เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่ เมื่อหมอบอกว่าคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หมายความว่าอย่างไร ภาวะเบาหวานนี้ เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่ควรรับมืออย่างไรดี ในวันนี้ เรามีเกร็ดความรู้เรื่องโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์มาฝากกัน ติดตามได้จากบทความนี้เลยค่ะ
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ โรคเบาหวานชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่คนท้องมักเป็นกันหลังจากตั้งครรภ์ได้ 24- 28 สัปดาห์ที่ มีสาเหตุมาจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพราะร่างกายผลิตอินซูลินไม่ได้ตามปกติ และเป็นภาวะที่ทำอันตรายแม่และเด็กได้
คนท้องที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีอาการอย่างไร
คนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักไม่แสดงอาการออกมาอย่างแน่ชัด ต้องไปตรวจน้ำตาล ถึงจะรู้ว่าเป็นเบาหวาน แต่ว่าบางราย ก็อาจหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งอาจอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม
ภาวะเบาหวาน ถือเป็นภาวะสุขภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และเด็กได้ สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน อาจครรภ์เป็นพิษในช่วงที่ตั้งท้อง หรืออาจต้องคลอดลูกด้วยการผ่าคลอด มากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ เพราะทารกอาจมีขนาดใหญ่มากกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งคุณแม่เอง ก็อาจมีโอกาสเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 หลังจากการคลอดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ สำหรับเด็กทารกที่มีคุณแม่เป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์ ก็อาจคลอดก่อนกำหนด เกิดมาน้ำหนักตัวน้อย มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด มีโอกาสเป็นเบาหวานในอนาคต มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ หรืออาจเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : เบาหวาน ในเด็ก ภัยเงียบที่ผู้ปกครองต้องระวัง และดูแลอย่างใกล้ชิด
ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากขึ้น
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยเหล่าคุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายและอยู่ในสภาพแวดล้อมต่อไปนี้ มักจะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากกว่าคนทั่วไป
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีถุงน้ำรังไข่หลายใบ ไขมันในเส้นเลือดสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
- ทารกในครรภ์หนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
- มีญาติหรือคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ก่อนที่จะตั้งครรภ์
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- มีอายุมากกว่า 25 ปี
- เคยแท้งบุตรมาก่อน
การตรวจหาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เมื่อเข้าพบคุณหมอ คุณหมอจะให้คุณแม่ดื่มของเหลวรสหวาน และให้นั่งรอ 1 ชั่วโมง จากนั้นคุณหมอจะเจาะเลือดคุณแม่ เพื่อตรวจดูว่าร่างกายคุณแม่นำน้ำตาลไปใช้ยังไงบ้าง ซึ่งคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีค่าน้ำตาลสูงเกินกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
บทความที่เกี่ยวข้อง : 13 อาหารลดน้ำตาลในเลือด สำหรับคนท้อง ลดความเสี่ยงเบาหวาน
การรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ในการรักษาภาวะนี้ แพทย์จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วย ซึ่งวิธีที่แพทย์จะใช้รักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
-
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
คุณหมอจะให้คุณแม่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 4-5 ครั้งต่อวัน เพื่อดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยจะให้คุณแม่เจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดลงบนแถบทดสอบ จากนั้นจะนำไปตรวจด้วยเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลเพื่อหาค่าน้ำตาลในเลือดต่อไป
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่ท้อง คุณแม่ควรหันมาบริโภคผักผลไม้แทน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะมีสารอาหารและเส้นใยที่สูง อีกทั้งยังมีน้ำตาลน้อยและมีแคลอรีต่ำอีกด้วย ซึ่งคุณแม่จะต้องลดการรับประทานอาหารจำพวกแป้ง และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้น้ำหนักตัวและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยให้กลูโคสในเลือดเข้าสู่เซลล์พลังงานเพื่อผลิตแทน อีกทั้งการออกกำลังกาย ยังช่วยลดอาการปวดหลัง ท้องผูก ตัวบวม และนอนไม่หลับได้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณแม่ต้องออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยอาจขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อความปลอดภัยของลูกในครรภ์
-
ใช้ยารักษาโรค
หากระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ยังสูงอยู่ แม้ว่าจะออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ใช้ยาฉีดอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้มากที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคนท้อง ต้องทำไง
วิธีลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไรบ้าง
หากคุณแม่เป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์ แนะนำให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ออกกำลังกายเบา ๆ โดยอาจจะลุกขึ้นเดินหลังทานอาหารเช้าสัก 15 นาที เพื่อช่วยให้ร่างกายใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แบ่งทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ไม่ควรงดอาหาร เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายไม่เป็นปกติ พยายามทานอาหารเช้า 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และไม่ปล่อยให้ท้องว่างเกิน 3-4 ชั่วโมง
- ทานผักให้มากขึ้น ในจานอาหาร ควรจะมีผักอยู่ 1/3 ของจาน ซึ่งอาจจะเป็นผักที่ผ่านการต้ม นึ่ง หรือผัดก็ได้
- ทานผลไม้ก่อนอาหาร จะทานผลไม้สด หรือผลไม้แช่แข็งก็ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ และผลไม้ที่ผสมน้ำเชื่อม
- ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช มูสลี่ และ อาหารเช้าที่ไม่มีน้ำตาล เป็นต้น
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานหนังสัตว์ หรือ มันจากสัตว์ ให้เลือกทานเฉพาะเนื้อไม่ติดหนัง โดยตัดมันออกก่อนทำอาหาร และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันจัดอย่างเบคอน ไส้กรอก และกุนเชียง
- ใช้น้ำมันพืชทำอาหาร หากต้องทำอาหาร ให้ใช้น้ำมันพืช แทนน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รักษาให้หายได้ไหม
สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หลังจากคลอดลูกแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อย ๆ ลดลงจนหายเป็นปกติ คุณแม่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือด และอาการอื่น ๆ ที่อาจตามมา เช่น การติดเชื้อ หรือการตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น ซึ่งหากพบว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์ก็จะให้รักษาต่อไป
และถ้าหากคุณแม่ยังมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่เหมือนเดิม แพทย์ก็จะช่วยคุณแม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการให้คุณแม่ให้นมลูกด้วยตนเองและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงต้องลดอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้ตามปกติ
การดูแลสุขภาพในช่วงท้องเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินของตัวเอง พอ ๆ กับการใส่ใจเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากเราทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้ป่วยง่าย สุขภาพไม่แข็งแรง จนอาจส่งผลเสียต่อเด็กในท้องได้ หากอยากให้ลูกคลอดออกมาอย่างปลอดภัย ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ สดสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัดนะคะ ถ้าคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เบาหวานประเภท 2 สัญญาณเริ่มต้นของโรคเบาหวานประเภท 2 คืออะไร?
ลดการเป็นเบาหวาน ประโยชน์ของการให้นมลูก ของคุณแม่มือหลังคลอด
ไม่อยากเป็น เบาหวานตอนตั้งครรภ์ ภัยร้ายที่รุนแรงกว่าที่คิด ต้องทำอย่างไร?
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้ที่นี่!
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรคะ แล้วมีวิธีป้องกันไหมคะ
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะส่งไปที่ลูกไหมคะ แล้วอันตรายมากไหมคะ
ที่มา : webmd, nonthavej, pobpad