เข้าใจหลักการรักษาภาวะมีบุตรยาก ปัญหาของคู่รักหลายๆคู่
เข้าใจหลักการรักษาภาวะมีบุตรยาก
คู่รักหลายคู่พยายามมีลูกกันเป็นเวลานานเป็นปีแต่ก็ยังไม่มีบุตรซักที เข้าใจหลักการรักษาภาวะมีบุตรยาก ปัญหาของคู่รักหลายๆคู่
Happy cheerful family. Asian mother and baby kissing, laughing and hugging; Shutterstock ID 226708465
ภาวะมีบุตรยาก
ปกติแล้ว เราจะถือว่าคู่สมรสใดเข้าข่ายการมีบุตรยาก ก็คือ เมื่อคู่สมรสนั้นได้แต่งงานอยู่กินกันตามปกติ เกินกว่า 1 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่สามารถมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดใด ๆ เหตุผลที่เราถือระยะเวลา 1 ปี เป็นเกณฑ์ เนื่องจากส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของคู่สมรสทั่วไปจะสามารถมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากเริ่มแต่งงาน ดังนั้นคู่สมรสที่มีบุตรยากจึงเป็นคู่สมรสที่มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ต่ำกว่าคนทั่วไป แม้จะไม่ได้เป็นหมันก็ตามที
สาเหตุใด
ปัญหานี้มักจะถูกคนไข้ถามอยู่บ่อย ๆ ว่าสาเหตุที่เขาไม่สามารถมีบุตรได้นั้น เป็นเพราะความผิดปกติของใคร ในความจริงแล้วพบว่าคู่สมรสบางคู่ ทางฝ่ายหญิงมีความผิดปกติ เช่น ภาวะการไม่ตกไข่ มีพังผืดเกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูก ท่อรังไข่อุดตัน มีเนื้องอกที่ตัวมดลูก เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกไปฝังตัวในช่องเชิงกรานที่เรียกว่าภาวะ endometriosis ซึ่งมักจะพบบ่อยในหญิงที่มีบุตรยาก เป็นต้น ในบางคู่ สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชายเองมีเชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น เชื้อน้อย หรืออ่อนแอ หรือมีรูปร่างผิดปกติ หรือ แม่แต่เป็นหมันคือตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่สาเหตุการมีบุตรยาก เกิดจากความผิดปกติของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ไม่ใช่จากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคู่สมรสที่มีบุตรยากอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 15-20% ที่แม้จะตรวจวินิจฉัยแล้วก็ไม่พบความผิดปกติอะไร กลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาจากความสามารถในการเจริญพันธุ์ต่ำเอง และมักจำเป็นต้องให้การรักษาเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์
พบได้บ่อยเพียงใด
พบว่าประมาณร้อยละ 15 ของคู่สมรสทั่วไป จะมีปัญหาการมีบุตรยาก ทั้งนี้ไม่ขึ้นกับว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ทั้งไทย จีน อินเดีย หรือชาติยุโรป ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อตัวเองแต่งงานแล้วจะมีปัญหาการมีบุตรยากหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรายังพบว่าด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คู่สมรสบางคู่มีบุตรยากขึ้น ด้วยเหตุว่าความสามารถในการเจริญพันธุ์ หรือความพร้อมของร่างกายที่จะเกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ โดยความสามารถในการเจริญพันธุ์จะสูงสุดในระหว่างอายุ 20-30 ปี และจะลดลงหลัง 35 ปี และจะต่ำมากภายหลังอายุ 40 ปี เราพบว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่เริ่มแต่งงานและพร้อมจะมีบุตรเมื่ออายุหลัง 35 ปี ไปแล้ว ซึ่งจะมีแนวโน้มการมีบุตรยากสูงกว่าคนทั่วไป
ต่อเติมบ้านชั้นเดียว ให้กลายเป็นบ้านสองชั้น เคล็ดลับดีๆ สำหรับคุณพ่อบ้าน
เมื่อสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายมีบุตรยากควรจะทำอย่างไร
แนะนำว่าควรมาพบแพทย์พร้อมกันทั้งสามีและภรรยา ซึ่งอาจจะเป็นสูติ-นรีแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาการมีบุตรยากโดยตรง โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกาย รวมทั้งตรวจเช็คภายในว่ามีความผิดปกติเบื้องต้นหรือไม่ จากนั้นจะทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมตามแต่กรณีที่สงสัย เช่น เจาะเลือดหาความผิดปกติของระบบฮอร์โมนอาจให้วัดปรอททุกเช้าหรือตรวจอัลตราซาวน์เพื่อประเมินการตกไข่ หรือ ฉีดสีเอ็กซเรย์เข้าโพรงมดลูกเพื่อดูว่ามีท่อรังไข่อุดตันหรือไม่ ในบางรายอาจจะส่องกล้องตรวจดูในอุ้งเชิงกรานว่ามีพังผืดเกิดขึ้นหรือไม่ สำหรับในฝ่ายชาย จะทำการเก็บเชื้ออสุจิ เพื่อประเมินหาความผิดปกติเป็นต้น
ปัจจุบันเรามีวิธีแก้ไขภาวะผู้มีบุตรยากอย่างไรบ้าง
แนวทางการรักษาผู้มีบุตรยากในปัจจุบัน เราอาจแบ่งเป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ แนวทางแรกซึ่งเป็นการรักษาแต่ดั้งเดิมคือการให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าพบว่ามีการไม่ตกไข่ ก็อาจให้ยากระตุ้นการตกไข่หรือในบางรายที่พบว่ามีการอุดตันของท่อนำไข่ หรือมีผังพืดในช่องเชิงกราน ก็อาจทำการผ่าตัดต่อท่อรังไข่ใหม่หรือผ่าตัดเลาะพังผืดเป็นต้น อย่างไรก็ตามการรักษาโดยวิธีดังกล่าวพบว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อย ไม่อาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายหลังการรักษาเนื่องจากในขบวนการตั้งครรภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งความผิดปกติบางอย่างก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ เช่น ภาวะเชื้ออสุจิผิดปกติในฝ่ายชาย ดังนั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาแนวทางการรักษาที่สอง คือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือกิ๊ฟท์มาช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ เนื่องจากการรักษานี้ส่วนหนึ่งไม่ได้พึ่งพากระบวนการของการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่เป็นการนำเอาเซลล์สืบพันธุ์คือ ไข่ของเพศหญิงและเชื้ออสุจิของเพศชาย มาเลี้ยงภายนอกร่างกายให้ผสมเป็นตัวอ่อนก่อนที่จะใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขความผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุ เช่น ท่อรังไข่ตัน หรือเชื้ออสุจิผิดปกติ เป็นต้น
วิทยาการต่างๆ ที่นำมาใช้รักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ได้แก่
1. การฉีดน้ำเชื้อ( ICI หรือ IUI)
2. การทำกิฟต์ (GIFT)
3. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF&ET)
4. การทำด้วยเทคนิคพิเศษ (ICSI, MESA, TESE)
1. การฉีดน้ำเชื้อ( ICI หรือ IUI) คือวิธีการที่นำเชื้อฝ่ายชายมาผ่านขบวนการคัดเลือกตัว
อสุจิที่ดีเคลื่อนไหวดีและรูปร่างที่ปกติมากที่สุดมาฉีดให้ฝ่ายหญิง โดยอาจจะฉีดเข้าที่ปากมดลูก หรือฉีดเข้าที่โพรงมดลูก หรือฉีดเข้าสู่ทำนำรังไข่ก็ได้ โดยใช้จำนวนเชื้ออสุจิในปริมาณที่พอเหมาะและฉีดให้ในช่วงเวลาที่ไข่ตก
2. การทำกิฟต์ (GIFT) เป็นวิธีการที่นำเอาไข่สุกเต็มที่ และเชื้ออสุจิที่คัดเลือกแล้วไปฉีด
เข้าในท่อนำไข่ซึ่งเป็นที่ที่มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ วิธีการนี้เป็นการช่วยเหลือให้ไข่และตัวอสุจิได้มีการปฏิสนธิในบริเวณและในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง หลังการปฏิสนธิแล้วตัวอ่อนจะเคลื่อนไปตามท่อนำไข่แล้วฝังตัวในโพรงมดลูกเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นวิธีการทำกิฟต์จึงมีข้อแม้อยู่ว่าฝ่ายหญิงจะต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอยู่อย่างน้อย 1 ข้าง
3. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF&ET) เป็นวิธีการที่นำเอาไข่สุกเต็มที่แล้วไปผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง หรือจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนอยู่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นในหลอดทดลอง หรือจานแก้งดังกล่าว หลังจากนั้น 48 ชั่วโมง จะเกิดเป็นมีตัวอ่อนขึ้นก็นำตัวอ่อนนั้นคืนกลับเข้าโพรงมดลูกเพื่อการฝังตัวและเติบโตเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาต่อไป วิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยท่อนำรังไข่เลย จึงเป็นวิธีการที่ใช้รักษาผู้มีบุตรยากอันมีสาเหตุจากท่อนำรังไข่ที่ผิดปกติ หรือสาเหตุจากฝ่ายชาย เช่น มีตัวอสุจิน้อยกว่าปกติ ตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ช้าหรือเคลื่อนไหวอยู่กับที่ และน้ำเชื้อที่มีตัวอสุจิรูปร่างผิดปกติอยู่จำนวนมาก
4. การทำด้วยเทคนิคพิเศษ (ICSI, MESA, TESE) วิธีการนี้มีจุดประสงค์อยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ใช้สำหรับช่วยเหลือผู้มีบุตรยากอันมีสาเหตุจากตัวอสุจิที่ไม่สามารถเข้าปฏิสนธิกับไข่ได้โดยวิธีการเด็กหลอดแก้วธรรมดา เช่น ในกรณีที่ตัวอสุจิเคลื่อนไหวได้น้อย หรืออสุจิที่มีประมาณน้อยกว่าปกติมากๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์ก็คือ ใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน กล่าวคือสามารถใช้แยกเซลล์ของตัวอ่อนในระยะก่อนการฝังตัวไปตรวจหาลักษณะของยีน ดีเอ็นเอ โครโมโซม ได้โดยที่จะไม่ทำให้เกิดความพิการ หรือความผิดปกติขึ้นในตัวอ่อนที่ผ่านขบวนการดังกล่าวเลย
ที่มา : 1
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมท้องแล้วถึงแท้ง? ลูกหลุดเกิดจากอะไร มาดูสาเหตุที่ท้องแล้วลูกหลุดบ่อย
ลูกพูดไม่ชัดเกิดจากอะไร และแก้ไขได้อย่างไร ปัญหาลูกพูดไม่ชัด
3 สารอาหารสำคัญ สุดยอดเคล็ด(ไม่)ลับ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย ให้เขาเก่งกว่าใคร
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=171
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!