รู้หรือไม่ คนท้องเป็นริดสีดวง มักจะเป็นของคู่กัน เนื่องจากขณะตั้งครรภ์นั้น มีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงทวารมากกว่าคนปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามขนาดของทารกนั้นไปกดทับหลอดเลือดในลำไส้ และทวารหนัก จึงทำให้ท้องผูกและเกิดติ่งริดสีดวงตามมา แล้วคุณแม่จะป้องกันและมีวิธีรักษาโรคนี้อย่างไรบ้าง
คนท้องเป็นริดสีดวง ง่ายกว่าคนปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับ “โรคริดสีดวงทวาร” (Hemorrhoid) โรคนี้เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณลำไส้และทวารหนัก มีอาการคั่งจนหลอดเลือดเกิดอาการอักเสบจากแรงดันสูง แตกออกจนกลายเป็นติ่งเนื้อ แรก ๆ นั้นอาจจะรู้สึกเหมือนมีติ่งห้อยอยู่บริเวณทวารหนัก แต่ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น จนเส้นเลือดฝอยแตก จะสังเกตเห็นว่า อุจจาระมีเลือดปนออกมาขณะขับถ่าย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย แต่สำหรับแม่ท้องแล้ว โรคริดสีดวงทวารหนักดูจะเป็นอาการที่มาคู่กับสตรีมีครรภ์ นั่นมาจากสาเหตุหลักดังนี้
1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
เรามักจะได้ยินว่าคนท้องมักมีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งมาจากฮอร์โมนหลายชนิดที่ถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ส่งผลทางอารมณ์เท่านั้น แต่ยังส่งกระทบไปถึงการไหลเวียนของเลือด โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จนเกิดการคั่งของกลุ่มหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก หากหลอดเลือดแตกเมื่อไร นั่นจะทำให้เลือดปะปนมากับอุจจาระ
2. มดลูกขยายตัว
ช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์ ยิ่งท้องแม่ขยายขึ้น น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งมดลูกและน้ำหนักไปกดทับหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปอย่างยากลำบาก จนถึงขั้นทวารหนักบวมขึ้นและถูกปิด ตรงนี้เองทำให้เลือดคั่ง เกิดแรงดันจนหลอดเลือดดำโป่งพองและแตก
3. ออกแรงเบ่งมากเกินไป
คนท้องเป็นริดสีดวง เกิดจากการออกแรงเบ่ง เนื่องจากคุณแม่อาจมีอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง ถ่ายยาก จนคุณแม่เผลอออกแรงเบ่งขณะขับถ่าย สาเหตุนี้เองจะทำให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำมากขึ้น จนเส้นเลือดฝอยแตกและมีเลือดปนมากับอุจจาระ ซึ่งถ้าหากท้องผูกเรื้อรัง ก็จะเกิดแผลปลายทวารหนักจนเป็นติ่งริดสีดวงตามมา
นอกจากนี้ การที่ละเลยจากการออกกำลังกาย ยืนและนั่งนาน ๆ ก็ทำให้คุณแม่ท้องเกิดอาการท้องผูกจนเป็นริดสีดวงได้ เนื่องจากเลือดภายในร่างกายไหลรวมไปที่หลอดเลือดดำปลายทวารหนัก บวกกับ 3 เหตุผลที่กล่าวมา โอกาสเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในคนท้องได้ง่ายขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง: ท้องผูกตอนท้อง กินยาระบายได้ไหม อันตรายกับลูกหรือเปล่า
คุณแม่ท้องเป็นริดสีดวงทวาร จะดูแลตัวเองอย่างไร
ด้วยร่างกายที่เปราะบางระหว่างตั้งครรภ์ อาการป่วยต่าง ๆ ที่ไม่เคยเป็นตอนปกติก็มาเกิดตอนตั้งครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ท้องต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น อย่างเช่น โรคริดสีดวงทวาร ที่สร้างความรำคาญใจและใช้ชีวิตลำบากยามขับถ่าย เรามาดูกันว่า คุณแม่สามารถป้องกันโรคริดสีดวงอย่างไร
- เวลานอน คุณแม่ท้องพยายามนอนตะแคงไปมาทุก 2-3 ชั่วโมง หรือบริหารส่วนล่าง โดยใช้หมอนซ้อน 2 ใบไว้ใต้ขา ยกสูงขึ้นกว่าแนวศีรษะไว้ประมาณ 20 นาที
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย กากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ รวมถึงต้องดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ประมาณ 8-10 แก้ว ในแต่ละวัน คุณแม่ควรมีน้ำไว้ข้างกายเสมอ จะได้หยิบดื่มได้สะดวก
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่าปล่อยตัวเองให้นั่งนานเกินไป เช่น โยคะ เดินในสระน้ำ เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวมากขึ้น ลำไส้มีการขยับเขยื้อน ขับถ่ายสะดวก
- อย่ากลั้นปัสสาวะ อุจจาระเด็ดขาด เพราะด้วยร่างกายที่อุ้ยอ้าย อาจทำให้คุณแม่ขี้เกียจลุกไปเข้าห้องน้ำ เพราะรู้สึกปวดนิดหน่อย ซึ่งจะทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหาตามมา ดังนั้น ปวดเมื่อไร ควรเข้าห้องน้ำทันทีค่ะ
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้า ไม่ว่าจะปวดหรือไม่ ลองเข้าไปนั่งถ่ายในห้องน้ำสัก 5 นาที ไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก ให้คุณแม่เบ่งเบา ๆ ทำอย่างนี้ให้ตรงเวลาทุกเช้า แล้วระบบขับถ่ายจะเปลี่ยนไปค่ะ
คนท้องเป็นริดสีดวง มีวิธีรักษาอย่างไร
หากคุณแม่ท้องเป็นริดสีดวงทวารระหว่างตั้งครรภ์ อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ เนื่องจากการถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน มีติ่งริดสีดวงออกมาให้รำคาญใจ จึงควรปรึกษาแพทย์ว่าจะมีวิธีรักษาเบื้องต้นอย่างไรได้บ้าง ซึ่งแพทย์จะแนะนำดังนี้
1. ประคบเย็น
การประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบบริเวณทวารหนัก โดยการใช้แผ่นเจลเย็น หรือ ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบน้ำบีบหมาด จากนั้นคุณแม่ค่อย ๆ ประคบบริเวณติ่งริดสีดวงก่อนนอนทุกคืน แผลและอาการบวมของริดสีดวงจะลดลง
2. นั่งในน้ำอุ่น
ถ้าบ้านของคุณแม่ท้องไม่มีอ่างอาบน้ำ ให้ใช้กะละมังขนาดที่ลงไปนั่งได้ โดยการนั่งแช่ลงในน้ำอุ่นประมาณวันละ 15-20 นาที หลังอาบน้ำ หรือให้แช่ก่อนนอนทุกคืน การทำวิธีนี้จะช่วยให้เลือดที่คั่งบริเวณหลอดเลือดดำ อ่อนตัว ไหลเวียนดีขึ้น
3. ใช้ยาเหน็บ
การใช้ยาเหน็บ จะเป็นการรักษาอาการอักเสบที่คุณแม่ท้องไม่สามารถทำตาม 2 วิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งยาเหน็บจะมีลักษณะคล้ายกระสวยนิ่ม ๆ ก่อนใช้จะต้องล้างมือให้สะอาดแล้วทำตามวิธีดังนี้
- แช่ยาเหน็บไว้ในตู้เย็นเพื่อง่ายต่อการสอด
- เวลาใช้ให้คุณแม่นอนตะแคง เหยียดขาล่างตรง ขาด้านบนงอขึ้นชิดอก
- สอดยาเหน็บเข้าช่องทวารหนัก ดันเข้าไปให้ลึกที่สุด
- จากนั้นนอนนิ่ง ๆ 15 นาทีจนกว่ายาจะละลาย (ระวังยาหลุดออกมาด้วยค่ะ)
หลังจากการรักษาโรคริดสีดวงทวารเบื้องต้นระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถทำการผ่าตัดติ่งริดสีดวงหลังจากคลอดลูกได้ โดยปรึกษากับคุณหมอว่า จะทำการผ่าตัดหลังคลอดลูกทันทีเลยได้หรือไม่ เพราะจะสะดวกในการดูแลรักษาแผลฝีเย็บ และแผลบริวารทวารไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดริดสีดวงจะใช้เลเซอร์ในการรักษา จึงเกิดบาดแผลน้อยที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการของริดสีดวง มีอาการอย่างไร สาเหตุของการเป็นริดสีดวงคืออะไร ?
สุดยอดผลไม้ กินง่าย ถ่ายคล่อง
เพื่อให้สะดวกต่อการขับถ่าย คุณแม่ท้องควรรับประทานผลไม้ที่ดีต่อระบบขับถ่าย ที่สำคัญ การรับประทานในแต่ละมื้อ ควรเคี้ยวให้ละเอียด และแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ จะได้ไม่อิ่มจนเกินไป ลดการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และลดอาการท้องผูก อันเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก
- ลูกพรุน : ไม่ว่าจะท้องหรือไม่ ลูกพรุนคือผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง อีกทั้งยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี รวมไปถึงเบตาแคโรทีนที่ดีต่อแม่ท้อง ตอนนี้มีลูกพรุนทั้งแบบเมล็ดและเครื่องดื่มที่คุณแม่สามารถหารับประทานง่าย
- กล้วยน้ำว้า : ผลไม้ราคาถูกที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 โพแทสเซียม และแร่ธาตุหลายชนิด แต่ควรรับประทานกล้วยน้ำว้าสุกเท่านั้น เพราะกล้วยดิบจะทำให้ท้องผูก
- แอปเปิล : ผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูงเช่นกัน อุดมด้วยวิตามินซี วิตามินบีรวม แคลเซียม ธาตุเหล็ก คุณแม่ลองปั่นแอปเปิล 1 ลูก กล้วยน้ำว้า 1 ลูก และโยเกิร์ต เป็นเครื่องดื่มตอนเช้า จะช่วยเรื่องระบบขับถ่ายได้อย่างดี
- มะละกอสุก : ผลไม้ที่หาซื้อง่าย คุณแม่ลองรับประทานมะละกอสุกตอนเช้าหรือหลังอาหาร ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ส่งผลให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
- มะขามสุก : มีวิตามินซีสูง ฟอสฟอรัส ไฟเบอร์ แคลเซียม วิตามิน เอ วิตามินบี ซึ่งมะขามนั้น มีสรรพคุณช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องผูก แต่ควรรับประทานแต่พอดี
สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากการดูแลโภชนาการของตนเองและลูกน้อยแล้ว คือเรื่องระบบขับถ่าย ไม่ว่าจะปัสสาวะบ่อย ท้องผูกและโรคริดสีดวงทวารหนัก ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงตัวเองและดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารแก้ท้องผูกสําหรับคนท้อง ตั้งครรภ์ท้องผูก มีวิธีแก้ยังไงบ้าง
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 32 คุณแม่หลังคลอดเป็น ริดสีดวงทวาร ต้องผ่าออกหรือไม่ ?
ตกขาวปนเลือด ผิดปกติหรือไม่ สาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนท้องเป็นริดสีดวง ได้ที่นี่ !
คนท้องเป็นริดสีดวง เกิดขึ้นได้บ่อยไหมคะ จะป้องกันยังไงดีคะ
ที่มา : atlanta-herb, kapook, enfababy, everydayhealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!