โรคชิคุนกุนยา โรคร้ายที่มาจากยุงลาย กำลังระบาด พ่อแม่สังเกตอาการลูกให้ดี!!

โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) โรคติดต่อที่กำลังระบาดทั้งทางภาคเหนือ และทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกชุก พ่อแม่ระวังลูกน้อยให้ดี
โรคชิคุนกุนยา กำลังระบาด
โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย กำลังระบาดอย่างนักที่จังหวัดลำพูน ตอนนี้พบผู้ป่วยแล้ว 171 คน แยกเป็นผู้ป่วยที่ยืนยันเชื้อแล้ว 4 ราย ผู้ป่วยเข้าข่าย 163 ราย ผู้ป่วยสงสัย 4 ราย อายุต่ำสุด 7 เดือน อายุสูงสุด 85 ปี ในพื้นที่อำเภอป่าซาง แม่ทา และเมืองลำพูน
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ รายงานสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 มิถุนายน 2562 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยทั้งหมด 3,794 ราย จาก 27 จังหวัด พบการระบาดทางภาคใต้มากสุด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
โรคชิคุนกุนยาคืออะไร
โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคที่มียุงลายสวย (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค และสามารถติดต่อกันได้ วิธีการติดต่อ จะเริ่มจากที่ยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นติดโรคได้ จึงเกิดเป็นโรคติดต่อค่ะ
ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา
- ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน
- มีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2 – 4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก และอยู่ในระยะติดต่อ
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
- มีตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
- มีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย (จะยิ่งเห็นชัดในผู้ใหญ่)
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
- มีเลือดออกตามผิวหนัง

โรคชิคุนกุนยา โรคร้ายที่มาจากยุงลาย
วิธีการรักษาโรคชิคุนกุนยา
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคนี้โดยตรง เนื่องจากโรคนี้มักหายเอง ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องรักษาตามอาการค่ะ ซึ่งอาจบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคนี้ได้ด้วยการดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงรับประทานยาเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น ห้ามทานยาแอสไพรินหรือยาต้านการอักเสบจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้เป็นไข้เลือดออก เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติ และโรคนี้ในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
การวิธีป้องกันโรคชิคุนกุนยา
- ระวังไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
- ใช้ยาไล่เเมลงหรือยาจุดกันยุงที่อาจช่วยป้องกันยุงภายในอาคารได้
- อยู่ในห้องที่มีประตูและหน้าต่างมุ้งลวด หรือห้องปิดสนิทที่มีเครื่องปรับอากาศ
- เด็กเล็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่นอนกลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แหล่งน้ำขังตามธรรมชาติ ภาชนะที่มีน้ำขัง เป็นต้น
- ในสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค อาจพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่ายุงและลูกน้ำยุงลายตามแหล่งน้ำที่พบยุงชุกชุม
ความแตกต่างระหว่างไข้เลือดออก กับโรคชิคุนกุนยา
-
ชิคุนกุนยา จะเกิดไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในไข้เลือดออก
-
ชิคุนกุนยามีระยะของไข้สั้นกว่าในไข้เลือดออก
-
ชิคุนกุนยาจะพบจุดเลือดที่ผิวหนัง ทั้งที่เกิดเอง และจากการทดสอบได้น้อยกว่าไข้เลือดออก
-
ไม่พบผื่นหายในไข้ชิคุนกุนยาเหมือนในไข้เลือดออกที่มีลักษณะวงขาว ๆ
- พบผื่นแดงแบบปื้นแดง ๆ และตาแดงในชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าไข้เลือดออก
-
พบอาการปวดตามเนื้อตัว ปวดตามข้อ ในชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในไข้เลือดออก
-
ชิคุนกุนยาจำทำให้เกิดไข้สูงฉับพลัน จึงพบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึง 15% ซึ่งสูงกว่าในไข้เลือดออกถึง 3 เท่า

ชิคุนกุนยา โรคร้ายที่มาจากยุงลาย
โรคไข้เลือดออกเป็นอย่างไร
โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส “เด็งกี่ (Dengue)” มียุงลายเป็นหานะนำโรคเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นโรคอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปแล้วโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัส มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เด็งกี่-1 เด็งกี่-2 เด็งกี่-3 และเด็งกี่-4 หากร่างกายได้รับเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ แกต่ถ้าเคยได้รับเชื้อจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้นขึ้นมา และจะไม่ติดเชื้อสายพันธุ์นั้นอีกเลย เว้นแต่จะเป็นเพราะสายพันธุ์อื่น
ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
- หลังจากถูกยุงกัด เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยใช้ระยะฟักตัว 5-8 วัน โดยที่สั้นสุด 3 วัน นานสุด คือ 15 วัน
- มีไข้สูงไม่บด 2-7 วัน
- มีไข้ ตัวร้อน ไอ คลื่นไส้ เวียนหัว คล้ายไข้หวัด
- บางรายมีอาการความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ปวดตามกระดูก ปวดตา ตาพร่า
- อาจมีอาการท้องเสีย
- พบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง มตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้
- มีเลือดออก (กรณีอาการถึงขั้นรุนแรง) เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันอาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด
- อาจมีอาการรุนแรง หรือเรียกว่า ภาวะช็อก
ที่มา: chiangmainews, pobpad, honestdocs
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก กรมควบคุมโรคเตือนพ่อแม่ ดูแลลูก 1-3 ปี สังเกตอาการโรคมือเท้าปาก
โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน ฝนตก ลูกเสี่ยงป่วยง่าย โรคไหนที่ต้องระวังในหน้าฝน โรคหน้าฝนในเด็ก
อาร์เอสวี เชื้อไวรัสร้าย ทารก เด็กเล็ก ติดเชื้อไวรัส RSV ได้ง่ายช่วงหน้าฝน