มนุษย์แม่ก็เป็นคนธรรมดา… มีเหนื่อยล้า มีภาระมากมาย บางวันต้องรับมือกับงานบ้าน งานเลี้ยงลูก หรือแม้แต่ภารกิจนอกบ้านที่ทำให้ตารางชีวิตยุ่งเหยิงไปหมด บางคืนก็เผลอหลับยาวจนลืมตื่นมาปั๊มนม บางวันต้องออกไปทำธุระโดยไม่มีโอกาสหาที่ปั๊มนมได้ พอรู้ตัวว่า ตกรอบปั๊ม ก็มักจะเกิดความกังวลว่าน้ำนมจะลดลงไหม เต้านมจะคัดหรือเปล่า แต่ไม่ต้องเครียดไปค่ะ! ทุกปัญหามีทางแก้ ในบทความนี้ เราจะพาคุณแม่มารู้จักวิธีรับมือเมื่อตกรอบปั๊มนม พร้อมเคล็ดลับดูแลน้ำนมให้ไหลต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน
ตกรอบปั๊ม คืออะไร
เมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่ต้องให้นมลูกเป็นเวลา โดยประมาณจะอยู่ที่ทุกๆ 2-4 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่ได้นำลูกเข้าเต้า ก็ต้องทำการปั๊มน้ำนมออกมา เพราะร่างกายผลิตน้ำนมอยู่ตลอด หากถึงรอบเวลาแล้วน้ำนมไม่ถูกถ่ายเทออกมา ไม่ว่าจะด้วยการดูดของลูก หรือการปั๊ม ย่อมทำให้คุณแม่มีอาการคัดเต้านม ซึ่งการที่ไม่ได้นำน้ำนมออกตามรอบเวลานี่เองที่เราเรียกว่า ตกรอบปั๊ม
การตกรอบปั๊ม หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจส่งผลให้น้ำนมหดหรือท่อน้ำนมอุดตัน และที่พบได้บ่อยคือ เต้านมคัด แข็ง บวมแดง และอาจนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบได้
การตกรอบปั๊ม กับ ปริมาณน้ำนมแม่
เชื่อว่าคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มปั๊มนม หากตกรอบปั๊มแค่หนึ่งครั้ง ก็คงวิตกกังวลกลัวว่าน้ำนมจะไม่พอสำหรับลูก แต่ความจริงแล้ว การตกรอบปั๊ม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ค่ะ เพราะชีวิตคนเรามีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้มากมาย หากวันหนึ่ง คุณแม่เกิดตกรอบปั๊มไปรอบสองรอบ ก็อาจไม่ได้กระทบปริมาณน้ำนมขนาดนั้นค่ะ
นอกจากว่าคุณแม่ตกรอบปั๊มบ่อยๆ วันละ 3-4 รอบเป็นประจำ แน่นอนว่าในที่สุด น้ำนมอาจลดลงได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นเพียงครั้งคราว ก็สามารถแก้ไขได้โดยการปั๊มนมทันทีที่รู้สึกตัว หรือปั๊มรอบถัดไปทันที

แก้ปัญหาเต้านมเป็นก้อนเมื่อ ตกรอบปั๊ม
บางกรณี เมื่อ ตกรอบปั๊ม อาจทำให้เต้านมคัดตึง เป็นก้อน เพราะมีน้ำนมค้างแม้จะปั๊มนมออกไปแล้วก็ตาม ทำให้คุณแม่เจ็บและปวดเต้านม สิ่งที่ควรทำคือ การนวดเต้านม ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลังปั๊มนม 30 นาที ให้ทำการประคบร้อน ให้นวดคลึงเต้านม เป็นรูปก้นหอย รอบๆ เต้านม ข้างละ 5 นาที และใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้คลึงหัวนมเหมือนปั้นแป้งเป็นรูปวงกลม(กระตุ้นจี๊ด) ประมาณ 1-2 นาที สลับกับการบีบน้ำนม ทำสลับเต้าซ้ายและขวา ข้างขวาไม่ออกก็ไปข้างซ้าย
- ในรอบปั๊มถัดมา ถ้าก้อนยังอยู่ ให้ทำเหมือนเดิม หากทำ 3-4 รอบ ภายใน 24 ชม. ก้อนในเต้านมไม่เล็กลง หรือ ใหญ่ขึ้น เต้านมปวด บวม แดง ควรรีบพบแพทย์
ตกรอบปั๊มกลางคืนบ่อยๆ ทำยังไงดี
คนเป็นแม่จะรู้ดีว่า ภารกิจแม่ลูกอ่อนนั้นซับซ้อน และดูเหมือน Mission Impossible ที่หลายอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้ คำแนะนำมักบอกว่าให้แม่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเครียด เพื่อให้ร่างการผลิตน้ำนมได้ดี แต่ในความเป็นจริง แม่ลูกอ่อนต้องตื่นกลางดึกคืนละหลายรอบ เพื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมลูก ให้นมลูก ถึงแม้ลูกจะหลับยาว แม่ก็ต้องตื่นมาปั๊มนม ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้แม่จะนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดี และไม่เครียดได้อย่างไร
จึงไม่แปลกหากคุณแม่หลายคน อาจเหนื่อยล้าเกินกว่าจะตื่นมาปั๊มนมกลางดึก หากคุณนอนเพลินจนทำให้ตกรอบปั๊มนมบ่อยๆ อย่าเพิ่งรู้สึกผิดและโทษตัวเองทุกปัญหามีทางแก้ไขค่ะ
หากตกรอบปั๊ม แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วยังห่างจากรอบปั๊มถัดไป ให้ปั๊มนมทันที ไม่ต้องรอจนถึงรอบถัดไป เพราะการปล่อยให้น้ำนมค้างเต้านานเกินไป อาจทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่าลูกต้องการน้ำนมลดลง ส่งผลให้การผลิตน้ำนมลดลงตามไปด้วย ดังนั้น หากรู้สึกตัวกลางดึกแล้ว ยังห่างจากรอบปั๊มนาน ให้ปั๊มทันทีเพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่ายังมีการระบายน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
ถ้านอนหลับเลยรอบปั๊มมาเล็กน้อย แล้วรู้สึกว่าน้ำนมเริ่มออกยากขึ้น ควรช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนมด้วยวิธีต่อไปนี้
- นวดคลึงเต้า: ใช้ปลายนิ้วมือนวดเป็นวงกลมจากฐานเต้าเข้าหาหัวนม หรือใช้เทคนิคการนวดแบบก้นหอย เพื่อช่วยให้ท่อน้ำนมคลายตัวและลดโอกาสเกิดท่อน้ำนมอุดตัน
- ประคบร้อน: ใช้ผ้าขนหนูอุ่นๆ หรือแผ่นประคบร้อนวางบนเต้านมก่อนปั๊มประมาณ 5-10 นาที เพื่อช่วยเปิดท่อน้ำนมและให้การไหลเวียนดีขึ้น
4 วิธีปั๊มนมกลางคืน ไม่กระทบการพักผ่อน(มากนัก)
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแม่ โดยเฉพาะแม่ลูกอ่อน การจะนอนหลับพักผ่อนให้เต็มตาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อย่างไรก็ตาม วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ชีวิตแม่ง่ายขึ้น เมื่อต้องตื่นมาปั๊มนมกลางดึก
- ใช้เครื่องปั๊มแบบ Hands-Free: ช่วยให้ปั๊มได้ขณะเอนตัวพักผ่อน
- ตั้งนาฬิกาปลุกเบาๆ: ใช้เสียงที่ไม่ดังมากเพื่อให้ตื่นมาปั๊มนมโดยไม่สะดุ้งตื่น เพราะการสะดุ้ง หรือตกใจตื่นจะทำให้เพลียมากกว่าปกติ
- ปั๊มขณะให้นมลูก: หากลูกตื่นมากลางดึก ให้ปั๊มนมข้างหนึ่งขณะลูกดูดอีกข้าง
- ดื่มน้ำอุ่นก่อนนอน: ช่วยให้ร่างกายสร้างน้ำนมได้ดีขึ้น

สาเหตุ ตกรอบปั๊ม พร้อมวิธีแก้ไขที่ต้นเหตุ
-
ความเหนื่อยล้าและการพักผ่อน
คุณแม่หลายคนต้องดูแลลูกน้อยตลอดทั้งวัน ทำให้เหนื่อยล้าสะสมจนเผลอหลับยาวและพลาดรอบปั๊มนมกลางคืน
วิธีแก้ไข คือ ตั้งนาฬิกาปลุก หรือ ใช้แอปพลิเคชันช่วยเตือน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พลาดรอบปั๊ม นอกจากนี้ คุณแม่สามารถจัดตารางปั๊มนมให้เหมาะกับรอบการนอน เช่น ปั๊มนมก่อนเข้านอนและปรับรอบถัดไปให้ไม่ถี่จนเกินไปเพื่อให้ได้พักผ่อนเพียงพอ
ในวันที่งานยุ่งจนไม่มีเวลาปั๊มนม การปล่อยให้น้ำนมค้างเต้านานอาจทำให้น้ำนมหดหรือเกิดอาการเต้านมคัด
วิธีแก้ไข คือ หาโอกาสระบายน้ำนมแม้เพียงเล็กน้อย เช่น บีบน้ำนมด้วยมือระหว่างพักเข้าห้องน้ำ หรือใช้เครื่องปั๊มนมแบบพกพาที่เงียบและสะดวก สามารถปั๊มไปด้วยระหว่างประชุมได้ นอกจากนี้ ควรแจ้งให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าทราบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องปั๊มนมเพื่อหาทางอำนวยความสะดวก
-
เดินทางหรือทำกิจกรรมข้างนอก
หากต้องเดินทางไกลหรือทำกิจกรรมข้างนอก อาจไม่มีที่เหมาะสมสำหรับปั๊มนม
วิธีแก้ไข คือ วางแผนล่วงหน้า โดยเตรียมหาจุดปั๊มนม เช่น ห้องให้นมในห้างสรรพสินค้า หรือใช้ เครื่องปั๊มนมแบบพกพา ที่สามารถใช้งานได้สะดวกแม้อยู่ในรถยนต์ หากไม่มีที่ปั๊มจริงๆ คุณแม่สามารถใช้วิธีบีบน้ำนมด้วยมือเพื่อป้องกันอาการคัดเต้าและลดโอกาสที่น้ำนมจะลดลง รวมทั้งเตรียมภาชนะหรือถุงเก็บน้ำนมไปด้วย เพื่อเก็บน้ำนมที่ปั๊มออกมาแล้ว
-
เครื่องปั๊มนมเสียหรือลืมนำติดตัวไป
การที่เครื่องปั๊มนมเสียหรือเผลอลืมพกไปด้วย อาจทำให้คุณแม่ตกใจและกังวลว่าน้ำนมจะลดลง
วิธีแก้ไข คือ ฝึกการบีบน้ำนมด้วยมือ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยระบายน้ำนมได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่อง นอกจากนี้ ควรพกเครื่องปั๊มนมสำรองขนาดเล็ก หรือตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งเพื่อป้องกันปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ
สุดท้ายแล้ว ตกรอบปั๊ม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน เพราะนอกจากการเลี้ยงลูกแล้ว แม่เองก็ยังมีภาระและความเหนื่อยล้าสะสมเป็นธรรมดา คุณแม่จึงไม่ควรกดดันตัวเองมากเกินไป เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมได้ ขอแค่มีความตั้งใจและปรับตัวตามสถานการณ์ ด้วยวิธีรับมือที่ถูกต้อง การตกรอบปั๊มเพียงครั้งสองครั้งไม่ได้ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้มเหลว
ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองและเดินหน้าต่อไปนะคะ
ที่มา: She Knows, พี่กัลนมแม่ กลุ่มแม่และเด็ก คลินิกนมแม่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นมแม่เป็นลิ่ม เพราะอาหารที่กินจริงมั้ย? เกี่ยวกับ ท่อน้ำนมอุดตัน หรือเปล่า?
ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่
ขวด 8 ออนซ์ ใช้ตอนกี่เดือน ? เช็กสัญญาณ! เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนขวดนมลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!