คุณแม่ Charles Kimmi แชร์ประสบการณ์ ลูกขาดธาตุเหล็ก จนมีภาวะเลือดจางและเม็ดเลือดแดงตัวเล็ก *สาเหตุจากการกินน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ทั้ง ๆ ที่กินครบ 5 หมู่ !! และมีข้อบ่งชี้จากอาการที่หลายๆ บ้านคิดว่า เดี๋ยวโตขึ้นก็หาย !!
แชร์ประสบการณ์ ลูกขาดธาตุเหล็ก ทั้งที่กินครบ 5 หมู่!
ลูกขาดธาตุเหล็ก มีข้อบ่งชี้อย่างไร
คุณแม่เล่าว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. คุณแม่พาน้องทีก้าลูกชายวัย 1.6 ไปรับวัคซีนตามนัดปกติ ตอนแรกก็คิดว่าแค่ไปฉีดวัคซีน คุยกับคุณหมอเรื่องพัฒนาการของน้อง คุณแม่เล่าว่าน้องเป็นเด็กกินง่าย แต่กินน้อย กินตับ กินผัก กินผลไม้ กินได้ทุกอย่างเลย
แต่สิ่งที่ทำให้คุณหมอเริ่มกังวลคือ น้องมีอาการร้องกลั้น ทั้งที่อายุ 1.6 ขวบแล้ว แต่ยังไม่หายร้องกลั้น จึงเป็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้คุณหมอแนะนำให้เจาะเลือดตรวจ
*ร้องกลั้น คือ ร้องไห้แล้วกลั้นหายใจค้างไปสักแป๊บ จนหน้าเขียวปากม่วง (ทีก้าไม่ถึงขั้นหมดสติ) เป็นได้ตั้งแต่ทารก – 6 ขวบ ปกติจะดีขึ้นช่วง 1 ขวบขึ้นไป ที่หมอตรวจเพราะจะดูว่ามีภาวะอะไรซ่อนเร้นมั้ย ถ้าบางคนตรวจแล้วไม่เจอภาวะซ่อนเร้นที่ต้องรักษาก็รอดีขึ้นเองค่ะ
ร้องกลั้นสาเหตุผิดปกติที่ซ่อนเร้นจะมี >> ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก
แล้วผลเลือดออกมา น้องทีก้า มีภาวะเลือดจางจริงๆ
คุณหมอจึงให้ยาธาตุเหล็กมากิน วันละ 5 ml. และนัดเจาะเลือดตรวจละเอียดอีกครั้ง วันที่ 27 เม.ย (พร้อมกับตรวจเลือดตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง)
และฟังผลเลือดของภาวะเลือดจาง วันที่ 28 เม.ย. กับคุณหมอโรคเลือดเด็กเฉพาะทาง
หลังจากเสริมยาธาตุเหล็กไป 21 วัน ก็ยังไม่ดีขึ้น
28 เม.ย. ผลออกมาว่า ค่าเลือดหลายอย่างของทีก้าต่ำกว่าเกณฑ์มากค่ะ เช่น HD , Hct , MCV , MCH และ SI ต่ำมาก ค่าแค่ 21 เกณฑ์ต้อง 33-193
ข้อบ่งชี้ คือ สีปากชมพูอ่อน (มาก) สีผิวออกเหลือง เล็บเท้าบางฉีกง่าย ลักษณะคือ บางอ่อน แบนราบ ส่วนนิ้วก้อยแอ่นลงจนผิดรูปค่ะ หน้าเล็บไม่เรียบมีความเป็นคลื่นๆ
ด้วยความผลไม่โอเค คุณหมอเลยจัดตารางการกินมาให้ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ทีก้ากินได้เยอะขึ้นและเป็นผลดีกับการเจริญเติบโต
และนัดติดตามผลการปรับตารางการกิน อีกครั้งวันที่ 6 พ.ค.
ซึ่งคุณหมอแจ้งว่าค่าเลือดจะดีขึ้นหลังจากรับยาธาตุเหล็กหลัง 4 สัปดาห์ไปแล้ว
คุณหมอปรับตารางการกินใหม่หมด
พฤติกรรมการกินเดิมของน้อง ตอนแรกทีก้าเป็นเด็กกินง่าย กินผัก กินตับ กินผลไม้ กินหมดทุกอย่างเลยค่ะ แต่ติดตรงกินน้อย นมก็กินน้อย แต่กินเยอะเป็นผลไม้ !! (ที่เคยคิดว่าดีอาจจะไม่ใช่แล้วว) และนมมื้อสุดท้ายของทีก้าคือ เที่ยงคืน (นมแม่) กลางวันกินนมน้อยค่ะ นมกล่องก็กินได้แค่กล่อง 110-125ml. (บางครั้งก็ไม่หมด) เสริมแค่วันละ 1-2 กล่อง บางวันก็ไม่ยอมกินนมกล่องเลย
เคสของทีก้า แม่ให้น้องกินผลไม้มากไปจนกินข้าวหรืออาหารหลักได้น้อยค่ะ ต้องการปรับให้กินข้าวมื้อหลักให้ได้มากขึ้น
เริ่มการปรับตั้งแต่เย็นวันที่ 28 เม.ย. มื้อข้าว มื้อนม ระยะห่างปรับตามตารางคุณหมออย่างเคร่งครัดบวกลบเวลาได้ตามความเหมาะสม
ตารางการกินที่คุณหมอแนะนำ
มื้อหลัก 3 มื้อเท่านั้น ไม่มีมื้อว่าง
8:00 มื้อเช้า (เน้นผัด ทอด เจียว เพิ่มน้ำหนัก)
>> ผลไม้ท้ายมื้อ 3-5 ชิ้น
10:00 นมเสริม
12:00 มื้อเที่ยง
>> ผลไม้ท้ายมื้อ 3-5 ชิ้น
14:00 นมเสริม
18:00 มื้อเย็น
20.00 นมเสริม (สามารถขยับเป็นตอนเข้านอน)
คุณหมอบอกเพิ่มเติมไว้ว่า ไม่มีมื้อว่าง มื้อไหนกินน้อยก็ต้องรอมื้อถัดไป เพื่อน้องจะได้กินข้าวเยอะขึ้น
และฝึกวินัยการกิน 1. นั่งกินพร้อมกัน 2. ไม่ป้อน (กินเท่าที่กินได้)
1-3 วันแรก คือ งดผลไม้ไปเลย ทีก้าร้องไห้หนักมากๆ คุณพ่อกับคุณแม่ต้องสลับกันอุ้มกล่อมทั้งคืน
คุณแม่ขยับนมมื้อสุดท้ายมาเป็น 3 ทุ่ม เพราะน้องเข้านอน 3 ทุ่ม (จุ๊บเต้า) แม่จะให้น้องกินให้อิ่มจะได้นอนยาวถึงเช้า ถ้าตื่นหรืองอแงระหว่างคืน จะไม่มีการให้นมแล้ว
พอปรับไปเข้าวันที่ 4 ข้าวมื้อเย็นทีก้ากินได้เยอะขึ้นมากๆ แล้ว มื้อที่กินได้เยอะจะให้ผลไม้เป็นรางวัลนิดหน่อยเสริมวิตามิน แต่ไม่เยอะเท่าเมื่อก่อน
พอปรับตารางตามคุณหมอ เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ทีก้านอนยาวตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง 6-7โมงเช้า ข้าวเช้าและเที่ยงยังกินได้ไม่เยอะเท่าที่พอใจค่ะ แต่ข้าวเย็นกินได้เยอะขึ้นมากๆ แล้ว
เรื่องการปรับนี้ง่ายมากๆ เพราะคนในบ้านทุกคนให้ความร่วมมือ ตายายน้าทุกคนเข้าใจและให้ความร่วมมือค่ะ
หลังปรับการกิน ผลเป็นที่น่าพอใจ
6 พ.ค. นัดเพื่ออัพเดตการปรับการกิน คุณหมอพอใจมากๆ คุณหมอดูฝ่ามือและกดท้องทีก้า บอกว่าสีโอเคและหุ่นก็ดีขึ้น
ผลเลือดเป็นไปในทิศทางที่ดี
2 มิ.ย นัดเจาะเลือดอีกครั้ง เพื่อดูค่าเลือดว่า ดีขึ้นไหม ผลออกมา ค่าเลือดขึ้นมาจากเดิมเล็กน้อย ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นสัญญาณที่ดีแล้ว แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องจนกว่าค่าเลือดจะถึงเกณฑ์ค่ะ
theAsianparent Thailand ขอขอบคุณคุณแม่ Charles Kimmi หวังว่าประสบการณ์ที่คุณแม่นำมาเล่าในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับแม่ๆ ทุกบ้านในการดูแลเรื่องอาหารการกินของลูกน้อยให้ได้สารอาหารครบถ้วน เพื่อป้องกัน ลูกขาดธาตุเหล็กการสังเกตข้อบ่งชี้ภาวะเลือดจาง เช่น การร้องกลั้น ลักษณะเล็บของน้อง รวมถึงการปรับตารางการกินตามที่คุณหมอแนะนำค่ะ
ธาตุเหล็กสำคัญอย่างไร
ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายของเด็ก โดยมีหน้าที่สำคัญดังนี้
- สร้างเม็ดเลือดแดง: ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน โปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย เด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยลง หรือเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการ: ธาตุเหล็กมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน การเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและสมอง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก
- เพิ่มสมาธิและความจำ: ธาตุเหล็กช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ส่งผลต่อสมาธิ ความจำ และการเรียนรู้ของเด็ก
ลูกขาดธาตุเหล็ก อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย
- ซีดเซียว
- เบื่ออาหาร
- หายใจลำบาก
- นอนหลับไม่สบาย
- สมาธิสั้น
- พัฒนาการช้า
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก
- เนื้อสัตว์: เนื้อวัว หมู ไก่ ปลา แฮม
- ตับ: ตับวัว ตับหมู
- ผักใบเขียว: ผักโขม บร็อคโคลี่ คะน้า
- ถั่ว: ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ
- ธัญพืช: ข้าวโอ๊ต คินัว ข้าวกล้อง
- ผลไม้แห้ง: ลูกเกด อินทผลัม
- ไข่แดง
การเสริมธาตุเหล็ก
ในบางกรณี เด็กอาจจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมจากอาหาร โดยเฉพาะเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กที่ดื่มนมวัวน้อย เด็กที่กินอาหารไม่หลากหลาย เด็กที่มีโรคประจำตัวบางชนิด และเด็กที่ขาดธาตุเหล็ก
ปรึกษาแพทย์
หากกังวลว่าลูกน้อยอาจขาดธาตุเหล็ก ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินระดับธาตุเหล็กในเลือด แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลและเสริมธาตุเหล็กที่เหมาะสมกับลูกน้อย
แหล่งข้อมูล : Nonthavej Hospital , dumex , nestle
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกตัวซีด เซื่องซึม มือเท้าเย็น ต้องรีบเสริมธาตุเหล็กด่วน
อาหาร 6 ชนิดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ
คุณแม่ควรให้ลูกน้อยทาน วิตามิน หรือ ยาเสริมธาตุเหล็กทารก หรือไม่ ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!