น้ำร้อนลวก
หากลูกโดน น้ำร้อนลวก คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร? ใช้ยาสีฟันทาถูกต้องหรือไม่? หรือน้ำร้อนลวกต้องแช่น้ำเย็น วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นน้ำร้อนลวก
ลูกโดนน้ำร้อนลวก
เมื่อลูกน้อยเริ่มเดินได้เข้าสู่วัยเตาะแตะ ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นและอยากสำรวจโลกอาจจะมีอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ตามมาได้ หากคุณพ่อคุณแม่คลาดสายตาแม้เพียงชั่ววินาที อุบัติเหตุหนึ่งที่มักเจอบ่อยในเด็กวัยนี้คือการโดน “ความร้อนลวก” ซึ่งหมายถึงการบาดเจ็บที่เกิดจากความร้อนไม่ว่าจะเป็นของเหลว เช่น ลูกโดนน้ำร้อนลวกหรือลูกโดนน้ำมันร้อนลวก แม้กระทั่งการโดนวัสดุที่ร้อน เช่น หม้อหรือกระทะร้อน และไฟไหม้
น้ำร้อนลวกจนพอง ปวดแสบปวดร้อน
การสัมผัสกับความร้อนจัดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างไร?
หากสัมผัสกับความร้อนเหล่านี้จะทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายลูกมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีความรุนแรงมากเท่าใดขึ้นกับอุณหภูมิความร้อนและระยะเวลาที่สัมผัส เช่น
- หากสัมผัสอุณหภูมิที่สูงเนื้อเยื่อจะถูกทำลายภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
- ความรุนแรงของการสัมผัสความร้อนยังขึ้นอยู่กับ อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ดีกรีความลึกของบาดแผล และขนาดความกว้างพื้นที่ของบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้น
หากมีการทำลายของหลอดเลือดที่รุนแรงจะทำให้เนื้อเยื่อตาย มีการไหลของสารน้ำออกจากหลอดเลือดจึงเกิดการบวมและมีการขยายตัวของหลอดเลือดจึงมีความแดงของผิวหนัง ซึ่งหากเนื้อเยื่อโดนความร้อนเป็นบริเวณกว้างจะทำให้สารน้ำไหลออกจากหลอดเลือดที่มีพยาธิสภาพมาก จนทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะช็อคได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 5 อุบัติเหตุพบบ่อยในลูกวัยเตาะแตะที่ไม่ควรมองข้ามอย่างแรง!
น้ำร้อนลวกปวดแสบปวดร้อน ลูกโดนน้ำร้อนลวก ใช้ยาสีฟันหรือแช่น้ำเย็น ได้ไหม
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นน้ำร้อนลวก
หากลูกโดนน้ำร้อนลวกควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร?
หากลูกน้ำร้อนลวกหรือความร้อนจากสิ่งอื่น ๆ ลวก สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ
- ล้างผิวหนังบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อ
- แล้วซับด้วยผ้าแห้งสะอาด
- จากนั้นจึงสังเกตว่ามีตุ่มพองใส บาดแผลหรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไปหรือไม่
โดยทั่วไปหากความร้อนที่สัมผัสมีอุณหภูมิไม่สูงมากและระยะเวลาการสัมผัสสั้น ๆ อาจทำให้มีอาการเพียงแค่ผิวหนังแดง ไม่ค่อยปวด ไม่มีลักษณะผิวที่ซีดหรือเปลี่ยนสีเป็นขาวหรือดำ ซึ่งแสดงถึงเนื้อเยื่อตาย และไม่มีตุ่มน้ำพองใส รอยแผลลักษณะนี้จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน โดยไม่มีแผลเป็น
แต่หากผิวหนังบริเวณที่สัมผัสความร้อนมีลักษณะที่ซีดหรือเปลี่ยนสีเป็นขาวหรือดำ มีตุ่มน้ำพองใสขนาดใหญ่ มีบาดแผล หรือมีอาการปวดมาก หรือน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ที่บริเวณใบหน้าหรืออวัยวะเพศ ก็ควรจะรีบพาลูกไปรับการรักษาจากคุณหมอโดยเร็วที่สุด หากมีแผลอาจใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือปิดแผลไว้ โดยไม่ต้องใส่ยาใด ๆ ก่อนไปพบคุณหมอนะคะ
วิธีรักษาโดนน้ำร้อนลวก
หากไปโรงพยาบาลคุณหมอจะทำการรักษาน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้อย่างไรบ้าง?
- คุณหมอจะทำการล้างแผลให้สะอาด
- ทายาปฏิชีวนะเฉพาะที่ ให้กับแผล
- พิจารณาตัดแต่งแผลบริเวณที่มีเนื้อตายออกเท่าที่จำเป็น
- บางครั้งอาจต้องผ่าตัดแก้ไขโดยประเมินจากลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล
นอกจากนี้ คุณหมอจะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตามลักษณะของแผลและประวัติวัคซีนของผู้ป่วย และพิจารณาให้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดตามความรุนแรงของอาการปวดอีกด้วยค่ะ
น้ำร้อนลวกใช้ยาสีฟันได้ไหม
ข้อควรระวังและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
มีความเข้าใจผิดว่าเมื่อโดนไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกควรจะใช้ ยาสีฟัน มาบีบใส่บริเวณนั้นเพื่อให้เย็นและลดอาการอักเสบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วยาสีฟันอาจยิ่งทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อแผล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ถึงไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลลูกน้อยเมื่อประสบกับปัญหาการโดนน้ำร้อนลวกหรือความร้อนอื่น ๆ ลวกในเบื้องต้นเป็นอย่างดีแล้ว สิ่งสำคัญที่หมออยากจะฝากไว้ก็คือทุกบ้านที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังอุบัติเหตุเหล่านี้ โดยจัดวางวัสดุที่มีความร้อนให้ห่างจากมือเด็กเอื้อมถึงได้ และควรให้เด็กอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น จะดีที่สุดนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกเป็นหวัด ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็ว แม่สงสารจับใจ ตัวเล็กแค่นี้ป่วยบ่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะหาย
6 คำพูดไม่ควรพูดทำร้ายลูกวัยเตาะแตะ
แบบนี้ลูกเป็น RSV หรือเปล่า ฝนตกแทบทุกวัน ลูกมีไข้ หายใจแรง เป็นไหมเนี่ย
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!