หลายคนมีอาหารโปรดที่ชอบ คือ แหนม เพราะมีรสที่เปรี้ยว และมีความมัน ซื้อมาแล้วเก็บไว้ทานได้นาน คนท้องกินแหนมดิบได้ไหม สำหรับคนท้องอาจต้องระวัง เพราะอาจมีสารไนเตรตปะปนมาได้หากเลือกซื้อไม่ดี นอกจากนี้รูปแบบอาหารประเภทนี้ถึงจะไม่มีสารอันตราย แต่การทานมากเกินไปก็ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของคนท้องอยู่ดี
คนท้องกินแหนมดิบได้ไหม ?
แหนมที่ถือว่าเป็นอาหารที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานก่อนนำมาปรุงอาหารทาน แหนมจึงเป็นเมนูอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังด้วยเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการผลิตอาหารประเภทนี้ อาจมีการใช้ “สารไนเตรต (Nitrate)” ในปริมาณมากรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากร่างกายของคุณแม่รับสารนี้เข้าไป อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ได้ เนื่องจากไนเตรตจะไปทำปฏิกิริยากับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดลำเลียงออกซิเจนได้น้อยลง หากเลือดมีออกซิเจนน้อยจะส่งผลโดยตรงต่อตัวของคุณแม่ และพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วย หากร่างกายของคุณแม่มีออกซิเจนน้อยลง ทารกก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินผัดไทยได้ไหม เมนูคู่คนไทย แต่คู่แม่ท้องได้หรือเปล่า ?
วิดีโอจาก : RAMA Channel
แหนมกับไนเตรตอันตรายที่มากกว่าที่คิด
สารไนเตรต (Nitrate) เป็นสารกันเสียที่ถูกนำมาใช้ในอาหารหลายชนิด ไม่ใช่แค่เพียงแหนมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาหารชนิดอื่นที่เรามักพบเจอตามร้านอาหารทั่ว ๆ ไป เช่น กุนเชียง, ไส้กรอก, แฮม, เบคอน หรือเนื้อเค็ม เป็นต้น สารชนิดนี้จะทำปฏิกิริยาจนเนื้อมีสีแดงน่ารับประทาน อันตรายจากสารนี้สูงสุดสามารถถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากทานบ่อยครั้ง และทานปริมาณมากในแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศจำกัดปริมาณการใช้สารชนิดนี้ในกระบวนการผลิตเอาไว้แล้ว แต่สำหรับคนท้องที่มีทารกตัวน้อยนั้นก็ยังจำเป็นต้องเลี่ยงอยู่ดี หากต้องทานควรทานในปริมาณน้อย เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างในปริมาณมาก
เมื่อร่างกายได้รับสารนี้เม็ดเลือดแดงที่ลำเลียงออกซิเจนได้น้อยลง จะทำให้ร่างกายของคุณแม่เกิดความผิดปกติมากขึ้นจากการที่เซลล์ขาดออกซิเจน เช่น หัวใจเต้นเร็ว, อ่อนเพลีย, คลื่นไส้อาเจียน, ตัวเขียว, หายใจไม่ออก เมื่ออาการหนักขึ้นอาจเป็นลมหมดสติได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเลือดใด ๆ อยู่แล้วจะยิ่งอันตราย และแม้ว่าจะทานปริมาณน้อย แต่หากทานหลายมื้อในช่วงเวลาหนึ่ง สารพิษนี้สามารถตกค้างในร่างกายได้เช่นกัน เพราะจะเกิดการสะสมจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
สารไนเตรตยังถูกพบเจอได้ในพืชผักด้วย เนื่องจากไนเตรตเป็นส่วนประกอบของสารเคมีที่พบเจอได้ในบางสูตร เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรต หรือปุ๋ยยูเรีย เป็นต้น หากพืชผักที่ปลูกใช้สารเคมีก็มีโอกาสเจอได้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต่อให้คุณแม่ท้องจะไม่กินแหนม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่ออาหารชนิดอื่นอยู่
ไนเตรตพบเจอได้ง่ายแบบนี้ ควรทำอย่างไรดี ?
จะทานอะไรก็ต้องมานั่งห่วงมาจะมีสารพิษชนิดนี้ไหม เพราะต่อให้เลี่ยงแหนม หรืออาหารประเภทเดียวกัน แต่ก็ยังสามารถเจอจากพืชผักที่แม่ท้องก็ไม่รู้ว่าจะสะอาดปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ล้างน้ำแล้วจะสะอาดแน่นอนหรือเปล่า สำหรับการทานอาหารใด ๆ แม่ท้องควรให้ความสำคัญกับเครื่องหมายที่แสดงถึงความปลอดภัยตามมาตรฐาน เช่น เครื่องหมาย อย. เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อป้องกันการตกค้างของสารชนิดนี้ แม่ท้องสามารถเสริมความแข็งแรงของร่างกายได้ จากการทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินนานาชนิด โดยเฉพาะวิตามินซี ที่มีส่วนช่วยได้มาก จากการทานส้ม, ฝรั่ง, สตรอว์เบอร์รี, บรอกโคลี, พริกหวาน และคะน้า เป็นต้น
วิตามินซียาดีป้องกันไนเตรตจากแหนม
อาหารที่มีไนเตรตอาจพบได้ตามท้องตลาดโดยที่เราไม่รู้ตัว การทานอาหารที่มีวิตามินสามารถป้องกัน และมีส่วนช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับสารพิษ หรือสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ ได้ดี มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย แน่นอนว่าวิตามินซีเป็นสารอาหารที่ร่างกายแม่ท้องไม่สามารถสร้างได้เอง และหากไม่มั่นว่าทุกวันนี้มื้ออาหารที่ทานอยู่ปนเปื้อนไนเตรตหรือเปล่า ให้คุณแม่สังเกตอาการผิดปกติตามที่กล่าวไป และให้ทานอาหาร ดังนี้
ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
- ส้ม 53.2 มก. / 100 ก. : เนื่องจากง่ายต่อการทาน เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยทั่วไปอยู่แล้ว กินแบบเป็นผลก็ได้ หรือนำไปคั้นเป็นน้ำก็ดี ด้วยวิตามินซีที่สูงมาพร้อมกับความเปรี้ยวหวาน แม่ท้องคงทางได้ไม่ยากแน่นอน
- มะขามป้อม 276 มก. / 100 ก. : ด้วยปริมาณวิตามินซีที่สูงมาก ยาสำหรับรักษาอาการไข้ หรือบรรเทาอาการโรคบางชนิดจึงมักมีส่วนประกอบของมะขามป้อมรวมอยู่ด้วย
- ลิ้นจี่ 71.5 มก. / 100 ก. : ผลไม้รสหวานนี้ส่งผลดีต่อร่างกายได้ด้วยการทานเพียง 3 ผลใน 1 วัน นอกจากจะมีวิตามินซีพอสมควรแล้ว ยังสามารถช่วยลดโอกาสเกิดเหน็บชาได้จากวิตามินบี 1 ในลิ้นจี่ด้วย
- สตรอว์เบอร์รี 58.8 มก. / 100 ก. : วิตามินและแร่ธาตุหลากชนิด มีส่วนช่วยร่างกายได้หลายอย่าง เช่น การบำรุงดวงตา และลดการเสื่อมสภาพของดวงตา
พืชผักที่มีวิตามินซีสูง
- คะน้า 147 มก. / 100 ก. : คะน้าเป็นผักที่ทานได้ง่าย ตั้งแต่ต้นเล็ก ๆ ไปจนถึงมีดอก ช่วยกำจัดสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย แถมยังง่ายต่อการนำไปประกอบอาหารอีกด้วย
- พริกหวาน 80.4 มก. / 100 ก. : พริกหวานเป็นวัตถุดิบที่เจอได้ง่าย สารอาหารมาก หากรอให้สุกก่อนนำมาทาน จะมีปริมาณของวิตามินซีสูงกว่าตอนยังไม่สุกพอสมควร
- บรอกโคลี 2 มก. / 100 ก. : ไม่ว่าจะทานส่วนดอก หรือลำต้นก็มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ข้อระวัง คือ หากนำไปปรุงร้อนจัด จะทำให้สารอาหารในบรอกโคลีหายไปได้
การทานแหนมมีความเสี่ยงต่อการตกค้างของสารพิษได้ ถึงแม้จะถูกรับรองว่าปลอดภัยจาก อย. แต่การทานของที่มีความมัน หวาน หรือเปรี้ยวมากเกินไป ก็ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของคนท้องอยู่ดี จึงควรเน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อยู่เสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมี่ยงคำเมนูรักษาสมดุลร่างกายเมื่ออากาศแปรปรวน คนท้องกินเมี่ยงคำได้ไหม ?
สงสัยไหม คนท้องกินแห้ว กินมันแกวได้ไหม ของดีแบบนี้ต้องเลี่ยงเหรอ ?
คนท้องกินทะเลดองได้ไหม เมนูยอดฮิต มั่นใจจริงไหมว่าปลอดภัย ?
ที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Rama Channel