สถิติเด็กหายน่ากลัวกว่าที่คิด จากสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พบว่า
- จำนวนเด็กหายจะพุ่งขึ้นทุกปี ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี 2556 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หายไปถึง 550 คน และปี 2557 มีเด็กหายเพิ่มเป็น 675 คน
- โดยเด็กที่หายไปทั้ง 2 ปีนี้ เสียชีวิตถึง 10 คน
- ข้อมูลล่าสุดของเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวนเด็กหายไปแล้วถึง 76 คน
- 99% ของเด็กที่หายไปจะเป็นเด็กไทย และอีก 1% เป็นเด็กต่างชาติที่อพยพจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่
- เด็กเป้าหมายส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุระหว่าง 4-8 ปี เพราะเป็นวัยที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงมักถูกหว่านล้อม และชักจูงง่าย
- สาเหตุการหายตัวตามลำดับ คือ สมัครใจหนีออกจากบ้านเอง เพราะปัญหาครอบครัว ถูกล่อลวงจากการติดต่อทางสังคมออนไลน์ แล้วหลอกไปข่มขืน ติดเกม พลัดหลงกับพ่อแม่ผู้ปกครอง และที่รุนแรงที่สุดคือถูกลักพาตัว เพื่อไปใช้แรงงาน ขอทาน ล่วงละเมิดทางเพศ ทารุณกรรม และฆาตกรรมในที่สุด
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ จังหวัดที่มีสถิติเด็กหายมากที่สุด รองลงมาคือ นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ตามลำดับ
เด็กหาย สถานที่ที่ปลอดภัยคือสถานที่ที่อันตราย
จากสถิติยังพบอีกว่า สถานที่ที่เด็กมักหายตัวไปมากที่สุด กลับกลายเป็นสถานที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองคาดไม่ถึง เพราะชะล่าใจว่าเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กแล้ว เนื่องจากมีตนเองหรือผู้ใหญ่คอยดูแลและเฝ้ามองอยู่ ได้แก่ หน้าบ้าน หน้าโรงเรียน ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สนามเด็กเล่น วัด สวนสนุก และสวนสาธารณะ
เด็กหาย ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกหายไป
- ตั้งสติให้เร็วที่สุด พร้อมกับลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด แล้วรีบตรวจสอบทันทีว่าลูกหายตัวไปจริงหรือไม่ ใครเห็นลูกเป็นคนสุดท้าย
- กลับไปตามหาที่จุดเดิมของลูกอย่างละเอียด และตรวจสอบบริเวณที่คิดว่าลูกน่าจะไป เช่น แผนกของเล่นเด็ก ร้านอาหาร/ร้านขนมที่ชอบ ร้านเกม บ้านเพื่อนสนิทที่ลูกมักไปเล่นด้วย
- รวบรวมรายละเอียดของลูกให้มากที่สุด เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ รูปร่างหน้าตา ลักษณะเฉพาะของลูก ส่วนสูง อายุ น้ำหนัก พร้อมรูปภาพล่าสุดประกอบ
- นำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่นั้นๆ ให้ประกาศและช่วยค้นหาลูก
- หากทราบแน่ชัดแล้วว่าลูกหายไป ให้แจ้งความทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชม.
- ใช้สังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางในการประกาศตามหา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ฟอร์เวิร์ดเมล เว็บบอร์ดต่างๆ โดยแจ้งข้อมูลของลูกพร้อมภาพประกอบ สถานที่ วันเวลาที่ลูกหายตัวไปพร้อมเบอร์ติดต่อกลับของพ่อแม่ เพราะเด็กหายจำนวนไม่น้อย สามารถกลับมาสู่อ้อมกอดพ่อแม่ได้จากช่องทางนี้
- แจ้งขอความช่วยเหลือจากสื่อตามหน้าหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวทางโทรทัศน์ คลื่นวิทยุต่างๆ เช่น ส.ว.พ.91 (91 MHz) คลื่นร่วมด้วยช่วยกัน (96 MHz) จ.ส.100 (100 MHz) ชมรมวิทยุอาสาสมัคร ทั้งของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู ชมรมวิทยุแท็กซี่หรือหน่วยงานที่รับช่วยเหลือเฉพาะ เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น
- ไม่ตั้งรางวัลหากใครพบลูก เพราะอาจมีมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดี โทร.มาแจ้งเบาะแสเท็จ เพื่อหวังเงินรางวัล และสร้างความปั่นป่วนในการตามหา
- ไม่ฟังคำที่คอยบั่นทอนจิตใจจากผู้อื่น เพราะจะทำให้สิ้นหวัง หมดกำลังใจในการออกตามหาลูก
- คอยติดตามเรื่องจากสถานีตำรวจ และหน่วยงานที่ไปขอความช่วยเหลืออยู่เสมอ
ก่อนแม่หัวใจสลาย เรื่องคนแปลกหน้าที่ต้องสอนลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!