คลายข้อข้องใจคุณแม่ ยากระตุ้นคลอด มีผลต่อทารกหรือไม่
คลายข้อข้องใจคุณแม่ ยากระตุ้นคลอด มีผลต่อทารกหรือไม่
ยากระตุ้นคลอด คืออะไร
รศ.พญ.ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ กล่าวถึงยากระตุ้นคลอดไว้ว่า เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ ไม่ใช้เวลานานในการคลอด มักใช้ในกรณีที่ไม่เจ็บท้องคลอด แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์มีปัญหา ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อแม่และทารกได้ การใช้ยาเร่งคลอด จะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าการคลอดตามธรรมดา เพราะยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น
วิธีการกระตุ้นคลอด มีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำหรือการกวาดปากมดลูก (Membrane stripping, Membrane sweeping) ถือเป็นวิธีการเร่งคลอดอีกวิธีที่ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยและได้ผลดี สูติแพทย์จะใช้นิ้วกวาดปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด
2. การเจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy) ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอแล้วแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอจะเจาะถุงน้ำคร่ำให้เมื่อปากมดลูกเปิดได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ซึ่งการเจาะน้ำคร่ำนี้ไม่ทำให้คุณแม่เจ็บปวดแต่อย่างใดนะคะ เพื่อให้มดลูกเกิดการหดตัว
3. ยาเร่งคลอด (ฮอร์โมนออกซีโตซิน – Oxytocin) เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติไม่ใช้เวลานานมากนัก
4. การใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) นับเป็นวิธีล่าสุดที่ใช้ในการเร่งคลอด ยาที่ใช้มีทั้งรูปแบบของเจลและแบบที่เป็นยาเหน็บช่องคลอด โดยสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มลงและเปิดขยาย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกดีขึ้น
ยากระตุ้นคลอดมีผลต่อทารกหรือไม่
นพ.วิริยะ เล็กประเสริฐ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวถึงผลกระทบของยากระตุ้นคลอด ดังนี้
ผลต่อทารก
– การใช้ยากระตุ้นเพื่อเร่งคลอดจะช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกมีการบีบตัว เมื่อมดลูกบีบตัวจะส่งผลให้รูปากมดลูกค่อย ๆ เปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
– ในขณะเดียวกันกับที่มดลูกบีบตัวหลอดเลือดขนาดต่าง ๆ ในตัวมดลูก ทำการไหลเวียนเลือดจากมดลูกและรกไปสู่ทารกในครรภ์ลดน้อยลง
– ดังนั้น ส่งผลให้เลือด สารอาหาร และออกซิเจนสำรองต่อทารกหรือที่ทารกมีอยู่เองค่อนข้างน้อยในช่วงขณะนั้นอาจเกิดอาการของภาวะขาดเลือด สารอาหารและออกซิเจนได้
– อาการแสดงที่จะสังเกตได้จากกราฟหรือการฟังเสียงหัวใจของทารกในครรภ์ จะพบว่าหัวใจของทารกเต้นช้าลง ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือโดยรีบด่วน
ผลต่อคุณแม่
– ผลกระทบต่อคุณแม่ จะมีในเรื่องของการหดรัดตัวมีมากขึ้น ทำให้เกิดการเจ็บท้องมาก
– อาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
– การหดรัดตัวของมดลูกมีมากอาจทำให้เกิดการติดขัดในกระบวนการคลอด เช่น ทารกตัวใหญ่ไม่ได้สัดส่วนกับเชิงกรานของคุณแม่ กรณีเช่นนี้อาจต้องผ่าตัดคลอดแทน
เมื่อไรถึงต้องใช้ยาเร่งคลอด : เรามีโอกาสหรือไม่????
1. คุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ (Postterm pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมได้
2. คุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลอาจเกรงว่าจะไม่ทันกาล ซึ่งอาจทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้
3. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes) หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้
4. ทารกในครรภ์เติบโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อย ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงนอกจะปลอดภัยกว่า
5. คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis)
ข้อห้ามใช้ยาเร่ง
1. เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือมีแผลบริเวณมดลูก ไม่ควรใช้ยาเร่งคลอด เพราะอาจเสี่ยงสภาวะมดลูกแตกได้
2. สภาวะรกเกาะต่ำ ควรพิจารณาให้ผ่าตัดคลอดแทน
3. ทารกตัวใหญ่กว่าอุ้งเชิงกรานคุณแม่
4. ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง ท่าก้น ฯลฯ
คุณหมอฝากบอก
หากแม่ท้องมีการตั้งครรภ์ที่เป็นไปอย่างปกติดีทุกประการ คุณแม่ควรรอให้การมีการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะดีที่สุด เพราะการใช้ยาเร่งคลอดอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการที่ทารกคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมดลูกอาจแตกจากการเร่งคลอดที่รุนแรงเกินไป และยังมีโอกาสที่จะถูกผ่าตัดคลอดได้สูงหากเร่งคลอดไม่สำเร็จอีกด้วย
อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรดูแลครรภ์ของตนเองให้ปลอดภัย สังเกตอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออก หรือมีอาการปวดท้องคลอดก่อนกำหนด ควรรีบพบคุณหมอโดยด่วน สำหรับการใช้ยานั้น ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะอยู่ในดุลพินิจของคุณหมอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ในแม่ท้องที่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไปนะคะ
The Asianparent Thailand เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรกมาติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ลูกโตขึ้นแค่ไหนกันนะ ไตรมาสที่ 2 มาฟังเสียงลูกน้อย นับว่าหนึ่งวันลูกดิ้นไหมนะ และลูกดิ้นวันละกี่ครั้งด้วยแอพพลิเคชั่น The Asianparent นี่เป็นแค่ตัวอย่างกิจกรรมบนแอพพลิเคชั่นในส่วนแรก เพราะคุณแม่จะได้รับการดูแลทั้งอาหารการกินโดยการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญว่าควรทานอะไรบ้างในแต่ช่วงอายุครรภ์ ยาที่เป็นอันตรายชนิดไหนบ้างที่ไม่ควรทาน กิจกรรมใดบ้างที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เคล็ดลับการตั้งชื่อลูกอย่างไรให้เป็นมงคลทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย รวมถึงเตรียมแผนการล่วงหน้าถึงอนาคต การเตรียมคลอด การดูแลตนเองหลังคลอด ที่ครอบคลุมทุกช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการ
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://haamor.com
https://www.med.cmu.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
คนท้องกังวล ปวดขาหนีบ เป็นสัญญาณการคลอดหรือไม่?
การคลอดแบบธรรมชาติ ดีกว่าผ่าคลอดจริงหรือไม่?
คุณพ่อจ๋า ต้องอ่าน 9 การดูแลภรรยาหลังคลอด วิธีดูแลภรรยาหลังคลอด ให้แม่ดีใจ!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!