ท้องอ่อน ๆ ปวดหลัง คือ อาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ ตั้งแต่ท้องอ่อน ๆ ไปจนถึงใกล้คลอด แต่คุณแม่มือใหม่อาจจะมีความกังวลมากสักหน่อย เนื่องจากยังไม่ชินกับอาการดังกล่าว ซึ่งบางรายมีอาการปวดหลังช่วงล่างรุนแรง และลามขึ้นไปถึงหลังส่วนบน คล้ายอาการกล้ามเนื้ออักเสบของนักกีฬา หากปวดมากอาจต้องนอนพักหลายวันเลยทีเดียว ดังนั้นเรามาดูวิธีแก้ปวดหลังของแม่ท้องกันเลยดีกว่า
อาการปวดหลังของคนท้องอ่อน เกิดจากอะไร
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางอารมณ์และร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายนั้น นอกจากจะรู้สึก ปวดหัว อาเจียน คลื่นไส้ จากการแพ้ท้องแล้ว ยังมีการปวดเมื่อยตามร่างกาย ยิ่งตอนท้องอ่อน ๆ ปวดหลัง สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ถึง 80 % แต่จะปวดมากหรือน้อยนั้น อาการย่อมแตกต่างกันไป โดยจะปวดบริเวณกล้ามเนื้อหลังล่าง ช่วงเอวลงไปถึงก้นกบและหัวหน่าวอวัยวะเพศ บางรายอาจจะปวดนานจนถึงหลังคลอดด้วยซ้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
- ฮอร์โมนที่ชื่อว่า รีแลกซ์ติน (Relaxtin) ในรังไข่ที่ถูกสร้างขึ้น ส่งผลไปยังไขข้อในร่างกาย เพื่อช่วยกระตุ้นในการยืด ขยายเส้นเอ็นและกระดูกเชิงกรานให้คุณแม่คลอดง่ายขึ้น
- เหตุผลที่ ท้องอ่อน ๆ แล้วปวดหลัง เนื่องจากคุณแม่เริ่มมีความเครียด ความกังวลโดยไม่รู้ตัว ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง เส้นเอ็นตึง ซึ่งทำให้ปวดหลังได้ง่าย
- น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กระดูกสันหลังแบกรับน้ำหนักในส่วนหน้าท้อง จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดหลังมากขึ้น
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณแม่จะต้องแบ่งแคลเซียมให้ลูกในท้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทารกน้อยนำไปสร้างกระดูกภายในร่างกาย ซึ่งถ้าหากแม่ท้องรับแคลเซียมไม่เพียงพออาจทำให้เป็นโรคกระดูกผุและเกิดอาการปวดหลังได้
- เมื่อมดลูกขยายใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อกลางลำตัวด้านหลังจะยืดขยายออก ทำให้มีอาการปวดหลังตามมา ตลอดอายุครรภ์
- เมื่อท้องเริ่มใหญ่ขึ้น การเดิน ลุก นั่ง ทำความลำบากต่อการเคลื่อนไหวของคุณแม่ ดังนั้นการทรงตัวต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไป และไม่ถูกวิธี เช่น แอ่นตัวเวลาเดิน ก้มลงผิดท่า ก็นำมาซึ่งอาการปวดหลังได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหลัง เกิดจากสาเหตุใดและมีวิธีแก้อย่างไร ?
วิธีรับมือ ท้องไตรมาสแรกปวดหลัง
เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ แล้วมีอาการปวดหลังร่วมด้วย ในเบื้องต้นคุณแม่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อเช็คร่างกายอย่างละเอียด จริงอยู่ การปวดหลังช่วงท้องอ่อน ๆ อาจจะดีขึ้นในบางครั้ง หรือเป็นเรื่องปกติอย่างที่เราทราบกัน แต่เพื่อความปลอดภัยว่า ไม่มีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน
1. คุณแม่ควรทราบถึงเกณฑ์น้ำหนักที่เหมาะสม
คุณหมอจะทำการชั่งน้ำหนักเพื่อบันทึกและวางแผนการตั้งครรภ์ให้ในเบื้องต้น เช่น คำนวณค่า BMI ของผู้หญิงตั้งครรภ์ ว่าไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 10-12 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ และควรเพิ่มได้เดือนละกี่กิโลกรัมจึงจะเหมาะสมกับการแบกรับน้ำหนัก
2. ปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินบ่อย ๆ หรือเดินเร็ว อีกทั้งไม่ควรยืนนาน ๆ เพราะจะไปกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด บริเวณช่วงเอวจะรับน้ำหนักเป็นเวลานานจนทำให้ปวดหลังล่าง หากต้องทำงานที่ยืนบ่อย ๆ คุณแม่ควรมีเก้าอี้ไว้นั่งพักบ้าง
3. ปรับการทรงตัว
หากคุณแม่เคยออกกำลังกายมาก่อนจะทราบว่า การยืนเท้ากว้างเท่าสะโพกจะช่วยให้ร่างกายสมดุลในการรับน้ำหนัก ดังนั้น คุณแม่พยายามยืนเท้ากว้างเท่าช่วงสะโพกเสมอ อย่ายืนเท้าชิดไป หรือกว้างเกินไปจะเสียการทรงตัว น้ำหนักจะไปลงสะโพกจนเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและปวดหลังได้
4. พยายามอย่านั่งนานเกินไป
การนั่งอยู่กับที่นานเกินไป จะทำให้คุณแม่ปวดหลัง ปวดไหล่ได้ค่ะ เนื่องจากการนั่งทำงานนาน ๆ จะให้เผลอทำหลังโก่ง โค้งงอได้ และทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนล้า ดังนั้นทุก 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย บิดร่างไปมา เดินไปมาเบา ๆ ที่สำคัญเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น เวลานั่งทำงานอย่าลืมหาหมอนมารองด้านหลังเพื่อพยุงไว้ด้วยค่ะ
5. เลือกสวมชุดชั้นในที่เหมาะสม
สิ่งหนึ่งที่แม่ท้องควรเตรียมไว้คือ เสื้อผ้าใหม่ และชุดชั้นในใหม่ โดยเฉพาะบราหรือยกทรง ที่ต้องรับน้ำหนักเต้านมขยายใหญ่ขึ้น เรื่องนี้ผู้หญิงที่มีขนาดเต้านมใหญ่แม้จะไม่ได้ท้อง จะทราบดีว่า นี่คือสาเหตุหลัก ของอาการปวดหลัง เนื่องจากต้องรับน้ำหนักของเต้านม จึงควรหาบราช่วยพยุงหน้าอกให้กระชับและไม่รัดรึงจนเกินไป จะลดอาการปวดหลังได้อย่างดี
6. ปรับเปลี่ยนเก้าอี้นั่งทำงาน
คุณแม่ ท้องอ่อน ๆ ปวดหลัง ง่าย เนื่องจากหลายคนยังทำงานอยู่ ดังนั้น ควรปรับเก้าอี้ทำงานและคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม อย่างการปรับองศาหน้าจอคอมพิวเตอร์ และระดับเก้าอี้ พนักเอน และควรหาเก้าอี้เล็ก ๆ วางไว้ใต้โต๊ะทำงาน เพื่อวางพักเท้าด้วยค่ะ จะลดอาการเหน็บชาซึ่งอาจร้าวไปสู่หลังได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหลังมาก อันตรายไหม? บริหารร่างกายแก้ปวดหลังอย่างไรดี
7. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
แม้คุณแม่จะสามารถยกของหนักได้เยอะ ๆ มาก่อน แต่เมื่อถึงคราวตั้งครรภ์ อย่าลืมว่า เรามีอีกหนึ่งที่ชีวิตที่อยู่ในท้อง การยกของหนัก ก้มผิดท่า จะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โดยเฉพาะกระดูกอุ้งเชิงกรานต่อเนื่องไปถึงส่วนหลัง นอกจากนี้ การยกของหนักยังเสี่ยงอันตรายต่อมดลูก ยิ่งท้องอ่อน ๆ ยิ่งเสี่ยงแท้งง่ายมากค่ะ
8. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง
เนื่องจากการใส่รองเท้าส้นสูงจะใช้พลังในการทรงตัวค่อนข้างมาก ท่อนขาออกแรงเกร็งมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลอันตรายต่อหลัง เพราะต้องเขย่งตลอดเวลา การถ่ายเทน้ำหนักผิดจังหวะได้ง่าย เสี่ยงต่ออุบัติเหตุอีกด้วย
9. เตรียมอุปกรณ์การนอนให้เหมาะสม
โดยเฉพาะที่นอน ควรเลือกที่เหมาะกับคนท้อง ไม่แข็งเกินไป ไม่นุ่มเกินไป รวมถึงหมอนควรมีระดับรองคอที่พอดี ที่สำคัญคุณแม่ควรมีหมอนเพิ่มหลายใบหน่อยค่ะ เช่น หมอนหนุนเท้า ไว้วางเท้าให้สูงกว่าศีรษะตอนนอน และหมอนข้างเอาไว้ก่ายเวลาท้องโตขึ้น และรู้สึกอึดอัด หมอนต่าง ๆ จะช่วยพยุงร่างกายได้อย่างดี
10. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
อย่าละเลยการออกกำลังกาย แต่ควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แรก ๆ อาจห้ามเดินเร็ว แต่คุณแม่สามารถเดินช้า ๆ รอบบ้านตอนเช้าได้ ลุกขึ้นแกว่งแขนบ้างระหว่างวัน พอผ่านไปสัก 3 เดือน ร่างกายเริ่มแข็งแรงแล้ว คุณแม่อาจจะลองว่ายน้ำ และเล่นโยคะฝึกลมหายใจดูค่ะ วิธีนี้จะทำให้คลอดง่าย แล้วที่สำคัญที่สุด ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องออกกำลังกาย ช่วยพัฒนาการลูกในครรภ์ ยิ่งออกกำลังกายยิ่งดีต่อลูก
อาการแทรกซ้อนที่ควรระวังนอกจากปวดหลัง
แม้จะมีหลายวิธีเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง แต่คุณแม่อย่าลืมว่า ยิ่งคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น เช่นตั้งแต่ ไตรมาสสาม ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้คลอด คุณแม่จะยิ่งปวดหลังและมีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ท้องผูกบ่อย ๆ
- มีอาการของริดสีดวงเกิดขึ้น
- เจ็บท้องเป็นช่วง ๆ
- มีน้ำคร่ำไหล ถุงน้ำคร่ำรั่ว
- มีภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
อาการต่าง ๆ เหล่านี้คุณแม่ต้องเตรียมรับมือไปพร้อม ๆ กับอาการปวดหลังที่ตามมา แต่ทุกอย่างไม่น่ากลัวหรือมีอันตรายค่ะ เพียงแต่หมั่นดูแลสุขภาพ อย่าให้มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ และเลือกรับประทานอาหารที่ดี
สำหรับคุณแม่ท้องไตรมาสแรก หากมีอาการปวดหลังมากจนทนไม่ไหว ห้ามคุณแม่ซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด แม้จะเป็นยาที่คุณหมอเคยจ่ายมาให้รับประทานก็ตาม เพราะคุณหมอจ่ายยาตามอาการ และจะดูแลอย่างต่อเนื่อง ถ้ายังไม่หาย หรือมีอาการปวดร้าวไปถึงหลังช่วงบน ปวดร้าวลงขา ชาไปถึงน่อง คุณหมอก็จะหาสาเหตุและทำการรักษาอาการปวดหลังต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้อง ปวดก้นกบ อันตรายไหม ทำอย่างไรให้หายปวด?
คนท้องปวดหว่างขา ร้าวมาถึงหัวหน่าว ปวดขนาดนี้ผิดปกติหรือเปล่า?
คนท้องปวดท้องน้อย เจ็บท้องน้อย เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือไม่?
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท้องอ่อน ๆ มีอาการปวดหลัง ได้ที่นี่!
ท้องอ่อน ๆ ปวดหลัง เกิดจจากอะไรคะ แบบนี้ปกติไหมคะ
ที่มา : samitivejhospitals, huggies