เรื่องอาหารการกิน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก ๆ ไม่น้อยไปกว่าการนอนหลับเลย สำหรับคุณแม่คนไหนที่มีลูกน้อยที่อายุได้มากกว่า 6 เดือน ก็คงจะให้ลูก ๆ เริ่มทานอาหารอ่อนกันแล้ว ว่าแต่ว่าอาหารที่เราให้ลูกน้อยกินนั้น ปลอดภัยจริงหรือไม่ มีสารปนเปื้อนปะปน หรือมียาฆ่าแมลงผสมด้วยหรือเปล่า วันนี้ เราจะมาเล่าให้คุณแม่ฟังว่า สารปนเปื้อนในอาหาร มีในอาหารชนิดใดบ้าง เพื่อที่คุณแม่จะได้เลี่ยงไม่ให้ลูก ๆ กิน หากเด็กกินเข้าไป อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้
สารปนเปื้อนในอาหาร คืออะไร
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับสารปนเปื้อนกันก่อน สารปนเปื้อนในอาหาร คือ สารอันตรายที่ไม่ดีต่อร่างกาย ที่ปะปนอยู่ในอาหาร ซึ่งสารเหล่านี้ อาจเกิดจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ วิธีการดูแลรักษาอาหาร รวมไปจนถึงการบรรจุอาหาร และการขนส่งอาหาร ซึ่งกว่าอาหารจะเดินทางมาถึงมือเรา ก็จะต้องผ่านมือของใครหลายคน และเดินทางผ่านสถานที่ต่าง ๆ มามากมาย ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่อาหารบางชนิด จะมีสารปนเปื้อนอยู่เยอะ ซึ่งสารปนเปื้อนที่ว่านี้ อาจจะมีทั้งสารปนเปื้อนที่อันตรายน้อย และอันตรายมาก แตกต่างกันออกไป หากร่างกายเด็ก ๆ ได้รับสารปนเปื้อนที่อันตรายในปริมาณสูง ก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมาได้
สารปนเปื้อนในอาหาร มีอะไรบ้าง
สารปนเปื้อนหลัก ๆ ที่เรามักจะพบในอาหาร มีอยู่ 5 อย่าง ซึ่งคุณแม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ให้เจ้าตัวเล็กได้รับสารปนเปื้อนเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย
1. ฟอร์มาลิน
คงจะไม่มีคุณแม่คนไหนไม่รู้จักฟอร์มาลิน ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะคุ้นเคยกันว่า สารฟอร์มาลินคือสารที่ใช้ฉีดเข้าไปในศพของผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเสียไว แต่ว่าในแวดวงอาหาร ก็มีผู้ผลิตบางราย ที่นำฟอร์มาลินมาใช้ถนอมอาหารเช่นเดียวกัน ซึ่งอาหารเหล่านั้น อาจได้แก่ อาหารทะเล ผักสด หรือเนื้อสัตว์ หากลูก ๆ ของเรารับประทานฟอร์มาลินเข้าไปเยอะ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ปวดท้อง ปวดหัว หรือมีเหงื่อออก
2. สารฟอกขาว
ถัดมาเป็นสารฟอกขาว ที่มักจะพบในอาหารประเภทเห็ดหูหนูขาว ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ ถั่วงอก แป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือหน่อไม้ เพื่อช่วยทำให้อาหารเหล่านี้ดูขาว น่าซื้อ น่ารับประทาน หากสารฟอกขาวสะสมอยู่ในร่างกายเยอะเกินไป จะทำให้เกิดอาการเวียนหัว อาเจียน ปวดท้อง หายใจไม่สะดวก หรือเป็นลมหมดสติได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกแพ้อาหารต้องทำอย่างไร เคล็ดลับการดูแลลูกแพ้อาหารในแต่ละช่วงวัย
3. สารกันเชื้อรา
สารกันรา หรือกรดซาลิซิลิก คือสารปนเปื้อนที่มีอยู่ในอาหารหลาย ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นแหนม นม หมูยอ ผักดอง ผลไม้ดอง เช่น มะม่วงดอง มะดันดอง ขิงดอง มะกอกดอง เป็นต้น หากร่างกายได้รับสารนี้ จะทำให้มีความดันต่ำ มีไข้ หูอื้อ อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว
4. สารบอแรกซ์
จะพบในเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา เพื่อช่วยทำให้อาการมีสีสด น่าซื้อ ดูใหม่ และไม่เน่าเสียง่าย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
5. ยาฆ่าแมลง
น้อยคนนัก ที่จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะใครก็อยากให้อาหารดูน่าซื้อ และมีตำหนิน้อย แต่ความสวยงามในอาหาร บางทีก็มาพร้อมกับโทษต่อร่างกาย หากลูกน้อยของเรารับประทานผักหรือผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก เด็กอาจคลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน และป่วยง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหาร เป็นพิษในเด็ก อาการเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันหรือไม่?
จะหลีกเลี่ยงจากสารปนเปื้อนเหล่านี้ยังไงได้บ้าง
คงเป็นเรื่องยาก หากจะห้ามไม่ให้เด็กทานของเหล่านี้ เพราะอาหารบางอย่าง ก็ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย และร่างกายขาดไม่ได้ แต่ว่าคุณแม่ก็สามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง ไม่ให้ร่างกายลูก ๆ ได้รับสารปนเปื้อนจากอาหาร
- ศึกษาหาข้อมูลว่าแหล่งอาหารที่ไหน ที่ปลอดภัย และไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง
- ให้นำผักและผลไม้ที่ซื้อมา มาแช่น้ำส้มสายชูหรือสารละลายด่างทิ้งไว้สักพัก ก่อนนำไปปรุงอาหาร
- พยายามเลือกซื้ออาหารที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ดูสดเกินไป เพราะอาหารที่มีสีสดกว่าปกติอาจจะผ่านการใช้สารเคมีในการผลิต
- ถ้าเป็นไปได้ให้ปลูกผักรับประทานเอง เพราะนอกจากจะหลีกเลี่ยงจากยาฆ่าแมลงได้แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
- หากใช้น้ำก๊อกในการประกอบอาหาร ให้หมั่นสังเกตอยู่เสมอ ว่าก๊อกน้ำเก่าแล้วหรือยัง เพราะก๊อกน้ำที่ผ่านการใช้งานมานาน อาจจะมีตะกั่วปนเปื้อนได้
- ไม่ให้ลูกรับประทานน้ำผลไม้กล่อง เพราะน้ำผลไม้กล่องบางชนิด มีสารโลหะหนัก (ทองแดง สารหนู ปรอท ตะกั่ว) อยู่จำนวนมาก
- ไม่ให้ลูกทานเนื้อปลาน้ำลึก เช่น ฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาอินทรี ปลาไทล์ เป็นต้น เนื่องจากปลาเหล่านี้มีปรอทสูง ควรให้ลูกทานเนื้อปลาแซลมอนหรือเนื้อปลาทูน่าจะดีกว่า
- ล้างมือทุกครั้งก่อนลงมือทำอาหารให้ลูกทาน หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ไม่วางเนื้อสัตว์รวมในจานเดียวกัน เพราะเนื้อสัตว์บางชนิด อาจมีสารพิษปนเปื้อนอยู่
- ซื้ออาหารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.)
คำแนะนำเหล่านี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณแม่รวมทั้งคนในบ้านปลอดภัยจากสารอันตรายในอาหาร อย่างไรก็ตาม บางทีก็เป็นเรื่องยาก ที่จะรู้ได้ว่าอาหารชนิดไหนที่ปนเปื้อนสารพิษบ้าง หากเราสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป ให้รีบนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลให้ไวที่สุด เพื่อรับการตรวจรักษานะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาหารเด็ก ก่อนวัยเรียน เมนูอาหารก่อนวัยเรียนของลูก ๆ ที่คุณแม่ทำง่าย ๆ
รวม 10 อาหารเด็ก 1 ขวบ เมนูปลา เพิ่มพัฒนาการ อาหารอร่อยที่ลูกชอบ!
ลูก 1 ขวบกินอะไรดี? แนะนำ อาหารเด็ก 1 ขวบ เสริมสร้างสมองเน้นพัฒนาการ
ที่มา : paolohospital.com , health.harvard.edu , food.gov.uk