้เกิดจากโรคอื่นๆที่ทำให้มีแผลในช่องปาก โดยแผลร้อนในจะเป็นแผลที่มีในช่องปากเพียงแค่ 1-2 แผล ขนาดเล็กกว่า 6 มิลลิเมตร ลักษณะแผลจะมีตรงกลางเป็นสีขาว ล้อมรอบด้วยขอบสีแดง ตำแหน่งของแผลมักอยู่บริเวณด้านในริมฝีปากและกระพุ้งแก้ม มักมีอาการเจ็บแผลมากแม้ขณะที่ไม่ได้ทานอาหาร ไม่มีไข้ และไม่มีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย
หากเป็นแผลที่เกิดจากโรคอื่นๆ ก็จะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น
- มือ เท้า ปาก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก และมีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หากเกิดจากเชื้อไวรัสนำโรคที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ซึม อาเจียนหนัก หรือหายใจหอบเหนื่อยจนต้องไปโรงพยาบาลได้
- เฮอร์แปงไจน่า ผู้ป่วยจะมีแผลในปากบริเวณเพดานปาก ลิ้นไก่ หรือด้านหลังของคอหอย มีไข้สูง มีอาการเจ็บคอมาก โดยไม่มีผื่นหรือตุ่มน้ำที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า
- โรคเริมในช่องปาก ผู้ป่วยจะมีแผลในปากบริเวณริมฝีปาก เหงือก เยื่อบุช่องปาก ลิ้น เพดานปาก มีไข้ เหงือกบวมอักเสบ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอและใต้คางโตด้วย
นอกจากนี้การที่ริมฝีปากโดนกระทบกระแทก เช่น แปรงสีฟัน การกัดริมฝีปาก หรือการทานอาหารที่ร้อนจัดเกินไปก็อาจทำให้เกิดแผลในปากได้

ทารกเป็นแผลร้อนใน
แผลร้อนในมีสาเหตุจากอะไร?
แผลร้อนในในเด็กมีได้หลายสาเหตุ เช่น อาจจะข้องกับการกระทบกระแทกเล็กๆ น้อยๆ ในปาก การทานอาหารที่ทำให้เกิดระคายเคืองในช่องปาก สารระคายเคืองในช่องปากอื่นๆ เช่น ยาสีฟัน การขาดวิตามิน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้ค่ะ
หากลูกมีแผลร้อนใน จะสามารถดูแลได้อย่างไร?
หากลูกมีแผลร้อนในที่อาการไม่ได้รุนแรงคุณพ่อคุณแม่สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ ดังนี้
- ให้ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลบรรเทาอาการเจ็บแผล
- ป้ายแผลด้วยยาทาสเตียรอยด์ที่ใช้สำหรับทาแผลในช่องปากโดยเฉพาะ ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อให้แน่ใจว่าแผลลักษณะที่ลูกเป็นเกิดจากแผลร้อนในธรรมดาและสามารถใช้ยาได้
- ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ให้ดื่มน้ำเยอะๆ โดยอาจเป็นน้ำเย็น หรือนมเย็น เพื่อลดความเจ็บปวดแผลลง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยว เค็ม เผ็ด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องเคี้ยวเยอะ
- หากลูกยังใช้ขวดนมอยู่ ควรหยุดดูดขวดนมในช่วงที่มีแผล เพราะการดูดจุกนมอาจทำให้เจ็บแผลมากขึ้นได้ โดยอาจป้อนนม หรือน้ำ ด้วย ถ้วย ช้อนหรือไซริงค์ แทนก่อน
หากลูกเป็นแผลร้อนในเมื่อใดจึงควรไปพบคุณหมอ?
หากลูกมีแผลร้อนในโดยมีลักษณะอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้ชัดเจนและได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
- อาการแผลร้อนในของลูกดูเป็นเยอะ ปวดมากจนทรมาน หรือมีขนาดใหญ่ มีอาการรุนแรง มีไข้
- ลูกมีแผลร้อนใน โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นแค่แผลร้อนใน หรือเกิดจากสาเหตุอื่น
- อาการแผลดูเป็นลุกลามมากขึ้น หรืออาการแผลยืดเยื้อนานกว่า 2 สัปดาห์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง แม่หลังคลอดควรกินอะไรให้แผลหายเร็ว
วิธีกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของทารก ในช่วงขวบปีแรก พ่อแม่ควรทำแบบนี้!
ทารกออกนอกบ้าน กี่เดือน พาทารกออกนอกบ้านเตรียมอะไรบ้าง พาลูกเที่ยว พาทารกเที่ยว กี่เดือน
วิธี ดับกลิ่นฉี่ กลิ่นฉี่เด็ก ฉี่สัตว์เลี้ยง กลิ่นฉี่ในห้องน้ำ ให้กลิ่นสลายหายเหมือนไม่เคยมี