ใกล้ถึงตรุษจีนทีไร สิ่งที่ต้องมานั่งคิดไล่ลิสดูทุกครั้ง คงหนีไม่พ้น ของไหว้เจ้าในวันตรุษจีน อย่างแน่นอน ยิ่งปีนี้ พ.ศ.2567 ดูเหมือนอาหารคาวหวานหลายอย่าง ราคาจะพุ่งขึ้นสูง ดังนั้นการคำนวณเรื่องค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับของที่จะนำมาไหว้ ก็จำเป็นจะต้องพิถีพิถันมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้เงินแต่ละบาทที่จ่ายออกไป จะถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง
วันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน
ในแต่ละปีวันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน หรือผู้ที่มีเชื้อสายจีน จะถูกกำหนดวันที่แตกต่างกันออกไป โดยมากมักจะถูกอ้างอิง หรือกำหนดจากการคำนวณตำแหน่งการเคลื่อนย้ายของสุริยคติ และจันทรคติ จึงทำให้แต่ละปีวันตรุษจีน มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ ครั้งของการเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนนั่นก็คือ การเตรียมของไหว้อย่างพิถีพิถัน รวมถึงประเพณีความเชื่อต่าง ๆ ทั้งข้อห้าม และสิ่งที่ควรทำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ประวัติวันตรุษจีน ตำนานความเชื่อโบราณ และความสำคัญ
3 วัน หัวใจหลักของวันตรุษจีน
อย่างที่เราหลายคนมักจะได้ยินในเรื่องของ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว สำหรับวันเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ในรูปแบบของชาวจีน เรียกว่า 3 วันนี้ จะเป็นหัวใจหลักในการก้าวข้ามเข้าสู่ปีใหม่อย่างเต็มตัว และทุก ๆ ครอบครัว ก็จะให้ความสำคัญ และปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2567 นี้ ทั้ง 3 วันนี้ได้ถูกกำหนดเอาไว้ดังนี้
ในปี 2567 นี้ “วันจ่าย” จะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันที่คนจีน และคนไทยเชื้อสายจีน ต่างออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารคาว-หวาน ซื้อเครื่องไหว้บูชาต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันไหว้ในวันถัดไป
และแน่นอนว่า ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ก็จะเป็น “วันไหว้” ในวันนี้ทุก ๆ ครอบครัว จะเริ่มไหว้ตั้งแต่เช้าตรู่ ตลอดจนข้ามเข้าสู่วันใหม่กันเลยทีเดียว หลายคนคงคิดว่า แล้วไหว้ทั้งวัน จำเป็นจะต้องไหว้อะไรบ้าง ทำไมไหว้ยาวนานขนาดนั้น เราจะแจกแจงกันในหัวข้อถัดไปค่ะ
“วันเที่ยว” หรือเรียกว่า “วันพักผ่อน” ก็ได้เช่นกัน ในปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กรุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีน จะพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ หลังจากตระเวนไหว้สารพัดไหว้มาตลอดทั้งวันทั้งคืนในวันก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่า วันนี้จะงดทำกิจกรรมงานบ้าน การทำความสะอาด และเป็นที่น่าเสียดายที่ปีนี้ วันตรุษจีน ไม่ได้ถูกให้เป็นวันหยุดราชการเหมือนปีก่อน ดังนั้น จัดสรรเวลาให้ดี แล้วพักผ่อนกันให้เต็มที่ในวันปีใหม่แบบนี้นะคะ
ของไหว้เจ้าในวันตรุษจีน “วันจ่าย”
เดิมทีเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน จะเป็นช่วงที่ชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือผู้ที่มีความเชื่อในแบบจีน ต่างออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในวันจ่าย ที่เราต้องซื้อทั้งอาหารคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องบูชาต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่า จะนำมาซึ่งความเป็นมงคลในการก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่ แล้วของที่จะต้องใช้ไหว้เจ้าในวันตรุษจีนนั้น จะต้องมีอะไรบ้าง และอะไรไม่ควรมี
ของไหว้วันตรุษจีน และความหมาย
1. อาหารคาวไหว้วันตรุษจีน
- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จำเป็นจะต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
- เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
- ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
- ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
- เป๋าฮื้อ หมายถึง มีความเชื่อว่าเป็นอาหารสิริมงคล เพราะมีความหมายช่วยห่อความมั่งคั่งให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมกินในโอกาสสำคัญ
- ปู หมายถึง การสอบได้ตำแหน่งที่ดี
- กุ้งมังกร, กุ้ง หมายถึง ความมีอำนาจวาสนา ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข
- บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
- ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
2. การแบ่งไหว้ของคาว 3 อย่าง หรือ 5 อย่าง
เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดกำลังในการไหว้ เราจึงสามารถกำหนดชุดการไหว้เบื้องต้นได้เป็น ซาแซ หรือ โหงวแซ หรือง่าย ๆ คือ 3 หรือ 5 อย่าง ต่างก็เป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ไหว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องดูที่กำลังความสามารถ การไหว้เจ้า การทำบุญต่าง ๆ หากทำแล้ว ทำให้ตัวเองมีปัญหาในอนาคต หรือเกิดความขัดสนในเรื่องค่าใช้จ่าย ก็คงไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ดังนั้น หากงบน้อย ก็จัดชุดเล็กไปก่อน ปีไหนมีพร้อม ค่อยจัดชุดใหญ่ไฟกระพริบกันอีกที
- ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย
- หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ)
- เป็ด (พร้อมเครื่องใน)
- ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
- ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย
- หมู (บะแซหรือบะแซะ)
- เป็ด (พร้อมเครื่องใน)
- ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
- ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก)
- ตับ
3. อาหารหวาน ขนมทั่วไป ไหว้วันตรุษจีน
- ซาลาเปา (หมี่ก้วย หรือเหมียนเปา)
- ซาลาเปาที่ไม่มีไส้ หรือ หมั่นโถว นิยมทำให้ด้านบนแตกเหมือนดอกไม้บาน แล้วแต้มจุดแดง หรือปั้มตัวหนังสือสีแดง เขียนว่า “ฮก” ที่แปลว่า “โชคดี”
- ซาลาเปาแบบมีไส้ หรือ “เต้าซา” ซาลาเปาตัวนี้จะทำลักษณะกลมมน แล้วปั๊มตัวหนังสือว่า “เฮง” ที่แปลว่า “โชคดี”
- ซาลาเปารูปท้อ หรือ “ซิ่วท้อ” เป็นซาลาเปาที่ถูกทำขึ้นมาพิเศษ เชื่อกันว่าเป็นผลไม้จากสวรรค์ มักจะใช้ในงานมงคล ไม่ว่าจะเป็นงานปีใหม่ หรืองานวันเกิด เพราะเชื่อว่า จะให้ความหมายถึงการมีอายุที่ยืนยาว
- ขนมไข่ (หนึ่งกอ)
- กาก๊วย หรือ ฮวกก๊วย เป็นขนมที่มักจะใช้ในงานมงคล ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงงานปีใหม่แบบตรุษจีนนี้ด้วยเช่นกัน โดยบนหน้าขนม จะปั๊มตัวหนังสือว่า “ฮวดไช้” แปลว่า “สมปรารถนา” และมีคำที่อยู่รอบนอกว่า “เฮง” ล้อมรอบ
- คักท้อก้วย มีไส้ข้าว ไส้กุยช่าย ไส้ผัดผักกะหล่ำ ไส้ถั่ว นวดกับแป้งผสมสีแดง เป็นสีนำโชค ใช้ไหว้เจ้าที่ หรือไหว้บรรพบุรุษ
- ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
- จับกิ้ม (แต่เหลียง) หรือที่คนไทย เรียกว่า “ขนมจับอัน” ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
- เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
- ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
- โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
- ตั่วเปี้ย คนไทยเรีกว่า “ขนมเปี๊ยะ” ถ้าเป็นแบบเจ เรียกว่า “เจเปี้ย” มีไส้มังสวิรัติ เช่น ไส้เต้าซา แบบชอ เรียกว่า “ชอเปี้ย” ใส่มันหมู ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกอย่าง
- ทึ้งถะ คือ เจดีย์น้ำตาล ซึ่งต้องมีทึ้งไซ หรือสิงห์น้ำตาล มีไว้เพื่ออารักขาเจดีย์ ใช้ไหว้เทพยดาฟ้าดิน ในวันที่ 9 เดือน 1 ของทุกปีและสามรถใช้ไหว้เจ้าแม่กวนอิมในวันไหว้พระจันทร์ได้
- โหงวก้วย -โหงวอั้ง หรือขนมลูกหลาน ใช้ไหว้คนตายในงานศพเท่านั้น ทำจากแป้งข้าวเจ้า ทั้งแบบเกลี้ยง และแบบแต่งถั่วดำ กินไม่อร่อย แต่ใช้ในการทำพิธี
- ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
- น้ำตาล นำน้ำตาลมาใส่ถุง ติดกระดาษแดง สามารถใช้ไหว้ได้ทุกอย่างเช่นกัน
4. ผลไม้ไหว้เจ้า ในวันตรุษจีน
- ส้ม คำจีนเรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
- องุ่น คำจีนเรียกว่า “พู่ท้อ” หมายถึง งอกงาม
- สับปะรด คำจีนเรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
- กล้วย คำจีนเรียกว่า “เฮียงเจีย” หรือ “ เกงเจีย ” มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล
5. กระดาษเงินกระดาษทอง ไหว้วันตรุษจีน
คนจีนยังมีความเชื่อถึงโลกหลังความตายเป็นอย่างมาก และการที่ลูกหลานจะส่งเงินทองไปให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นับเป็นการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง เพื่อให้เหล่าบรรพบุรุษได้นำไปใช้ในอีกภพภูมิหนึ่ง จะได้ไม่ลำบาก และมีกินมีใช้ โดยจะเรียกพิธีนี้ว่า “อิมกัง” การเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้ พร้อมกับการไหว้เจ้าเพื่อบรรพบุรุษนั้น เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุข ความเจริญให้กับลูกหลาน
- กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงินกระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัน” เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดดีใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
- กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงินกระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานจ้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
- กิมเต้า หรือ งึ้งเต้า หรือถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
- กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย
- ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้พับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็นเรือ เรียกว่า “เคี้ยวเท่าซี” เชื่อกันว่าการพับเรือ จะได้ ้มูลค่าสูงกว่าการพับอย่างอื่นใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้คนตาย โดยเฉพาะพิธีทำกงเต๊ก ลูกหลานต้องพับค้อซี ให้มากที่สุด
- อิมกังจัวยี่ คือแบงก์กงเต็กนั่นเอง
- อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทาง ไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย
- เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า คล้ายกับที่คนไทยถวายผ้าห่มพระพุทธรูป มีการทำของเจ้าหลายองค์ เช่น ชุดของเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม พระพุทธ
- ตั้วกิม เป็นกระดาษเงินกระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตาย การเผากระดาษเงินกระดาษทองจะต้องทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ทุกคนได้เส้นไหว้เสร็จ ก็จะทำการ “เหี่ยม” หรือจบเหนือศีรษะ ระหว่างนี้ให้ทำการอธิฐานขอพรไปด้วย แล้วจึงนำไปเผา เมื่อไฟมอดแล้วจึงไหว้ลา เป็นการเสร็จพิธี
วิธีไหว้ ขั้นตอนการไหว้ในวันตรุษจีน “วันไหว้”
1. ไหว้เจ้าที่
ในช่วงเช้าของวันไหว้ โดยจะเริ่มต้นด้วยการไหว้เจ้าที่ในบ้าน หรือตี่จู้ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยการไหว้ สามารถไหว้ได้ตั้งแต่เช้า แต่ไม่ให้เกิน 08:00 น. โดยการไหว้ตี่จู้ หรือตีจู้เอี๊ยะ จำเป็นจะต้องจุดธูปอย่างละ 1 ดอก แล้วปักที่สองข้างประตูหน้าบ้าน เพื่อเป็นการเบิกทาง ให้กับเหล่าวิญญาณบรรพบุรุษ ส่วนธูปที่ไหว้ตี่จู้ ให้ใช้ 5 ดอกค่ะ
2. ไหว้บรรพบุรุษ
หลังจากที่ไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นการเบิกทางแล้ว ให้ทำการไหว้วิญญาณบรรพบุรุษต่อ โดยจะทำการไหว้ก่อนเวลา 11:00 น. และไม่ให้เกิน 12:00 น. เพราะการไหว้ช่วงเที่ยง หรือหลังเที่ยงไปแล้ว คนจีนจะเชื่อว่า ไม่ทันกิน ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จช้ากว่าคนอื่นเขา ดังนั้นยิ่งไหว้เร็วยิ่งดีค่ะ
3. ไหว้สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อน
การไหว้สัมภเวสีนี้ เป็นเสมือนการทำทานอย่างหนึ่ง แต่ควรไหว้ในพ้นหลังคาบ้าน หรือพื้นที่บริเวณบ้าน เช่นหากบ้านคุณมีรั้ว ให้นำของไหว้ไว้นอกรั้งบ้าน หากเป็นพื้นที่บ้านทั่วไป ให้ไหว้พ้นบริเวณหลังคาบ้าน หรือพื้นที่บ้าน และเมื่อไหว้เสร็จ ให้ทำการโปรยเกลือบริเวณนั้นโดยรอบ และจุดประทัด เพื่อไล่ไม่ให้มีสิ่งไม่ดีสั่งสมอยู่บริเวณนั้น ๆ ให้ทำการไหว้ช่วงสาย หลังจากบ่ายสองไปแล้ว
4. ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ต้อนรับวันปีใหม่
สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนโดยมาก มักจะตระเวนไหว้เจ้า ตามศาลเจ้าต่าง ๆ 5 วัด 9 วัด แล้วแต่จะจัดสรร โดยในช่วงเที่ยงคืน หรือ 23:01 น. มักจะไปจบการไหว้ที่ศาลเจ้าที่มีองค์เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยอยู่ที่นั่น แต่ในยุคโควิดแบบนี้ จะให้ไปอัดแน่นกันตามวัด ตามศาลเจ้าก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน ดังนั้น คุณสามารถทำการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยได้ที่บ้านของคุณเอง ปฎิบัติดังนี้
- โดยจัดเครื่องบูชาเอาไว้กลางแจ้ง
- โดยให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
- หากมีรูปปั้นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย หรือรูป สามารถนำมาวางไว้ที่โต๊ะบูชา หากไม่มี ช่วงที่บูชา สามารถเปิดรูปจากโทรศัพท์มือถือเพื่อทำการอธิษฐานก็ได้เช่นกัน
- เครื่องบูชาต่าง ๆ ตามกำลังทรัพย์
- ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย (อันนี้สำคัญมากค่ะ) โดยในชุดจะมี หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด กิมหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด เทียบเชิญแดง 1 แผ่น กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว)
- หากต้องการไหว้เรียกทรัพย์เป็นเคล็ดเพิ่มเติม ให้เตรียมกระเป๋าสตางค์ใบใหม่ไว้ด้วย หรือสมุดบัญชีเงินฝาก เหรียญ ธนบัตร สำหรับเก็บไว้เป็นเงินขวัญถุง
*** เคล็ดลับการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยะ ***
- ผู้ที่ไหว้คนแรก ห้ามเกิดปีชง ห้ามป่วย เอาเป็นว่า เอาคนดวงเฮงเริ่มไหว้ประเดิมก่อน ส่วนคนปีชง ให้ไปไหว้หลังสุดเพื่อน เพื่อเป็นการถือเคล็ดให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ ใช้ดวงคนปีเฮง ขึ้นเป็นจ่าฝูงนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 60 เมนูจากของไหว้เจ้า สร้างสรรค์เมนูอร่อย จากของไหว้วันตรุษจีน !
อั่งเปา แจกวันไหนนะ?
เรื่องของอั่งเปา ไม่เข้าใครออกใคร หลายคนเรียกว่านั่งรับวันรอให้ถึงวันที่จะได้รับอั่งเปากันเลยทีเดียว แต่คราวนี้ต้องมาถามก่อนว่า ใครกันที่จะได้รับอั่งเปา แล้วใครกันที่จะต้องเป็นคนให้อั่งเปา เอาจริง ๆ คือ ใครที่พร้อมให้ ก็เตรียมซองไว้แจกเด็ก ๆ นั่นแหละจ๊า… แต่ถ้าตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ใครที่แต่งงานออกเรือนไปแล้ว คน ๆ นั้นก็จะต้องเปลี่ยนจากผู้รับ เป็นผู้ให้กันแล้วล่ะ
บางครอบครัวก็จะรู้สึกว่าใครที่เริ่มทำงานหาเงินได้ ก็ควรจะใส่ซองให้กับคนที่ยังไม่สามารถหาเงินได้เอง อันนี้ก็ทำได้เช่นกัน ไม่ติดขัดอะไร ถือซะว่า เป็นการอวยพรกันดีกว่า
มาเข้าเรื่องกันต่อว่า อั่งเปา หรือเจ้าซองสีแดง ๆ เขาแจกกันวันไหนนะ โดยปกติแล้วตามธรรมเนียมชาวจีน ก็มักจะแจกซองแดง หรือถุงแดงให้กับเด็ก ๆ ในช่วงวันไหว้ เป็นเพราะวันไหว้นั้น ทุกคนมักจะมารวมตัวกันไหว้บรรพบุรุษ ดังนั้นทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ก็จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงเหมาะกับการแจกซองมงคล เรียกว่าเป็นขวัญถุงให้กับพวกเด็ก ๆ ได้เฮกันนั่นเอง
และแน่นอนว่า จะให้กันง่าย ๆ ก็ดูจะไม่ดี งั้นให้พูดอะไรซักหน่อยก่อนมารับซองมหาเฮงกัน เหล่าเด็ก ๆ ทั้งหลาย ก็มักจะพูดกันว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ซึ่งมีความหมายว่า “คิดสิ่งใด ก็ขอให้สมความปรารถนานะครับ/คะ” นั่นเอง
ถ้ายังไงขอให้ทุกบ้าน รวย ๆ เฮง ๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง ตลอดปีตลอดไป สุขสันต์วันตรุษจีน 2567 นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประวัติวันตรุษจีน ตำนานความเชื่อโบราณ และความสำคัญ
เมนูไหว้เจ้า จากหม้อทอดไร้น้ำมัน ทำได้ง่าย ๆ เมนูวันตรุษจีน
ที่มา : 1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!