ในยุคปัจจุบัน ปัญหาของเรื่อง Sexual Harassment หรือ การคุกคามทางเพศ กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่โรงเรียน, สถานประกอบการ หรือแม้กระทั่งสังคม บ้างก็มีการใช้อำนาจของผู้ที่เหนือกว่าเอาเปรียบผู้ที่อยู่ข้างใต้ แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือการที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจ กลับมองว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่ปัญหา คิดว่าเป็นเรื่องการหยอกเล่นปกติ
เมื่อใครที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ชวนอึดอัดใจ อาจเริ่มต้นการบรรเทาปัญหาด้วยการพูดคุยหรือเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ในทางปฏิบัติจริงปัญหาของการคุกคามอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าอย่างการล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องการโดนคุกคาม และเรียนรู้วิธีป้องกันตนเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
Sexual Harassment คืออะไร?
การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ในการร่วมรัก โดยการสัมผัสร่างกายผู้อื่นโดยที่ไม่ได้รับการยินยอม ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศที่เห็นได้ชัดที่สุด การสัมผัสร่างกายหมายถึง การจับ การลูบคล้ำอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น การโอบไหล่ โอบเอว แม้กระทั่งการจับเส้นผม หรือการตีเบา ๆ บริเวณร่างกายของผู้อื่น ก็ถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศเช่นกัน
โดยปกติแล้วการคุกคามทางเพศด้วยการสัมผัสร่างกายผู้อื่นมักเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งหรือการลวนลาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการคุกคามทางเพศที่มากขึ้นไปอีก การกระทำดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของหลายประการ ดังนี้
- มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือ การพูดล้อเลียนเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ, การเล่นคำ หรือ การพูดถึงบุคคลอื่นก็นับเป็นการคุกคามทางเพศได้เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วสังคมไทยมักมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะคิดว่าเป็นเพียงการเล่นสนุกกับมุกตลกเท่านั้น ไม่ได้เป็นการสร้างความรุนแรงขนาดนั้น แต่เรื่องนี้นับเป็นการคุกคามที่แสดงออกทางวาจา (Verbal Conduct) และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจหรืออับอาย
- ข้อความแทะโลมบนอินเทอร์เน็ต ก็นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการคุกคามเช่นกัน เพราะเป็นการคุกคามทางเพศที่มาในรูปแบบการพิมพ์ข้อความแทะโลม, แสดงความเป็นเจ้าของ หรือการวิจารณ์รูปร่างก็จัดอยู่ในหมวดนี้เหมือนกัน ที่สำคัญบรรดารูปถ่ายของสาวสวยหนุ่มหล่อ ที่อยู่ในชุดว่ายน้ำแม้จะเป็นการลงในโซเชียลมีเดีย แต่ก็เป็นหนึ่งการคุกคาม ถึงแม้เจ้าตัวจะลงด้วยความสมัครใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถคอมเมนต์อย่างไรก็ได้ตามใจชอบ นอกเหนือไปกว่านั้นการแทะโลมบนอินเทอร์เน็ตยังรวมไปถึงเรื่องของการส่งรูปของลับด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันการแทะโลมบนออนไลน์ถือเป็นการคุกคามที่มาแรงที่สุดเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังมีโอกาสที่คนจะตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น และคนที่เป็นเหยื่อก็อายุน้อยลงเช่นกัน การคุกคามเช่นนี้นับเป็นการส่งข้อความในเชิงอนาจาร (Written Conduct)
- คำพูดแทะโลมให้อับอาย คือหนึ่งในการคุกคามที่ใช้คำพูด หรือการพูดจาที่ส่อไปในเชิงชู้สาวต่อคนอื่น ทั้งหมดเป็นหนึ่งในการคุกคามที่ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่สบายใจ เรื่องนี้รวมทั้งพูดจาล่วงเกิน, พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ, เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ, พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ นอกจากนั้นแล้วการพูดวิจารณ์รูปร่างของผู้อื่นก็รวมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดวิจารณ์ เช่น อ้วน ขาเบียด หรือคำพูดต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ฟังหรือถูกวิจารณ์รู้สึกอับอายยังถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศ โดยส่วนมากมักพบการคุกคามโดยใช้คำพูดในสถานศึกษาและที่ทำงาน ที่ถือว่าเป็นกิริยาท่าทาง หรือการแทะโลมทางสายตา (Visual Conduct)
- เปิดของลับให้คนอื่นดู เป็นหนึ่งในการคุกคามทางเพศอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะอวัยวะเพศนับเป็นของสงวนที่ไม่ควรเปิดเผยให้ผู้อื่นด้วยในพื้นที่สาธารณะ และไม่ควรตั้งใจหรือเจตนาที่จะเปิดให้ผู้อื่นดู ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ตั้งใจกระทำข้อนี้มักมีอาการทางจิตร่วมอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะเพื่อยั่วยวนหรืออย่างไรก็ตาม หากผู้โดนกระทำหรือเหยื่อรู้สึกอับอายก็นับเป็นการคุกคามทางเพศทั้งหมด ในกรณีนี้รวมไปถึงการพยายามสำเร็จความใคร่ในพื้นที่สาธารณะ หรือพยายามจะรุกล้ำอวัยวะเพศผู้อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในรูปแบบการคุกคามประเภทการสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct)
- แกล้งเปลื้องผ้าเหยื่อโดยไม่ยินยอม เป็นการคุกคามที่เหยื่อส่วนใหญ่โดนจะเป็นในพื้นที่โรงเรียน และมักเป็นคนที่อายุน้อยกว่าหรือดูไม่มีทางสู้ทั้งนั้นที่โดนกระทำใส่ การกลั่นแกล้งด้วยการถอดเครื่องสวมใส่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งดึงกางเกง, การถอดเสื้อ, การปลดสายเสื้อชั้นใน, การล้อเลียนสีบรา หรือแม้กระทั่งการบังคับให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สร้างความอับอาย ก็รวมอยู่ในการคุกคามที่นับเป็นหนึ่งในประเภทการสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct)
บทความน่าสนใจ : เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ คำสอนสำคัญที่ควรให้ลูกรู้จักตั้งแต่เด็ก
การคุกคามทางเพศ คือตราบาปที่เหยื่อไม่ได้ก่อ
อย่างที่บอกว่าไม่ว่าจะเป็นเพศใด ช่วงอายุไหน ก็สามารถตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศได้ทั้งนั้น และในยุคดิจิทัลที่มีโซเชียลมีเดียเป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้แบบนี้ ยิ่งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีจบสิ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตัวเอง เหยื่อส่วนใหญ่มักไม่มีการพูดถึงหรือแจ้งความเอาผิดผู้กระทำ เพราะสังคมไทยมีความเชื่อและวิธีคิดที่ประหลาด ด้วยการคิดว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายผิด โยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำว่าเป็นคนไม่ดี หรือกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming)
หลายครั้งที่เมื่อเกิดกรณีข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เช่นคดีดังของอดีตนักการเมืองที่ล่วงละเมิดหญิงสาวกว่าสิบราย หลังจากการประโคมข่าวทั้งหลายมักจะมีการคอมเมนต์ที่ตั้งคำถามว่า
- “แต่งตัวแบบไหนถึงโดนข่มขืน”
- “ทำไมถึงเอาตัวเองเข้าไปในที่เสี่ยง”
- “ทำไมถึงไม่ระวังตัวเอง”
เพราะคำถามเหล่านี้จากสังคมทำให้เหล่าผู้เสียหายหรือเหยื่อไม่กล้าแม้จะขอความช่วยเหลือ ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เพราะกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกฝังหัวว่าเหยื่อคือฝ่ายผิด รู้สึกมีบาปติดตัว โทษตัวเอง และเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา
การถูกคุกคามทางเพศจึงไม่ใช่ตราบาปของเหยื่อ และเหยื่อไม่ได้ยินยอมที่จะได้รับการคุกคามนั้น ผู้ถูกกระทำจึงเป็นเสียงส่วนน้อยและเบาบางที่ทุกคนควรให้น้ำหนัก เพื่อออกมาเผชิญหน้าและลงโทษคนทำผิด
โทษของการคุกคามทางเพศ มีอะไรบ้าง
ในโทษของการคุกคามทางเพศ อยู่ในกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับโทษของการคุกคามทางเพศไว้ดังนี้
1.แอบถ่าย
การแอบถ่ายภาพหรือคลิปในห้องน้ำ ใต้กระโปรง หรือลักษณะใดที่เป็นการละเมิดทางเพศ แม้จะไม่ได้มีการสัมผัสร่างกายโดยตรง ก็มีความผิดฐานกระทำอนาจารได้
- อนาจาร: มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 278)
- อนาจารเด็ก: (ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279 วรรคสอง)
2.ลักหลับ
การเข้าไปกระทำการล่วงเกินทางเพศ ในขณะที่ผู้อื่นนอนหลับหรือไม่มีสติรับรู้ เป็นการกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกาย โดยที่บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
- อนาจาร: มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 278)
- อนาจารเด็ก: (อายุไม่เกิน 13 ปี) (ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่) โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279 วรรคสอง)
3.วางยานอนหลับ
การใช้ยากดประสาทผสมให้ผู้อื่นกินจนทำให้สิ้นสติไป ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย จนเป็นอันตรายแก่จิตใจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และยังมีความผิดฐานปลอมปนอาหารด้วย
- ทำร้ายร่างกาย: มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 296)
- ปลอมปนอาหาร: จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 236)
4.ข่มขืน
การกระทำชำเราผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอม ด้วยการขู่เข็ญ ด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
- ข่มขืนกระทำชำเรา: มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับ 80,000-400,000 บาท (มาตรา 276 วรรคแรก)
- ชำเราเด็ก: (อายุไม่เกิน 15 ปี) จำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับ 100,000-400,000 บาท (มาตรา 277 วรรคแรก)
5.โทรมหญิงหรือชาย
การโทรมคือมีการร่วมกันกระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้อื่น โดยมีผู้ร่วมกระทำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
- โทรมหญิงหรือชาย: จำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับ 300,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 276 วรรคสาม)
- โทรมเด็ก: (อายุไม่เกิน 15 ปี) จำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 277 วรรคสาม)
6.การบันทึกภาพหรือคลิป
- ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ได้ทำการบันทึกภาพหรือคลิปไว้ เพื่อแสวงหาซึ่งประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น (มาตรา 280/1 วรรคแรก) ต้องระวางโทษหนักขึ้น 1 ใน 3 ของความผิดนั้น
- ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ (มาตรา 280/1 วรรคสอง) ต้องระวางโทษหนักขึ้น กึ่งหนึ่งของความผิดนั้น
อย่างไรก็ตามแม้ในทางกฎหมายผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษเมื่อมีการเรียกร้องเอาผิด แต่ฝ่ายเหยื่อต่างหากที่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบจิตใจและส่งผลระยะยาวได้ เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการ PTSD ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการถูกคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็ตาม
การถูก Sexual ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การถูกคุกคามทางเพศก็ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวเช่นกัน หากไม่มีการเปลี่ยนความคิดหรือให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียม ในอนาคตลูกหลานของเราก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ที่สำคัญในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะทวีคูณขึ้นมาก็เป็นได้
บทความที่น่าสนใจ :
สถิติเด็กถูกล่วงละเมิด ภัยสังคมร้อนแรงในไทย เมื่อตัวเลขพุ่งสูง
สอนลูกให้ระวังการล่วงละเมิดทางเพศ
พ่อแม่ “ต้องรู้” สิ่งที่เปลี่ยนไป เมื่อลูกถูกล่วงละเมิด
ที่มา : justicechannel.org , thairath.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!