หลาย ๆ คนคงสงสัยใช่ไหมว่า โรคลําไส้แปรปรวน อาการเป็นอย่างไร สาเหตุการเกิดโรคมาจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่ การป้องกันลําไส้แปรปรวนมีอย่างไรบ้าง
โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) หรือ IBS คือ โรคทั่วไปที่ส่งผลต่อลำไส้ใหญ่ สัญญาณและอาการต่าง ๆ ของการเป็นโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่ ตะคริว ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียหรือท้องผูก หรือทั้งสองอย่าง ผู้ป่วยที่เป็นโรคลําไส้แปรปรวนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการที่รุนแรง บางคนนั้นสามารถที่จะควบคุมอาการได้โดยการควบคุมอาหาร หรือการใช้ชีวิต และความเครียด ส่วนอาการที่รุนแรงมากสามารถที่จะรักษาได้ด้วยการใช้ยา และการไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา โรคลำไส้แปรปรวนไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อลำไส้ หรือเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคลำไส้อักเสบ ข้อควรรู้ วิธีรักษา และอาการโรคลำไส้อักเสบ
โรคลําไส้แปรปรวน คืออะไร
โรคลำไส้แปรปรวน หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคไอบีเอส คือ โรคลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง แน่นท้อง ท้องผูก ท้องเสีย มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย หรืออั้นอุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเครียด การรับประทานอาหารในครอบครัวที่มีสมาชิกที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน ก็จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้มากกว่า โรคลำไส้แปรปรวนมักจะพบในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงช่วงประมาณอายุ 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
อาการของลำไส้แปรปรวน
อาการของโรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการไม่สบายท้อง แน่นท้อง ท้องเฟ้อ ท้องอืด มีแก๊สในท้องมาก ปวดท้องหลังจากการรับประทานอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผู้สลับกับท้องเสีย อุจจาระนิ่มหรือแข็งกว่าปกติ อุจจาระไม่สุด อุจจาระมีเมือกใสหรือมีสีขาวปนออกมา อั้นอุจจาระไม่อยู่ และอาการจะดีขึ้นเมื่อหลังจากขับถ่าย หรืออาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีการปวดหลัง หมดแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาจจะรู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง เป็นต้น
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการของลำไส้แปรปรวน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รักการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะทำให้อาการนั้นแย่ลงไปอีกได้ หรือถ้าผู้ป่วยพบว่าอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่ท้อง รวมไปถึงอาการของโรคโลหิตจาง เช่น รู้สึกเหนื่อย หมดแรง หัวใจเต้นแรง หายใจถี่ หรือผิวซีด คุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อดูอาการ
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่มีการทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวการ หรือตัวกระตุ้นทำให้ลำไส้เกิดอาการแปรปรวนได้ มีดังต่อไปนี้
- การหดตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ ผนังลำไส้เรียงรายไปด้วยชั้นของกล้ามเนื้อที่หดตัวขณะเคลื่อนอาหารผ่านทางเดินอาหาร การหดตัวที่แรง และยาวนานกว่าปกติอาจทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด และท้องร่วงได้ การหดตัวของลำไส้ที่อ่อนแออาจทำให้อาหารเคลื่อนตัวช้าลง และทำให้อุจจาระแข็ง และแห้งได้
- ระบบประสาท ความผิดปกติของเส้นประสาทในระบบย่อยอาหารของคุณอาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายมากกว่าปกติ สัญญาณที่ประสานกันไม่ดีระหว่างสมองกับลำไส้อาจทำให้ร่างกายของคุณตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามปกติ ในกระบวนการย่อยอาหารมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวด ท้องร่วง หรือท้องผูก
- การติดเชื้อรุนแรง โรคลำไส้แปรปรวนสามารถพัฒนาได้หลังจากเกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือไวรัส โรคลำไส้แปรปรวนอาจเกี่ยวข้องกับส่วนเกินของแบคทีเรียในลำไส้ได้
- ความเครียด ผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์เครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก มักจะเสี่ยงมีอาการของโรคลำไส้แปรปรวนมากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ ตัวอย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ซึ่งปกติจะอาศัยอยู่ในลำไส้ และมีบทบาทสำคัญในสุขภาพ การวิจัยระบุว่าจุลินทรีย์ในผู้ที่มีโรคลำไส้แปรปรวนอาจแตกต่างจากจุลินทรีย์ในคนที่มีสุขภาพดีได้
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
เนื่องจากโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่สามารถที่จะระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาระบาย ยาลดอาการปวดเกร็งโดยออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ และยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ใช่การจัดการสาเหตุของโรคโดยตรง จึงอาจจะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ได้ นอกจากการใช้ยาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญของการรักษา คือ ผู้ป่วยนั้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะทำให้อาการไม่เกิดการกำเริบ ได้แก่
- การดื่มน้ำให้มาก ๆ
- การปรับพฤติกรรมการรักประทานอาหารให้ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และมีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงไขมันสูง รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ไม่รับประทานอาหารจนอิ่มมากจนเกินไป เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดภาวะเครียด หรือความกังวลต่าง ๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย
- ไม่กลั้นถ่ายอุจจาระเอาไว้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โลหิตจาง คืออะไร โรคโลหิตจางมีอาการ สาเหตุ วิธีรักษา อย่างไรบ้าง
โรคนิ่วในไต สังเกตอย่างไร ป้องกันไว้ก่อนไตจะพัง อาการ และวิธีการป้องกัน หรือไม่
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้ หรือไม่?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : mayoclinic , pobpad , bumrungrad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!