พอเข้าหน้าทุเรียนทีไร ก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอ ว่า คนท้องกินทุเรียนได้ไหม เพราะทุเรียนเป็นผลไม้โปรดของใครหลายคน แต่ด้วยความที่ว่าบางคนอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ การจะกินทุเรียนตอนท้อง จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และเป็นเรื่องที่ทำให้คุณแม่กังวลใจ กลัวว่ากินไปแล้วลูกจะเป็นอันตราย กลัวว่าจะส่งผลเสียต่อลูกในท้อง วันนี้เราจะมาดูกันว่า กินทุเรียนตอนท้องได้ไหม กินเท่าไหร่ถึงจะพอดี
กินทุเรียนตอนท้องได้ไหม ส่งผลอะไรกับทารกหรือเปล่า
คุณแม่ที่ตั้งท้องหลายคนอาจจะกลัว และไม่กล้ากินทุเรียนกัน แต่ว่าจริง ๆ แล้ว คนท้องนั้น สามารถกินทุเรียนได้ แต่ไม่ควรกินเยอะเกินไป ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม และโฟเลต เป็นต้น หากทานแต่พอดี คุณแม่และเด็กทารกก็จะได้รับประโยชน์จากสารอาหารเหล่านี้
กินทุเรียนตอนท้อง แค่ไหนถึงจะพอดี ควรกินพันธุ์ไหนดี
หากคุณแม่ต้องการกินทุเรียน ให้เลือกกินทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนีไข่ เพราะมีโฟเลตสูง ดีต่อสุขภาพของคุณแม่ และทารกในครรภ์ ช่วยให้คุณแม่เจริญอาหาร แก้อาการอ่อนเพลีย รักษาแผลร้อนใน ป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง และยังช่วยบำรุงผิว ป้องกันพยาธิในลำไส้ และช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทุเรียนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่และเด็กทารก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกินเยอะเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งปริมาณทุเรียนที่คนท้องควรกินต่อวันนั้น จะอยู่ที่ 1 พู หรือประมาณวันละ 2 เม็ด
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลายข้อสงสัย คนท้องกินทุเรียนได้ไหม คำถามคาใจคุณแม่หลาย ๆ คน
คนท้องกินทุเรียนได้ไหม ส่งผลเสียอย่างไร
หากกินทุเรียนเยอะเกินไป คุณแม่อาจน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย รวมทั้งอาจเป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ทั้งนี้ ด้วยความที่ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกำมะถันออกฤทธิ์ร้อน หากกินมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน จะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายและความดันโลหิตสูงขึ้น จนอาจรู้สึกแน่นท้อง และส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ในที่สุด ดังนั้น หากคุณแม่อยากสุขภาพดีและได้ประโยชน์จากการกินทุเรียน ก็ควรกินตามปริมาณที่แนะนำ และควรกินคู่กับอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ด้วยจะดีที่สุด
คุณแม่คนไหนที่ควรงดกินทุเรียนตอนท้อง
กรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ ควรงดการรับประทานทุเรียนไปก่อน เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีพลังงานสูงและมีน้ำตาลปริมาณมาก หากกินเข้าไปก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามได้ และเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ ดังนั้น จึงควรกินทุเรียนแต่น้อยหรือควรหลีกเลี่ยงไปเลยจะดีที่สุด
กินทุเรียนแต่พอดีก็มีประโยชน์
แม้ว่าการรับประทานทุเรียนจะให้พลังงานสูง เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิต แต่ถ้าหากคุณแม่กินแต่พอดี และรับประทานผลไม้ที่หลากหลายก็จะส่งผลดีต่อแม่ท้องด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่าในทุเรียนมีโฟเลตสูง ช่วยให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เช่น
- ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- บำรุงเซลล์สมองและเพิ่มความจำได้ดีขึ้น
- ช่วยทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยลดการปัจจัยการเกิดโรคหัวใจ อันตรายจากคอเลสเตอรอลและโฮโมซิสเทอีน ที่สามารถทำลายหลอดเลือดหัวใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง : หลังผ่าคลอดกินทุเรียนได้ไหม แม่ให้นมกินทุเรียนจะเป็นอะไรหรือเปล่า?
อะไรที่ไม่ควรกินกับทุเรียน
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับทุเรียนอาจเพิ่มความร้อนในร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เช่น หน้าแดง เหงื่อออก ปวดหัว
- ผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว: ทุเรียนมีฤทธิ์ร้อน การทานคู่กับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะขาม ส้ม อาจทำให้ท้องเสีย
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม: ทุเรียนมีไขมันสูง การทานคู่กับนมอาจทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- อาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก: ทุเรียนมีคาร์โบไฮเดรตสูง การทานคู่กับอาหารที่มีแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง อาจทำให้อ้วนขึ้น
- กาแฟ: คาเฟอีนในกาแฟอาจเพิ่มความร้อนในร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ ใจสั่น
ทั้งนี้สำหรับกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานทุเรียน
ทางเลือกอื่น ๆ สำหรับแม่ท้องที่ไม่กินทุเรียน
สำหรับคนท้องที่ไม่กินทุเรียน แต่ก็ยังอยากให้ร่างกายได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอ แนะนำให้ทานอาหารต่อไปนี้ได้
- ถั่วเลนทิลต้ม ½ ถ้วย ให้ปริมาณโฟลิก = 180 ไมโครกรัม
- กระเจี๊ยบมอญต้ม ½ ถ้วย ให้ปริมาณโฟลิก = 134 ไมโครกรัม
- หน่อไม้ฝรั่งสุก 6 หน่อ ให้ปริมาณโฟลิก = 132 ไมโครกรัม
- ผักปวยเล้งสุก ½ ถ้วย ให้ปริมาณโฟลิก = 130 ไมโครกรัม
- ถั่วแดง ½ ถ้วย ให้ปริมาณโฟลิก = 114 ไมโครกรัม
- อะโวคาโดสดขนาดกลาง ½ ผล ให้ปริมาณโฟลิก = 80 ไมโครกรัม
- น้ำส้มคั้นสด 1 แก้ว ให้ปริมาณโฟลิก = 80 ไมโครกรัม
- ข้าวโพดนึ่งฝักใหญ่ 1 ฝัก ให้ปริมาณโฟลิก = 55 ไมโครกรัม
- บรอกโคลีสุก ½ ถ้วย ให้ปริมาณโฟลิก = 52 ไมโครกรัม
- สับปะรดศรีราชา 100 กรัม ให้ปริมาณโฟลิก = 54 ไมโครกรัม
ในตอนนี้ คุณแม่ก็ได้รู้กันไปแล้ว ว่าคนท้องนั้น กินทุเรียนได้ ไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้อง เพียงแต่ว่าไม่ควรกินเยอะจนเกินไป นอกจากนี้ ควรทานผักและผลไม้ที่มีประโยชน์อย่างอื่นควบคู่ไปด้วย หมั่นขยับร่างกายเบา ๆ แทนการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีและสมวัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
15 ร้านข้าวเหนียวทุเรียน อร่อยสุดฟิน สายกินจะต้องชอบ!
เด็กกินทุเรียนได้ไหม ปลอดภัยไหม กินได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
คนท้องกินข้าวเหนียวทุเรียนได้ไหม ควรกินแค่ไหน ถึงจะไม่เสี่ยงเบาหวาน
ที่มา : babycenter, enfababy, rakluke