“มั่นใจในตัวเอง” ไม่ใช่คำพูดที่สามารถทำให้เด็กรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาในทันที การจะเสริมสร้างความมั่นใจของเด็กได้นั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่การสังเกตว่าปัญหาที่เด็กไม่มีความมั่นใจเกิดจากอะไร เมื่อหาได้แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ว่าควรจัดการปัญหาอย่างไรต่อไป การทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจนั้นไม่ใช่เพียงแค่ต้องทำในตอนที่เขาเป็นเด็กเท่านั้น แต่ความมั่นใจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต้องการไม่ต่างกันต่อให้โตขึ้นมากแล้วก็ตาม
สาเหตุที่ลูกไม่มีความ มั่นใจในตัวเอง
ต้นตอของปัญหาหลักที่ทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองมักมาจากการกระทำของบุคคลรอบตัว เนื่องจากเด็กเล็กจะต้องหาที่พึ่งพิงด้านความคิดเป็นหลัก หากคนรอบตัวปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จะยิ่งชักจูงเด็กไปในเส้นทางที่ตรงกันข้ามกับความมั่นใจ
- การดูแลที่มากเกินไป : คุณพ่อคุณแม่คงเข้าใจอยู่แล้วว่าเมื่อลูกเจอปัญหา การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับลูกไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ในทางกลับกันการให้ความช่วยเหลือลูกในทุก ๆ เรื่องก็ถือเป็นการขวางกั้นลูกไม่ให้เรียนรู้ หรือสัมผัสประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง คงไม่แปลกนักหากลูกจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จากการไม่ได้ลองแก้ไขปัญหา เมื่อเจอปัญหาจริงเวลาที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย ก็จะทำให้ลูกเกิดความกังวลไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ตามไปด้วย
- ความกลัวจากคำพูด : คำพูดของคนรอบตัวเด็กโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มีผลอย่างมากสำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะเรื่อง ความมั่นใจในตัวเอง เช่น การที่ลูกมาช่วยแม่ถือของไปวางบนโต๊ะหลังไปตลาด แต่กลัวว่าลูกจะทำของตกเลยบอกว่า “ระวังตกนะ” ทำให้ลูกเกิดความกังวลว่าถ้าทำตกจะเป็นปัญหารุนแรง จนเกิดเป็นความกลัว ความไม่มั่นใจในตัวเองขึ้นมา ในทางตรงกันข้ามคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้คำที่เสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กแทนได้ เช่น “ค่อย ๆ ถือนะลูก” หรือ “จับตรงนี้แน่น ๆ นะลูก” เป็นต้น คำพูดเหล่านี้มีจุดประสงค์เหมือนกันแต่จะทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความห่วงใยมากกว่า
- กฎที่เข้มงวดมากจนเกินไป : บางครั้งการวางกฎต่าง ๆ ให้กับลูกน้อยมีทั้งข้อดี และข้อเสียเกิดขึ้น จริงอยู่ที่อาจช่วยทำให้ลูกมีวินัยขึ้น รู้จักความเป็นระเบียบมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหากไม่ระวัง และมีความตึงเครียดมากเกินไป เช่น ถูกลงโทษทุกครั้งที่ทำผิด หรือการถูกต่อว่าเมื่อลูกแสดงความเห็นที่มีความแตกต่างออกมา เป็นต้น การถูกการกระทำแบบนี้บ่อย ๆ เข้าจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นใจในตนเองได้ในอนาคต
- กลัวความผิดหวัง : เด็กบางคนอาจมีความกดดันต่อตนเอง หรือได้รับแรงกดดันจากรอบตัว ว่าตนเองเป็นความหวังของทุกคน ทำให้เด็กคิดว่าหากตนเองทำสิ่งใดที่มีคนคาดหวังไว้พลาด จะทำให้คนเหล่านั้นเกิดความผิดหวังได้ โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวที่ใกล้ชิด เช่น คุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น เมื่อกลัวว่าจะเกิดความผิดหวังต่อบุคคลอื่น เด็กจะเริ่มไม่มีความมั่นใจในตนเอง และเมื่อทำให้ผิดหวังจริง ๆ ความไม่มั่นใจจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
- ที่ปรึกษาที่ขาดหาย : เด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างรอบ ๆ ตัว หลายครั้งที่เขาไปเจอบางสิ่งแล้วไม่รู้ว่าคืออะไร หรือต้องทำอย่างไรกับสิ่งนั้น ทำให้เด็กต้องการพ่อแม่ในการสอบถาม แต่หากผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก หรือมองไม่เห็นปัญหาของลูก อาจทำให้เด็กเกิดความเข้าใจที่ผิด หรือความไม่มั่นใจในตัวเองว่าตนจะทำในสิ่งที่ถูกหรือไม่
- ถูกวิจารณ์ทุกการกระทำ : ไม่ว่าลูกจะทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ตาม คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจติดนิสัยชอบวิจารณ์ทุกการกระทำของลูก หรือบางครั้งอาจวิจารณ์ไปก่อนลูกจะตัดสินใจทำอะไร ทำให้เด็กเกิดความกังวลใจตามมาในภายหลังได้ ยิ่งเมื่อเด็กทำผิดแล้วถูกวิจารณ์โดยไม่มีการให้กำลังใจ จะยิ่งทำให้เด็กสูญเสียความ มั่นใจในตนเอง ในการที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ในครั้งหน้า หรืออาจส่งผลต่อความมั่นใจในเรื่องอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
- การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง : เด็กแต่ละคนมีความเหมือน และความแตกต่างในรูปแบบของตนเอง หรือที่เราเรียกว่า “เอกลักษณ์” เมื่อเด็กมีความแตกต่างกัน แต่ผู้ปกครองไม่มีความเข้าใจในตัวของเด็ก จนเกิดการเปรียบเทียบระหว่างตัวของเด็กกับคนอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วการเปรียบเทียบในเด็ก มักถูกเปรียบเทียบจากเด็กที่ดูมีความสามารถมากกว่า เก่งกว่า จนทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง จนเกิดเป็นความไม่มั่นใจในตนเองได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกขี้อาย ทำไงดี ไม่กล้าแสดงออกเลย ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ มีวิธีแก้ไหม
วิธีทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง และกล้าแสดงออก
เมื่อมองเห็นถึงสาเหตุของปัญหานี้แล้ว ก็ต้องแก้ตามสาเหตุนั้น ประกอบกับการระมัดระวังการแสดงออกต่อเด็กทั้งทางด้านความคิด และทางภาษากายจึงจะเกิดผลดีที่สุด
- ปล่อยให้ลูกได้มีประสบการณ์ : เมื่อการดูแลลูกมากเกินไปทำให้เขาไม่สามารถมั่นใจในการแก้ปัญหาของตนเองได้ การปล่อยให้ลูกได้เจอปัญหา หรือได้รู้ถึงผลของสิ่งที่ตนเองทำบ้าง จะสามารถทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่มากขึ้น และทำให้เขาจับทางได้ว่าควรทำอย่างไรหากเจอปัญหาเดิมในครั้งหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจะไม่ช่วยเลย อาจเปลี่ยนจากการทำให้เป็นการให้คำแนะนำ แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง เป็นต้น
- หมั่นให้กำลังใจเด็ก : เมื่อเกิดความไม่มั่นใจในตนเองขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจลูก ไม่ควรใช้คำพูดที่จะทำลายความ มั่นใจในตัวเอง ของลูก หากลูกทำผิดจริงแล้วจำเป็นต้องลงโทษ ควรว่ากล่าวด้วยความจริงใจ ไม่ใช้อารมณ์หรือคำหยาบ และชี้แนวทางที่ถูกต้องเมื่อลูกทำผิด แต่หากลูกทำในสิ่งในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรให้รางวัลกับลูก หรือพูดชมลูกเพื่อเพิ่มความมั่นใจของเขาได้
- ไม่ตึงเครียดมากเกินไป : การวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การวางข้อจำกัดมากเกินไปจะทำให้เกิดความอึดอัด และความกลัวที่จะทำสิ่งใด ๆ สำหรับเด็ก พ่อแม่ควรตั้งข้อห้ามที่มีความสำคัญมาก ๆ ต่อความปลอดภัยของเด็ก แต่บางเรื่องก็ไม่ควรห้ามเพื่อปล่อยให้เด็กได้กล้าคิดกล้าทำ โดยไม่มีกรอบใด ๆ มาขวางกั้นการกระทำของตนเอง การทำแบบนี้จะช่วยเพิ่มความ มั่นใจในตัวเอง ของเด็กได้
- คาดหวังได้ แต่ต้องเข้าใจ : ความคาดหวังในตัวของเด็กไม่ใช่สิ่งที่ผิด เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ย่อมต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จในแต่ละด้านของชีวิต แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนจะสามารถทำได้ในทันที แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ดังนั้นเมื่อเด็กทำให้เกิดความผิดหวัง การเข้าไปซ้ำเติม หรือวิจารณ์อาจไม่ใช่ทางที่ดี แต่การให้กำลังใจ และชี้ให้เห็นว่าลูกสามารถแก้ตัวได้ ฝึกฝนต่อไป และคอยเป็นกำลังใจให้อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
- ไม่เปรียบเทียบเด็ก : การเปรียบเทียบเป็นสาเหตุต้น ๆ ของการทำลายความมั่นใจของเด็ก เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนด้อย การจะทำบางสิ่งบางอย่างจะเต็มไปด้วยความกังวล หากไม่ต้องการให้เกิดขึ้นควรหันมาให้กำลังใจเด็ก คอยสนับสนุนความถนัด และความชอบของเด็ก ต้องท่องไว้เสมอว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- ให้เวลากับลูก : การแก้ปัญหาเด็กไม่มีความมั่นใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาให้กับเด็กในการที่จะพูดคุยถึงปัญหาของเด็ก ว่าเด็กกำลังคิดอะไร ทำอะไร จนอาจเป็นปัญหาเรื้อรังได้ การพูดคุยหรือสังเกตลักษณะอาการของลูก และคอยแสดงให้เห็นว่ามั่นใจ และเชื่อใจลูก เป็นวิธีขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกให้กล้าตัดสินใจ ทำอย่างไรให้ลูกมีความกล้า ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง
กิจกรรมสร้างความ มั่นใจในตัวเอง
การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการให้เด็กได้แสดงออก ก้าวข้ามความกังวล ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกิจกรรม แต่การจะทำให้ได้ผลดีคนในครอบครัวควรเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย เช่น การเล่นกีฬาเป็นทีม, การเล่นบอร์ดเกม, การสวมบทบาทละครเวทีหรือตัวละครในภาพยนตร์ นอกจากนี้การให้ทำกิจกรรมกับผู้อื่น หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้มีเวลาร่วมกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น การไปเข้าค่าย จะทำให้เด็กได้ใช้เวลากับเพื่อน และมีโอกาสที่จะตัดสินใจเองได้ กิจกรรมตามที่กล่าวไปนั้นจะสามารถช่วยให้ลูกได้มีช่วงเวลาที่เขาแสดงออกจนเกิดเป็นความ “มั่นใจในตัวเอง” ได้ในที่สุด
สิ่งสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ การทำให้ลูกเข้าใจอยู่ตลอดว่าเขาคือใคร กำลังทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร และถ้าหากไม่ทำ จะทำให้ลูกไปถึงในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ จะทำให้เด็กกล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงออกได้มากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล : M.O.M , Milo
บทความที่น่าสนใจ
จำเป็นมั้ยที่เด็กต้องมีความกล้าแสดงออก กล้าแสดงออก ดียังไง
เล่นกับลูกอย่างไร เพื่อให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
5 วิธีชมลูก สร้างคำชม เสริมใจให้ลูกกล้าแกร่ง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!