เมนูไข่เยี่ยวม้าที่มีกลิ่นเฉพาะตัว หลายคนไม่กล้ากิน ในขณะที่หลายคนก็ชอบกินมาก คนท้องกินไข่เยี่ยวม้าได้ไหม คนท้องคนไหนที่ชอบกินไข่เยี่ยวม้าเป็นชีวิตจิตใจ ห้ามพรากบทความนี้ เพราะยังมีเรื่องที่ต้องระวังในการทาน หากเลือกไม่ดี อาจส่งผลต่อร่างกายของเราได้โดยไม่ทันตั้งตัว
ไข่เยี่ยวม้าทำมาจากอะไร ?
สำหรับ “ไข่เยี่ยวม้า” ถือเป็นผลผลิตที่ได้จากการนำไข่ธรรมดา ไปเข้ากระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง คล้ายกับการนำไข่ไปทำให้เป็นไข่เค็มนั่นแหละ แต่สำหรับขั้นตอนในการทำไข่เยี่ยวม้า จะทำการถนอมอาหารด้วยการพอกไข่ด้วยปูนขาวผสมใบชา, เกลือป่น และขี้เถ้าที่ผ่านการนวดด้วยน้ำเย็น นอกจากนี้ยังอีกวิธีหนึ่ง คือ นำไข่ไปแช่ในน้ำที่มีส่วนผสมของสารละลายเบส และมีปูนขาว, ชาดำ, เกลือ, สังกะสีออกไซด์ และโซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate) อย่างไรก็ตามสูตรการทำไม่ได้ตายตัวแบบนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตด้วย
คนท้องกินไข่เยี่ยวม้าได้ไหม ?
ไข่เยี่ยวม้าอาจเป็นมื้ออาหารโปรดของใครหลายคน เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะกะเพราไข่เยี่ยวม้า หรือทานคู่กับโจ๊ก ที่ใครชอบก็คงชอบเลย ใครไม่ชอบก็คงไม่อยากลอง แต่สำหรับคนท้องที่ชอบกินไข่ชนิดนี้อาจมีความกังวล เพราะไม่ใช่ไข่แบบธรรมชาติ แต่ถูกนำมาปรุงแต่งให้เปลี่ยนไปจากเดิม หากคุณแม่ตั้งครรภ์กำลังกังวลใจว่าสามารถกินไข่เยี่ยวม้าได้ไหม เราขอตอบเลยว่าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ กุมารแพทย์ ประจำศูนย์กุมารเวช สาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเจ้าพระยา ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าไข่เยี่ยวม้าเปรียบได้กับของหมักดองชนิดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งอิงตามหลักโภชนาการทั่วไปแล้ว คนท้องต้องเลี่ยงของหมักดองอยู่แล้วนั่นเอง นอกจากนี้ไข่เยี่ยวม้าตามท้องตลาด เราอาจไม่รู้แหล่งที่มาก่อนร้านค้านำมาประกอบอาหาร หากทางผู้ผลิตไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้อันตรายได้นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินเห็ดทรัฟเฟิลได้ไหม กินตามเทรนด์ใช่ว่าจะปลอดภัย !
ทำไมคนท้องจึงควรเลี่ยงไข่เยี่ยวม้า
อันตรายหลัก ๆ ของไข่เยี่ยวม้าจะมาจากกระบวนการผลิตที่มีส่วนผสมของสารอันตรายก่อโรค โดยปกติแล้วการไปทานตามร้านทั่วไป คงไม่มีใครถามกับทางร้านว่าไข่เยี่ยวม้าในเมนูจานนี้มาจากที่ไหน ปลอดภัยหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไข่เยี่ยวม้าจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ จะถูกส่งตรงถึงเมนูจานโปรดของคุณแม่ เพราะอาจเกิดการแอบใส่สารตะกั่วออกไซด์ หรือซัลไฟด์ลงไปในขั้นตอนการทำ เนื่องจากสารเหล่านี้จะช่วยให้ไข่กลายเป็นไข่เยี่ยวม้าได้เร็วขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในขั้นตอนการผลิตมากกว่าวิธีที่ปลอดภัย แต่สารเหล่านี้ทำให้ไข่เยี่ยวม้าปนเปื้อนสารตะกั่วด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคหลายชนิด หากทางร้านไม่รักษาสุขอนามัยระหว่างประกอบอาหาร เช่น “คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens)” ที่ปนเปื้อนจากการไอ จาม และไม่ล้างมือ และยังมี “สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)” พบได้ในลำไส้ของทั้งคน และสัตว์ ซึ่งทั้ง 2 เชื้อนี้เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ และความผิดปกติต่าง ๆ ได้
อันตรายของสารตะกั่วในไข่เยี่ยวม้า
แม้จะมีการปนเปื้อนสารตะกั่วในไข่ชนิดนี้ หลายคนคงเกิดคำถามว่าแล้วทำไมตนเองกินมาแล้วแต่ไม่เป็นอะไร นั่นเป็นเพราะการสะสมของสารตะกั่วนั้นยังไม่ถึงปริมาณที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างชัดเจน หากคุณแม่ท้องกินไข่เยี่ยวม้าที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจริง แต่กินไม่บ่อยนาน ๆ ที ไม่ถึงขนาดกินทุกวัน หรือวันเว้นวัน การสะสมของสารตะกั่วในร่างกาย ก็จะไม่มากพอจะส่งผล แต่เพราะเราไม่รู้ว่าร่างกายของเรารับสารตะกั่วมาจากอาหารเมนูอื่นอีกหรือเปล่า การเลี่ยงการทานไข่เยี่ยวม้าที่ไม่มั่นใจในผู้ผลิต ก็ถือเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยสร้างเสริมความปลอดภัยให้กับร่างกายไว้ก่อน
หลายคนอาจคิดว่าร้านอาหารโปรดของตนนั้นปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเราก็อยากเตือนคุณแม่ เพราะทางด้านการทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อในไข่เยี่ยวม้าจากย่านการค้าในกรุงเทพ 5 จุด โดยสถาบันอาหาร ผลที่ได้พบว่าทุกจุดมีการใช้ไข่เยี่ยวม้าที่ปนเปื้อนเชื้อทั้งหมด แต่ปริมาณของเชื้อนั้นมีน้อย ทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายทันที แต่ถ้าหากทานเรื่อย ๆ ปริมาณของเชื้อก็จะทำอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น อาหารเป็นพิษ, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้ อาเจียน, อ่อนเพลีย และท้องเป็นตะคริว เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินสาหร่ายได้ไหม แบบสด หรือทอดกรอบ อันไหนต้องระวัง
คนท้องกินไข่เยี่ยวม้าอย่างไรให้ปลอดภัย
ถึงแม้ว่าจะดูอันตราย แต่หากแม่ท้องต้องการทานจริง ๆ ก็ต้องมีหลักการ และวิธีเลือกไข่เยี่ยวม้าให้ดี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทานให้มากขึ้นด้วย ดังนี้
- เลือกซื้อไข่เยี่ยวม้าให้ดี : การสังเกตสารตะกั่วที่ปนเปื้อนทำได้โดยการ สังเกตที่ไข่ขาว ว่ามีสีดำมากเกินกว่าปกติหรือไม่ อาจจะเป็นลักษณะสีดำขุ่น ซึ่งปกติแล้วจะเป็นสีน้ำตาลเข้มแบบใส ๆ หากไข่ขาวสีเข้มแบบนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นนอกจากการปนเปื้อน แต่การเลี่ยงไปก่อนก็เป็นการป้องกันตัวที่ดี
- เลือกจากคุณภาพความปลอดภัย : หากคุณแม่ซื้อมาประกอบอาหารเอง ให้ตรวจสอบที่มาก่อนซื้อ รวมถึงคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ บนฉลากให้ดี หากทานจากทางร้านก็ควรเลือกร้านที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพ หากทานร้านไหนแล้วมีอาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ ก็ควรเปลี่ยนร้านไปเลย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเมนู เพราะเชื้อโรคมาได้จากหลายองค์ประกอบภายในร้าน
- ทานให้น้อยไม่บ่อยครั้ง : การกินอาหารเมนูใด ๆ สำหรับคนท้อง ไม่ควรกินบ่อยมากเกินไปอยู่แล้ว เนื่องด้วยโอกาสเจออาหารที่ปนเปื้อนในชีวิตประจำวันนั้นง่าย การเปลี่ยนเมนู เปลี่ยนร้าน ทานอาหารให้หลากหลายเป็นการลดความเสี่ยงต่อเชื้อโรคได้ดี และแน่นอนว่าให้เน้นการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย
หากคุณแม่ต้องการทานไข่ เป็นคนที่สามารถทานไข่ได้ทุกชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารที่ดีกว่า เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า ควรทานไข่ที่นำไปประกอบอาหารปกติ ไม่ได้ผ่านกระบวนการถนอมอาหารมาก่อนจะดีกว่า เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทั้งสารเคมี และเชื้อโรคต่าง ๆ ได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินขนมครกได้ไหม หอม ๆ มัน ๆ อันตรายกว่าที่คิดนะ
คนท้องกินแต่ผักผลไม้ดีจริงหรือ ? ประโยชน์มีแน่นอน แต่โทษก็ไม่น้อย
คนท้องกินขนมจีบ ซาลาเปาได้ไหม แม่ท้องระวัง อาจเสี่ยงติดเชื้อ !