ต่อให้เราทาครีมกันแดดที่ผิวดีแค่ไหน แต่การตากแดดนาน ๆ ก็ส่งผลให้ ผิวไหม้แดด ได้ ดังนั้นวันนี้ theAsianparent จึงนำเคล็ดลับในการดูแลผิวไหม้แดดมาแบ่งปันกันค่ะ นอกจากจะช่วยดูแลผิวไหม้แดดให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้กวนใจอีกด้วยค่ะ
ผิวไหม้แดด คืออะไร
ผิวไหม้แดดคือภาวะผิวที่เกิดการอักเสบและรู้สึกปวดแสบปวดร้อน เนื่องจากโดนแดดหรือรังสียูวี (UV) นานเกินโดยไม่ได้ป้องกันหรือป้องกันได้ไม่เพียงพอ ซึ่งบริเวณผิวที่ไหม้แดดจะแดงและผิวหนังลอกบางส่วน หรืออาจจะมีตุ่มพองใส ๆ ขึ้น โดยจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอยู่กลางแดดนานเกินไป นอกจากนี้การที่ผิวไหม้ อาจจะเกิดจากรังสียูวีเทียมได้อีกด้วย เช่น การอบผิวเพื่อให้ผิวแทน หรือจากหลอดไฟยูวีนั่นเอง
อาการของผิวไหม้แดด
- ผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง
- แสบร้อนผิวหนังหลังจากตากแดด ราว 2-6 ชั่วโมง
- อาจจะมีตุ่มพองเล็ก ๆ ใส ๆ ขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ครีมกันแดดคนท้อง ท้าแดดอย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกน้อย !
วิธีดูแลผิวไหม้แดด
- ประคบเย็น หรือแช่น้ำเย็น ความเย็นจะช่วยลดการอักเสบของผิวไหม้แดดได้
- บำรุงผิวด้วยเจลว่านหางจระเข้ สรรพคุณของวุ้นในว่านหางจระเข้ เป็นยาฆ่าเชื้อ ช่วยสมานแผล นอกจากนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อให้เจริญเติบโต ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว อย่างครีมหรือโลชั่นมีส่วนผสมของสารบำรุงผิวจากธรรมชาติที่จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว อย่างเช่น เชียบัตเตอร์ น้ำมันมะกอก และอัลมอนด์ออยล์
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวทั้งภายในและภายนอก นอกจากการทาครีมแล้วการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย ก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้อีกด้วยค่ะ
- สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ เพื่อลดการเสียดสีกับบริเวณที่ผิวไหม้แดด
- หลีกเลี่ยงการโดดแดดซ้ำ ผิวที่ไหม้แดดอยู่จะมีความไวต่อแสงมากกว่าผิวปกติ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการโดนแดดเพิ่มค่ะ
วิธีป้องกันผิวจากแดด
ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อป้องกันการถูกแดดเผา แม้ในวันที่อากาศเย็น มีเมฆมาก หรือฟ้าหลัว การได้รับแสงแดดในวันที่มีเมฆมากจะลดการโดนแดดลงประมาณ 20% แต่ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในบริเวณที่มีน้ำ คอนกรีต และทราย เพราะมันสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ซึ่งมีส่วนทำให้ผิวโดนแดดได้ นอกจากนี้ แสงยูวีจะเข้มขึ้นเมื่ออยู่ในที่สูง
- หลีกเลี่ยงแสงแดดระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น. แสงอาทิตย์จะแรงที่สุดในช่วงเวลาเหล่านี้ ดังนั้นพยายามจัดตารางกิจกรรมกลางแจ้งสำหรับช่วงเวลาอื่น หากไม่สะดวก ให้จำกัดเวลาที่คุณอยู่กลางแดด พยายามหลบแดดในร่มเงาให้ได้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงการอาบแดดและนอนบนเตียงอาบแดด หากอยากมีผิวสีแทนควรใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผิวแทนเพื่อให้ดูเป็นสีแทนจะปลอดภัยกว่า และควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปข้างนอกด้วยนะคะ
- ใช้ครีมกันแดดบ่อย ๆ และใช้ในปริมาณที่ถูกต้องไม่น้อยจนเกินไป ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 แม้ในวันที่มีเมฆมาก ผลิตภัณฑ์ต้องมีสารที่ปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลต A (UVA) และรังสีอัลตราไวโอเลต B (UVB) SPF 30 จึงจะช่วยบล็อก 97% ของรังสี UVB ไม่มีครีมกันแดดใดสามารถป้องกันรังสี UVB ของดวงอาทิตย์ได้ 100%
- ก่อนออกไปข้างนอกประมาณ 30 นาที ทาครีมกันแดดให้ทั่วผิว และผิวต้องแห้งและสะอาด ใช้ครีมกันแดดอย่างน้อย 1 ออนซ์บนใบหน้า เพื่อปกปิดทุกพื้นผิวของใบหน้า ยกเว้นเปลือกตา หากคุณใช้สเปรย์กันแดด ให้ฉีดสเปรย์ลงบนมือแล้วถูให้ซึมเข้าสู่ผิว ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการสูดดมผลิตภัณฑ์ (อย่าใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์ขณะสูบบุหรี่หรือใกล้เปลวไฟ)
- ทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ สองชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากคุณกำลังว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก หากคุณกำลังแต่งหน้าและต้องการทาครีมกันแดดซ้ำโดยไม่ได้ทาซ้ำทั้งใบหน้า ทางเลือกหนึ่งคือใช้แป้งที่มี SPF แทนเครื่องสำอาง
- ปกป้องทารกและเด็กเล็กจากการถูกแดดเผาด้วยหมวกปีกกว้างและเสื้อผ้าสบาย ๆ ที่คลุมแขนและขา เพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง
- American Academy of Pediatrics แนะนำให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 ที่ใบหน้าและหลังมือ (American Academy of Dermatology และ FDA ไม่แนะนำครีมกันแดดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน)
- สิ่งของอื่น ๆ เช่น ร่มหรือหมวกปีกกว้างสามารถให้การปกป้องนอกเหนือจากครีมกันแดด
- สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง เลือกแว่นกันแดดที่มีการป้องกัน UVA และ UVB ตรวจสอบระดับรังสียูวีบนฉลากก่อนซื้อแว่นตา เลนส์สีเข้มไม่ได้หมายถึงการป้องกันรังสียูวีที่ดีกว่าเสมอไปนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ครีมกันแดด มีประโยชน์อย่างไร เลือกครีมกันแดดแบบไหนถึงจะป้องกันรังสีได้ดี
รู้หรือไม่ ครีมทาหัวนมช่วยฟื้นฟูผิวไหม้แดดได้ !
สำหรับใครที่มีปัญหาผิวไหม้ ไม่ว่าจะมาจากแดดหรือโดนความร้อนก็ตาม ก็สามารถใช้ครีมทาหัวนม ทาลงบนผิวเพื่อบรรเทาอาการไหม้เบื้องต้นได้ เพราะในส่วนผสมของครีมทาหัวนมมีส่วนผสมของสารบำรุงผิวจากธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว อาทิ เชียบัตเตอร์ น้ำมันมะกอก และอัลมอนด์ออยล์ ซึ่งจะช่วยบำรุงผิวจากการไหม้ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับแผลผิวไหม้ที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ก่อน เพื่อปรึกษาดูว่าใช้ครีมทาหัวนมทาแผลได้หรือไม่
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- เมื่อเกิดตุ่มพองขนาดใหญ่ เกิดแผลพุพองบนใบหน้า มือ หรืออวัยวะเพศ
- พบอาการบวมอย่างรุนแรงของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
- แสดงอาการติดเชื้อ เช่น ตุ่มหนอง
- มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ไหม้แดด ปวดศีรษะ สับสน คลื่นไส้ มีไข้ หรือหนาวสั่น
- มีอาการปวดตาหรือการมองเห็นเปลี่ยนแปลง
- มีไข้สูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียส
- อาเจียน
- แผลติดเชื้อ
- วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับข้อมูลดี ๆ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ อย่าลืมนะคะ หากผิวไหม้แดดให้ดูแลด้วยการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่แกะ หรือเจาะแผลที่เป็นตุ่มพองเด็ดขาดนะคะ นอกจากนี้ใครที่รู้เคล็ดลับในการดูแลผิวไหม้แดดด้วยการใช้ครีมทาหัวนมแล้ว อย่าลืมนำเคล็ดลับดี ๆ แบบนี้ไปบอกต่อด้วยนะคะ รับรองว่าใครได้รู้ต้อง ว้าววว แน่นอน !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เราควรเริ่มใช้ครีมทาหัวนมเมื่อไหร่ ? คุณแม่ท้องจำเป็นต้องใช้หรือไม่ ?
7 ครีมทาหัวนม ยี่ห้อไหนดีและปลอดภัยกับคุณแม่และคุณลูกที่สุด มาดูกัน!
วิธีดูแลผิวแห้ง กู้ผิวให้กลับมานุ่ม ชุ่มชื้น หมดปัญหาผิวหยาบกร้าน
ที่มา : 1mayoclinic.com , 2pobpod.com