การเก็บตัวอสุจิ จากอัณฑะโดยตรง เพื่อรักษาภาวะมีลูกยาก
การเก็บตัวอสุจิ จากอัณฑะโดยตรง เพื่อรักษาภาวะมีลูกยาก
นอกเหนือจากการเก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีการปกติทางธรรมชาติแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ทางการแพทย์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเก็บน้ำอสุจิออกจากร่างกายคุณผู้ชายได้โดยตรง น้ำอสุจิที่ได้หลังจากกระบวนการเก็บตัวอสุจิจะนำไปใช้เพื่อทำอิ๊กซี่หรืออิมซี่ก็ได้ดังที่เคยนำเสนอไปในคราวก่อน ตอนที่ 5 ของซีรี่ส์มีลูกยากนี้ขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องการเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงด้วยวิธีต่าง ๆ
หลักการเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรง
การเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตรวจสอบพบว่าร่างกายของฝ่ายชายมีปัญหา ตรวจพบแล้วว่าในน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิเพราะท่อลำเลียงอสุจิอุดตัน หรือไม่สามารถเก็บน้ำเชื้ออสุจิโดยวิธีธรรมชาติปกติได้ เช่น ผู้ชายมีอวัยวะเพศที่ไม่สามารถแข็งตัวได้ ไม่สามารถหลั่งได้ปกติ เนื่องจากไขสันหลังถูกทำลายหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น วิธีการนี้ก็เหมาะกับคุณผู้ชายที่ทำหมันแล้วไม่ต้องการหรือไม่สามารถแก้หมันด้วยเช่นกัน
การใช้วิธีเก็บตัวอสุจิจากแหล่งกำเนิดโดยตรงที่อัณฑะจะช่วยให้ได้ตัวอสุจิที่สมบูรณ์มากที่สุด วิธีการเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงนี้สามารถใช้ได้ตราบเท่าที่อัณฑะยังสามารถผลิตตัวอสุจิได้ แต่หากปัญหาเกิดจากลูกอัณฑะไม่สามารถผลิตอสุจิได้ จะไม่พบตัวอสุจิที่โตเต็มวัยพอ หรืออาจพบแต่ตัวอสุจิที่เติบโตแล้วในระยะต้นเท่านั้น
วิธีทำเด็กหลอดแก้ว
วิธีการเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงทั้งสี่วิธี
1) การทำทีซ่า หรือ Testicular Sperm Aspiration (TESA)
วิธีการนี้คือการใช้เข็มขนาดเล็กแทงผ่านผิวหนังของถุงอัณฑะเข้าไปในดูดของเหลวในอัณฑะออกมาเพื่อให้ได้น้ำอสุจิมา
2) การทำพีซ่า หรือ Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration (PESA)
วิธีการนี้คือการใช้เข็มขนาดเล็กดูดน้ำอสุจิออกมาโดยตรงจากถุงอัณฑะบริเวณท่อเก็บกักตัวอสุจิ หรือ epididymis ซึ่งอยู่ส่วนบนของลูกอัณฑะ ตัวอสุจิที่สร้างขึ้นมาจากลูกอัณฑะจะมารวมกันอยู่บริเวณนี้
3) การทำมีซ่า หรือ Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration (MESA)
วิธีการนี้คือการผ่าตัดโดยใช้กล้องเข้าไปที่ท่อเก็บกักตัวอสุจิ หรือ epididymis เพื่อเอาน้ำอสุจิออกมา
4) การทำเทเซ่ หรือ Testicular Sperm Extraction (TESE)
วิธีการนี้คือการเก็บชิ้นเนื้อหรือเนื้อเยื่ออัณฑะออกมาเล็กน้อยเพื่อสกัดหาตัวอสุจิโดยตรง หากใช้วิธีที่กล่าว ๆ มาแล้วไม่ได้ตัวอสุจิเพียงพอ อาจใช้กับผู้ชายที่ไม่มีท่อนำอสุจิแต่กำเนิด มีปัญหาอัณฑะอักเสบ หรือปัญหาอื่นที่ทำให้อัณฑะสามารถสร้างตัวอสุจิได้น้อยมาก
ค่าใช้จ่าย
การเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงจะมีค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อชนิดต่อครั้งสำหรับโรงพยาบาลรัฐหรือแพงกว่านั้นไปเป็นหลักหมื่นสำหรับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ค่าใช้จ่ายนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล การเก็บตัวอสุจิจากอัณฑะโดยตรงมักจะทำควบคู่ไปกับการทำอิ๊กซี่หรืออิมซี่ ค่าใช้จ่ายการทำอิ๊กซี่และอิมซี่สามารถศึกษาได้จากเรื่องราวที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
บางคนแต่งงานกันไม่นานก็มีลูกน้อยสมความตั้งใจ แต่หลายคนต้องใช้ความพยายามอยู่หลายปีก็ยังไม่มีวี่แววที่จะตั้งครรภ์ได้อยู่ดี แท้จริงแล้วอะไรคือสาเหตุของปัญหามีบุตรยากกันแน่ เรามีคำตอบอยู่ตรงนี้
“ภาวะมีบุตรยาก” คืออะไร ?
ตรงๆ ตัวเลยคือการที่คู่สามี-ภรรยาไม่สามารถปฏิสนธิหรือมีลูกได้ สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชาย (ประมาณ 25%) หรือฝ่ายหญิง (40%) หรือเกิดจากทั้งสองฝ่าย (20%) และภาวะการมีบุตรยากนี้ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่มีอาการแท้งบุตรตามธรรมชาติ ผู้ชายที่มีภาวะเป็นหมันก็เช่นกัน ดังนั้นหากต้องการมีบุตรจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยสามารถแบ่งภาวะมีบุตรยากได้เป็น 2 ประเภทคือ ภาวะมีบุตรยาก ชนิดปฐมภูมิ (Primary Infertility) คือคู่สมคสที่มีบุตรยากโดยยังไม่เคยมีบุตรมาก่อน และชนิดทุติยภูมิ (Secondary Infertility) คือคู่สมควรที่เคยมีบุตรมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
Did you know ?
15% ของคู่สมรสในประเทศไทย หรือหนึ่งในเจ็ดของคู่สมรสทั่วโลก พยายามที่จะมีลูกภายใน 12 เดือนแต่ไม่สำเร็จ ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้มีการคุมกำเนิด เช่นนี้ก็เข้าข่ายของการเกิดปัญหามีบุตรยากนั่นเอง
จริงๆ แล้วมีหลากหลายสาเหตุมาก สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1.ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชาย
เกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด
ปัญหาที่เกิดจากอายุและปัญหาทางสุขภาพ เช่น อายุมากขึ้นและอาจมีความผิดปกติของฮอร์โมนจนอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการหลั่งน้ำอสุจิโดยไม่มีตัวอสุจิหรืออสุจิน้อยลงจนไม่มี เชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติ เชื้ออสุจิอ่อนแอ ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว มีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง และเวลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นหมัน หรือต้องรับเคมีบำบัด
2.ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายหญิง
เกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด การเลือกอาหารการกินที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ เกิดจากความอ้วน มีความเครียดที่เกิดจากการทำงานหรือปัญหาส่วนตัว
ปัญหาที่เกิดจากอายุและปัญหาทางสุขภาพ เช่น เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน อายุที่มากขึ้นทำให้มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะไข่ไม่ตก ท่อรังไข่อุดตัน มีเนื้องอกในมดลูก มีพังผืดเกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูก หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้หญิงที่มีบุตรยาก ฯลฯ ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มีปัญหาบริเวณมดลูกเช่นนี้ มักจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการปวดท้องผิดปกติ หากมีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสรักษาให้หายและพร้อมจะมีบุตรตามธรรมชาติได้
3.ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากทั้งสองฝ่าย
เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ทั้งนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาสาเหตุของทั้งสองฝ่าย โดยแพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ หากเป็นฝ่ายชายส่วนมากก็จะซักประวัติส่วนตัวและตรวจเชื้ออสุจิ เพราะฉะนั้นจึงควรงดการหลั่งอสุจิประมาณ 2-7 วันก่อนมาพบแพทย์ ส่วนการหาสาเหตุในฝ่ายหญิงก็มักจะซักประวัติส่วนตัวและทำการตรวจภายใน ตรวจระดับฮอร์โมนเพศ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ต่อไป
Fact !
มีคู่สมรสอีกจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือประมาณ 15-20% ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นจากแพทย์แล้ว และไม่พบความผิดปกติใดๆ ซึ่งจัดเป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นจึงควรรีบดำเนินการพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุแบบเจาะลึกต่อไป
แนวทางการรักษา
ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลไปมาก และมีวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากมากมาย ขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหา สาเหตุของผู้มีบุตรยาก ซึ่งแพทย์จะร่วมกับคนไข้ในการค้นหาวิธีรักษา เช่น การรับประทานยาหรือฉีดกระตุ้นเพื่อให้มีการตกไข่ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF, ICSI) ในบางรายอาจจะต้องมีการผ่าตัด เช่น ซีสต์ เนื้องอก เลาะพังผืด แก้ไขท่อนำไข่ตัน หรือแม้แต่การผ่าตัดแก้หมัน เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กลับสู่หน้าหลักเข้าใจหลักการรักษาภาวะมีบุตรยาก
ทางเลือกเมื่อคุณมีลูกไม่ได้
ทำอย่างไรให้ได้ลูกแฝด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!