ลูกชอบปาข้าวของ ขว้างสิ่งของ ห้ามเท่าไหร่ไม่ฟัง ต้องแก้ยังไงดี
ลูกชอบปาข้าวของ ต้องแก้ยังไง ลูกเราปกติไหม? ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 2-4 ขวบ กำลังอยู่ในวัยที่ชอบแสดงความสามารถและแสดงความเป็นตัว (Stage of Autonomy ) ชอบลองว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น เดิน วิ่ง ซึ่งเป็นวัยที่กำลังซุกซน พ่อแม่ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เหมือนยิ่งยุให้ลูกทำหนักขึ้นมากกว่าเดิมซะมากกว่า
ทำไมลูกถึงชอบโยนข้าวของ?
จริงๆ แล้วการโยน ปา ขว้างข้าวของ เป็นทักษะที่เด็กวัยนี้เริ่มทำได้ เนื่องจากเด็กอยู่ในวัยที่อยากรู้อยากลอง และกำลังรู้สึกสนุกว่าสิ่งของที่อยู่ในมือจะขว้างไปได้ไกลแค่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าพ่อแม่สังเกตจะเห็นว่าเด็กบางคนพอปาของเสร็จแล้ว กลับยิ้มแล้วก็หัวเราะเวลาที่พ่อแม่ดุด้วยซ้ำ บางคนไม่ใช่แค่ปาลงพื้นแต่กลับปาใส่พี่ น้อง หรือแม้แต่พ่อแม่ตัวเองซะอีก
ลูกชอบโยนของ
ลูกชอบปาข้าวของต้องแก้ยังไง?
พอคุณแม่ตามเก็บและบ่นลูกด้วยปากเฉยๆ ลูกก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ และอาจทำให้หนักข้อขึ้นไปทุกที เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก ดังนั้นพ่อแม่จะต้องสอนลูกให้รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำนะ โดยทุกครั้งที่พ่อแม่เห็นลูกเริ่มทำท่าจะปาสิ่งของ คุณต้องรีบไปจับมือลูกข้างที่จะปาไว้ทันทีแล้วพูดกับเด็กด้วยสีหน้าและน้ำเสียงจริงจัง โดยพูดประมาณว่า “ลูกปาแก้วไม่ได้ครับ” อย่าดุ อย่าตีหรือห้ามพูดว่า “ไม่ให้” แต่ใช้วิธีการบอกลูกให้รู้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบและไม่อยากให้ทำพฤติกรรมนี้ออกมาจะดีกว่า
ถ้าลูกปาของไปแล้วห้ามไม่ทันจริงๆ พ่อแม่ก็ไม่ควรสั่งให้ลูกเก็บของแต่ปาก แต่ควรไปจูงมือลูกให้เดินเก็บของที่ปาเมื่อกี้นี้ด้วยกัน แล้วต้องคอยชมเมื่อลูกสามารถเก็บของได้เข้าที่ โดยที่พ่อแม่ต้องทำพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำๆ จนกว่าลูกจะรู้เรื่องว่าถ้าปาสิ่งของต้องเก็บของให้เข้าที่น่ะ พอลูกเกิดความเคยชินก้จะทำตามเองอัตโนมัติ
หากของที่ลูกปาเกิดความเสียหาย แตกกระจายไปหมด พ่อแม่ก็ต้องเตือนลูกบอกถึงความอันตราย หากลูกเผลอไปเยียบเศษเล็กๆ พวกนี้ และต้องทำให้ลูกรู้ว่าคุณไม่ได้รับสิ่งของมากกว่าลูก โดยการโมโหรุนแรงหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อลูกทำของพังโดยไม่ตั้งใจ เพราะอาจทำให้ลูกฝังใจกับภาพความน่ากลัวของพ่อแม่ บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขี้โมโห จากการมีพ่อแม่เป็นต้นแบบ แต่ควรจะสอนเขาอย่างเป็นมิตรนั่นคือสิ่งที่ควรทำมากกว่า
ดังนั้น ถ้าเห็นว่าลูกเริ่มยกมือขึ้นเตรียมจะขว้างของ อย่าลืมรีบเขาไปจับมือลูกและบอกลูกดีๆ หากห้ามไม่ทันก็จูงมือลูกไปเก็บให้เข้าที่ อย่าเอาตัวหัวเราะชอบใจถ้าเห็นลูกปาของใส่พื้นหรือคนอื่น และไม่ควรโมโหเกรี้ยวกราดใส่ลูกที่ทำของเสียหาย เนื่องจากลูกอาจจะตกใจกลัว ร้องไห้หนัก และยังทำให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ในระยะยาวซ้ำๆ อีก
ที่มา: คลีนิกเด็กหมอสังคม, ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี หนูทำแบบนี้ แม่ต้องรับมือแบบไหน
ตีลูกดีไหม ลงโทษลูกอย่างไร ให้ลูกได้บทเรียน แต่แม่ไม่ปวดใจ
ดื้อต่อต้าน โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หากลูกเกิน 3 ขวบแล้วยังเป็นอย่างนี้ ใช่เลย!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!