โลกส่วนตัวสูง ไม่ใช่โรคแต่เพียงลักษณะนิสัยด้านลบ ซึ่งพัฒนามาจากนิสัยคนมีโลกส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติใด ๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรระวังในเด็กคือ ไม่ให้ระดับความส่วนตัวของเด็กมีมากเกินกว่าปกติ เพราะจะส่งผลต่อเด็กเมื่อเขาเติบโตได้ ส่วนวิธีแก้ไขนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องพึ่งทั้งความเข้าใจในความคิดของลูก และใช้เวลาแก้ไขค่อนข้างนานอย่างต่อเนื่องด้วย ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก
มีโลกส่วนตัวคือความผิดปกติหรือไม่
สำหรับในทุกวัยนั้น การมีโลกส่วนตัวถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงนิสัยหนึ่งที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปเท่านั้น คล้ายกับนิสัย Introvert ที่ชอบใช้เวลาอยู่กับตนเองมากกว่า ตรงกันข้ามกับคนนิสัย Extrovert ที่ชอบออกไปพบปะกับผู้อื่นมากกว่าจะใช้เวลากับตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนิสัยเท่านั้น ไม่ใช่โรคอย่างที่บางคนเข้าใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ยังมีผู้คนคิดว่าผิดปกติอยู่ ดังนั้นหากเราเห็นว่าเด็ก ๆ มีโลกส่วนตัวจึงเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเขามีอายุมากขึ้นและต้องการมีพื้นที่ของตนเอง จนบางครั้งความไม่เข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องนี้อาจทำให้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของลูกจนเกิดปัญหาได้ ในจุดนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคารพสิทธิของลูกด้วยนั่นเอง
ส่วนในจุดที่อาจกลายเป็นปัญหา คือ “โลกส่วนตัวสูง” มากกว่า นั่นคือการที่ลูกมีโลกส่วนตัว และเกิดการปิดกั้นผู้อื่นมากกว่าปกติ ส่งผลกระทบให้เข้าสังคมไม่เป็น มีปัญหาในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น และไม่ชอบให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของตนเองมากกว่าคนที่เป็น Intovert ทั่ว ๆ ไป ในจุดนี้อาจต้องแก้ไขให้ลูกสามารถเข้าสังคมได้มากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยได้ แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องวิธีการ เนื่องจากมีผลต่อความคิด ความรู้สึกของตัวเด็กค่อนข้างมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความเป็นส่วนตัว ของเด็ก สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
วิดีโอจาก : THE STANDARD
การที่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเด็กได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้ในทันที ปัญหาส่วนมากจะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังเล็กมาจากตัวของผู้ปกครองเอง ที่ไม่ได้พาเด็กไปพบปะผู้คน ทำให้เด็กไม่มีสังคม ไม่รู้จักการเข้าหาผู้อื่น จนเกิดเป็นปัญหานี้ได้ และด้วยโลกส่วนตัวสูงเป็นการพัฒนามาจากการมีโลกส่วนตัว แรงกระตุ้นจึงมีอยู่หลายแบบ ได้แก่
- พลาดโอกาสทางสังคม : นิสัยการมีโลกส่วนตัวที่สูงมากเกินไปเกิดได้ในช่วงเด็กที่ไม่ได้ออกไปเจอผู้คนภายนอก เช่น ไม่ได้เล่นกับเด็กคนอื่น ใช้เวลาส่วนมากอยู่ภายในบ้าน มองทุกอย่างผ่านหน้าจอทีวี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เด็กโตขึ้นมาโดยไม่มีทักษะการเข้าสังคม ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงจนเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวไปโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นคนที่มีโรคส่วนตัวสูงในที่สุด
- ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ : คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่ค่อยมีเวลาให้เท่าไหร่นัก ด้วยการทำงานหนัก จนอาจพลาดเรื่องนี้ไป ในหลายครั้งอาจให้ลูกใช้เวลาไปกับการอยู่กับตนเอง หรือเล่นโทรศัพท์ระหว่างที่พ่อแม่ไม่ว่าง สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ ต่อเนื่อง จนสุดท้ายคนในครอบครัวก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ เด็กก็จะให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทำให้มีโลกส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณพ่อคุณแม่ยิ่งปล่อยไว้ จะยิ่งเกิดความเหินห่างมากขึ้น และกลายเป็นเด็กที่มีโรคส่วนตัวสูง
- การไม่ได้รับการปรับตัว : เด็กบางคนอาจมีนิสัยชอบทำอะไรคนเดียวมากกว่า นั่นหมายถึงพวกเขาไม่ได้ต่อต้านการทำกิจกรรมกับผู้อื่น แต่หากเลือกได้ก็อยากทำคนเดียวซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากเด็ก ๆ อยู่ในลักษณะนิสัยดังกล่าว และไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้การเข้าสังคมเบื้องต้น หรือผู้ปกครองไม่ได้ผลักดันให้ลูกเข้าสังคมบ้าง แน่นอนว่าปัญหาโลกส่วนตัวสูงก็จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั่นเอง
- ความไม่มั่นใจในตนเอง : ปัญหาความไม่มั่นใจในตนเองสามารถเกิดขึ้นได้หลายช่วงวัยส่วนมากคือ วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น และหากแก้ไขไม่ได้อาจต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ด้วยความไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ ไปจนถึงสถานะต่าง ๆ ของตนเอง ทำให้ไม่อยากเข้าสังคมนั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่ายโลกส่วนตัวสูง
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า หากลูกหวงพื้นที่ส่วนตัวไม่ใช่เรื่องแปลก เหมือนกับที่ตัวของเราเองตอนเด็กหรือวัยรุ่นที่ไม่ชอบให้ใครยุ่งกับของส่วนตัว หรือค้นพื้นที่ส่วนตัวก่อนได้รับอนุญาต ดังนั้นอาการ โลกส่วนตัวสูง ที่ถือว่าเป็นปัญหาคือ ต่อให้ไม่ได้ซ่อนอะไรที่ผิดปกติไว้ หรือจะขออนุญาตแล้ว เด็กก็จะไม่ให้ จะปฏิเสธอย่างรุนแรง และระแวงว่าจะมีคนเข้ามายุ่งกับพื้นที่ตนเอง หรือเมื่อเด็กพบว่ามีคนเข้ามายุ่งเรื่องของตนเองมากเกินไป หรือเพียงแค่นิดเดียวก็จะต่อต้านอย่างรุนแรง อาจโกรธจนเป็นปัญหาใหญ่ได้ หากเด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้ นั่นหมายความว่าเด็ก ๆ เริ่มเข้าข่ายการมีโลกส่วนตัวสูงแล้วนั่นเอง
แก้อย่างไรเมื่อลูกมีโลกส่วนตัวสูง
หลังจากแยกแยะได้แล้วว่า ลูกมีโลกส่วนตัวสูงจริงหรือไม่ หรือแค่มีโลกส่วนตัวธรรมดา ให้ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งรีบเข้าจู่โจมลูกด้วยความสงสัย เนื่องจากว่าจะทำให้เกิดปัญหาในทันที ส่วนขั้นตอนการแก้ไขนั้นต้องใช้เวลา และพึ่งการร่วมมือจากลูกด้วย ดังนี้
- เริ่มจากความเข้าใจ : ก่อนที่จะเริ่มทำสิ่งใด ๆ กับเด็ก ให้คิดเสมอว่าต่างตนต่างมุมมอง ต่างความคิด เราต้องคิดในมุมของลูกด้วยว่าเขาจะไม่พอใจ หากเราทำอะไร ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจความคิดของเขา จะทำให้ลูกได้เห็น และรับรู้ด้วยตัวของเขาเองว่าเขาสามารถสบายใจได้ เมื่ออยู่กับผู้ปกครอง
- หาโอกาสพาลูกไปพบปะผู้คน : เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย แต่ต้องใช้ความระวัง คือ การชวนลูกออกไปเที่ยวเพื่อให้มีโอกาสใช้เวลากับครอบครัว หรือการออกไปหาญาติเพื่อให้ลดโอกาสให้เด็กใช้เวลาส่วนตัวได้น้อยลง แต่มีกฎเหล็กคือ ไม่ควรพาออกไปบ่อย เพราะจะกลายเป็นว่าพาเด็กไปทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบบ่อยเกินไป ปัญหาที่จะตามมาคือ เขาอาจปฏิเสธและต่อต้านได้ ให้พาไปแค่ครั้งคราว แต่ต้องมั่นใจว่าทุกครั้งที่ไปเขาต้องได้พบปะพูดคุยกับคนอื่นจริง ๆ
- คุยกับลูกหลังต่อต้านน้อยลง : เมื่อลูกเริ่มต่อต้นน้อยลงจากการที่เราพยายามเข้าใจเขา และได้มีโอกาสพบเจอผู้อื่นจนเด็กรู้สึกปรับตัวได้มากขึ้น ให้หาจังหวะเข้าไปพูดคุยกับลูกเป็นครั้งคราวให้เขาเกิดความผ่อนคลาย และบอกถึงปัญหาที่แท้จริง พยายามอย่าให้ลูกเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีความผิดปกติ และสอนถึงการเข้าสังคมที่ถูกต้องว่าควรทำเช่นไร หากปล่อยไว้จะมีผลเสียในด้านใดบ้าง
- แบ่งเวลาให้เด็ก : หากเด็กยังเล็กมากอาจแก้ได้ทันด้วยการแบ่งเวลาให้ลูก ทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็กมากขึ้น พาเขาไปพบเจอกับคนอื่นได้มีโอกาสเล่นกับเด็กด้วยกัน ได้สนทนากับผู้อื่นนอกจากคนในบ้านบ้าง หากทำจนเป็นปกติ เด็กจะมีความกล้าที่จะพูดคุยกับผู้อื่นมากขึ้น ทำให้นิสัย โรคส่วนตัวสูง เริ่มลดลงไปเอง
- เสริมความมั่นใจ : หากเด็กไม่มีความมั่นใจในตนเอง ให้คุณพ่อคุณเสริมความมั่นใจด้วยการพูดคุยกับเด็กเพื่อปรับความคิด หรือใช้สื่อช่วย เช่น นิทานสอนใจ เป็นต้น แต่การจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องเริ่มจากการรู้สาเหตุก่อนว่าเด็กไม่มีความมั่นใจในตนเองในแง่มุมไหน
เด็กที่มีโลกส่วนตัวสูง พวกเขาต้องการความเคารพในพื้นที่ของเขา หากต้องการแก้ไขให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ ก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจเขาเสียก่อน และต้องระวังปัญหากระทบกระทั่งที่เกิดจากการบีบบังคับอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไร้ความ “มั่นใจในตัวเอง” เกิดจากอะไร ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
“ความเคารพ” สำคัญสำหรับเด็ก ฝึกอย่างไรให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก
เคยได้ยินไหม ? Extrovert Introvert คือ อะไร ลูกคุณเป็นแบบไหน เช็คเลย !
ที่มา : diyinspirenow, thaihealth, mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!