ระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า อายุครรภ์ นับยังไง ตอนนี้ตัวของคุณแม่กำลังท้องอยู่ในไตรมาสไหน และความสำคัญของแต่ละไตรมาสที่แม่ต้องรู้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และการดูแลตนเองที่ถูกต้อง
ไตรมาสคืออะไร สิ่งสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้
คำว่า ไตรมาส เป็นคำที่ใช้สำหรับแบ่งช่วงเวลาทุก 3 เดือนของแต่ละปี ส่วนมากจะนำมาใช้ในภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเงิน โดยใน 1 ปี มี 12 เดือน จึงสามารถแบ่งออกไปเป็น 4 ไตรมาสด้วยกัน แต่สำหรับการตั้งครรภ์นั้นจะนับไม่เหมือนกัน เพราะจะมีช่วงเวลาอุ้มท้องเพียง 9 เดือน จึงมีการแบ่งไตรมาสออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ดังนี้
- ไตรมาสที่1 เริ่มนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 14
- ไตรมาสที่2 นับจากสัปดาห์ที่ 15 ถึงสัปดาห์ที่ 28
- ไตรมาสที่3 นับจากสัปดาห์ที่ 29 ถึงสัปดาห์ที่ 42
อายุครรภ์ นับเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
คนท้องต้องใส่ใจในทุกสัปดาห์ ทำให้การนับอายุครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วจะนับเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งดีต่อการติดตามอาการของคนท้องมากกว่า โดยทั่วไปแล้ว การนับอายุครรภ์ก็เพื่อคำนวณวันคลอดไว้คร่าว ๆ และการนับอายุครรภ์ที่แม่นยำ ต้องจำให้ได้ว่า ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายตอนไหน อย่างไรก็ตาม การคำนวณวันคลอดจากการนับอายุครรภ์นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น กำหนดคลอดแต่ละคน ขึ้นอยู่กับร่างกายของแม่ท้องเอง
ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ สูติแพทย์ อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้คลอดเร็ว คลอดช้า คลอดก่อนกำหนด ว่า มีปัจจัยหลายอย่างมากำหนดวันเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งโอกาสที่จะคลอดจริงตรงกับวันครบกำหนดคลอดที่คำนวณไว้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น เช่น
ครรภ์แรก หรือ ครรภ์หลัง ธรรมชาติของครรภ์แรกจะมีการเจ็บครรภ์ช้า ปากมดลูกแข็ง อยู่สูงและไม่พร้อมสำหรับการคลอด แต่ถ้าครรภ์หลัง ปากมดลูกเคยเปิดผ่านการคลอดมาก่อน ปากมดลูกนิ่ม และอยู่ต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะคลอดง่าย คลอดเร็วกว่า
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝากครรภ์ที่ไหนดี 2566 ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ?
วิดีโอจาก : Mali คลับคุณแม่มือใหม่
การนับอายุครรภ์แต่ละไตรมาส และความสำคัญ
อายุครรภ์ไตรมาสแรก นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-14
คนท้องไตรมาสแรก ร่างกายจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ทำให้คุณแม่มีอาการดังนี้
- แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน : สัญญาณการตั้งครรภ์แรก ๆ ของร่างกาย คนท้องมักจะมีอาการแพ้ท้อง หลังจากการตั้งครรภ์ประมาณ 1 เดือน
- ปวดเมื่อยล้าตามร่างกาย : ระยะแรกของการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้คุณแม่อยากพักผ่อน รู้สึกเพลียได้ง่าย จนไปถึงอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว
- ไวต่อกลิ่น : ช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือช่วงที่กำลังมีประจำเดือน สาว ๆ มักจะได้กลิ่นง่ายเป็นพิเศษ คนท้องก็เช่นกัน จะมีประสาทสัมผัสไวต่อกลิ่น ทำให้เหม็นอาหารบางชนิด บางคนถึงกับเหม็นสามีด้วย
- ร่างกายเปลี่ยนแปลง : หากสังเกตร่างกายตัวเองจะรู้สึกได้ว่า หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น เริ่มเจ็บเหมือนกับช่วงก่อนมีประจำเดือน ทั้งยังปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะร่างกายมีปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น
วิธีดูแลตัวเองของคนท้องไตรมาสแรก
- พักผ่อนเยอะ ๆ วันละ 8-10 ชั่วโมง หรือหาช่วงเวลางีบหลับในตอนกลางวัน
- ทำงานบ้านเบา ๆ หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดหนัก ๆ หรืองานบ้านที่ต้องใช้สารเคมี เลี่ยงการยกของหนัก หรืองานที่ต้องยืนนาน ๆ
- หากมีอาการแพ้ท้อง แนะนำให้ดื่มน้ำขิง
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีน
- ถ้ามีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์
อายุครรภ์ไตรมาสที่สอง นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 15-28
ในไตรมาสที่สอง ร่างกายของแม่จะเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น อาการแพ้ท้องจะทุเลาลง แม่บางคนเริ่มมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะร่างกายแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หากไม่มีความเสี่ยง คุณหมอก็จะอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกจวบจนไตรมาสสุดท้าย สำหรับอาการของแม่ท้องไตรมาสที่สอง มักจะมีอาการดังนี้
- หน้าท้องขยาย : มดลูกของแม่ท้องต้องขยายตัวเพื่อรองรับทารกในครรภ์ตัวน้อย ที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วงไตรมาสที่สองนี้ ขนาดของหน้าอกจะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนขึ้น ควรหาชุดชั้นในคนท้องมาใส่ได้แล้ว
- สีผิวเปลี่ยน สิวขึ้น มีฝ้า : แม่บางคนจะมีสีผิวที่เปลี่ยนไป เพราะฮอร์โมนของคนท้องทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์เม็ดสี เกิดเป็นกระ ฝ้า ได้ง่าย ๆ แม่ท้องบางรายเจอฤทธิ์ของฮอร์โมนเข้าไป สิวขึ้นตั้งแต่เริ่มท้องในไตรมาสแรก ดังนั้น ต้องระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย ทั้งยังต้องเลือกที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง และต้องทาครีมกันแดดทุกวัน
- เลือดกำเดาออกได้ง่าย : ร่างกายผลิตเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมของเส้นเลือดและเกิดเลือดออกได้ง่าย ๆ ทำให้เลือดกำเดาออกได้ง่าย หรือมีเลือดออกตามไรฟัน แปรงฟันแล้วเลือดออกบ่อย ๆ
- ตกขาวมีมากขึ้น : แม่ท้องมักจะมีตกขาวเกิดขึ้น มีน้ำใส ๆ หรือตกขาวสีน้ำตาล แต่หากตกขาวมีสีอื่น กลิ่นแรง และคัน ควรพบแพทย์
วิธีดูแลตัวเองของคนท้องไตรมาสที่สอง
- ควรออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือลองเล่นโยคะคนท้องดูก็ได้
- น้ำหนักแม่มากขึ้นแล้ว ควรเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ใช้รองเท้าผ้าใบ หรือสวมรองเท้าส้นเตี้ยจะปลอดภัยกว่า ที่สำคัญ การเลือกรองเท้าควรเลือกสวมใส่ให้พอดี เดินแล้วเกาะกับพื้นดี เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
- แม่อาจจะหิวบ่อย หิวมากขึ้น เพราะอาการแพ้ท้องลดลง แต่ก็ต้องเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีแคลเซียม อาหารที่โฟเลตสูง หรืออาหารที่มีธาตุเหล็ก
- แปรงฟันให้สะอาด เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ และควรไปพบหมอฟันเพื่อตรวจเช็กสุขภาพของช่องปาก
- ปรึกษาคุณหมอเรื่องนับลูกดิ้น
อายุครรภ์ไตรมาสที่สาม นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 29-42
ช่วงใกล้คลอด ท้องแก่ หรือในไตรมาสที่สาม มักจะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายมากมาย เช่น ปวดหลัง เจ็บสะโพก เจ็บหัวหน่าว เป็นตะคริว ท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวาร สำหรับอาการสำคัญของคนท้องไตรมาสสุดท้าย มีดังนี้
- ท้องใหญ่ขึ้น ปวดหลัง ปวดสะโพก : ท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดอาการมากมาย โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ควรออกกำลังกายเบา ๆ ยืดตัวนิดหน่อยเพื่อผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการยืน นั่ง หรือเดินนาน ๆ และค่อย ๆ เปลี่ยนอิริยาบถ
- คนท้องมักจะมีอาการหายใจเร็ว หายใจไม่อิ่ม : ท้องใหญ่ขนาดนี้ ทำให้คนท้องเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก และพยายามหายใจเพื่อดึงเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายมาก ๆ
- กรดไหลย้อนมาเยือน : แม่บางคนมีอาการกรดไหลย้อนตั้งแต่ช่วงปลาย ๆ ของไตรมาสที่สอง เพราะทารกในครรภ์ตัวใหญ่ขึ้น การย่อยลำบากขึ้น ดังนั้น ควรป้องกันด้วยการไม่ทานอาหารครั้งละเยอะ ๆ ให้เน้นหลายมื้อหน่อย แต่มื้อละน้อย ๆ เลี่ยงอาหารมัน ลดเผ็ด ลดเปรี้ยว ที่สำคัญ ห้ามนอนหลังจากกินอาหารทันที
- ท้องผูกและริดสีดวงทวาร : อีกหนึ่งอาการสำคัญของคนท้องคือ ท้องผูกและริดสีดวงทวาร รวมถึงอาการเส้นเลือดขอด ที่เกิดจากร่างกายของคนท้องฉีดสูบเลือดเพิ่มขึ้น มีวิธีป้องกันง่าย ๆ เช่น ออกกำลังกายด้วยการยกขา เลือกทานผักผลไม้ เน้นไฟเบอร์สูง เพื่อทำให้ขับถ่ายได้ง่าย แล้วอย่าลืมดื่มน้ำบ่อย ๆ
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น : ลูกเริ่มกลับหัวแล้วเคลื่อนตัวสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกกดทับกระเพาะปัสสาวะ บางคนไอ จาม แล้วเกิดปัสสาวะเล็ดด้วย
วิธีดูแลตัวเองของคนท้องไตรมาสสุดท้าย
- ใกล้คลอดจะง่วงนอนบ่อย หากเป็นไปได้ ให้งีบหลับระหว่างวัน เพราะแม่ท้องมักจะลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ตอนกลางคืน จึงนอนหลับยาว ๆ ได้ยากขึ้น และควรหาหมอนมารองตามร่างกาย จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ออกกำลังกายเฉพาะส่วน เพื่อลดอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดสะโพก
- เลือกชุดชั้นในที่เหมาะสม เนื่องจากแม่บางคนน้ำนมเริ่มซึมออกมาแล้ว
- ฝึกการหายใจเพื่อเตรียมคลอดได้แล้ว
- มือบวม เท้าบวม จะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ต้องสังเกตว่า ถ้ากดบริเวณที่บวมแล้วบุ๋มลงไปเลย ให้ปรึกษาแพทย์
- ระวังเรื่องเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และอาการครรภ์เป็นพิษ
- อาการท้องแข็ง และเจ็บเตือน จะเกิดขึ้นได้บ่อย
- สังเกตร่างกายของตัวเองให้ดี แยกให้ออกระหว่าง เจ็บเตือน เจ็บจริง หากน้ำเดิน น้ำคร่ำแตก หรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปโรงพยาบาล
รู้กันไปแล้วว่า อายุครรภ์ นับยังไง สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการนับอายุครรภ์คือ การฝากครรภ์ให้เร็ว เพื่อให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยร่างกายแม่อย่างละเอียด และอย่าลืมไปพบคุณหมอในทุกครั้งตามนัด ที่สำคัญ ต้องดูแลตัวเองให้ดีตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ทานวิตามินบำรุงที่หมอให้ อยู่ให้ห่างบุหรี่ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด
มีข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ลองไปโพสต์คำถามใน แอปพลิเคชัน theAsianparent แล้วรอรับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือคุณพ่อคุณแม่มากประสบการณ์ท่านอื่น ๆ อีกกว่า 5 แสนคน !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ เตรียมพร้อมรับเจ้าตัวน้อย คำแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่!
คลายข้อสงสัย วิธีนับลูกดิ้น นับยังไง ดิ้นแบบไหนที่บ่งบอกว่าลูกปลอดภัย
ฝากครรภ์ครั้งแรก คุณแม่เตรียมตัวอย่างไร ควรถามอะไรคุณหมอบ้าง ?
ที่มาข้อมูล : paolohospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!