พ่อแม่หลายคนอาจเคยเจอช่วงเวลาที่ลูกน้อยเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน เช่น งอแงผิดปกติ กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า น้ำลายไหลเยอะขึ้น หรือแม้แต่ตื่นกลางดึกบ่อยๆ โดยไม่รู้สาเหตุ อาการเหล่านี้อาจทำให้คุณสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกกันแน่? หนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ ลูกปวดเหงือก ฟันขึ้น นั่นเอง
ลูกฟันขึ้น เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กทุกคน ช่วงเวลานี้มักทำให้ลูกปวดเหงือก ฟันขึ้น หรือมีอาการคันเหงือก และอาการไม่สบายตัวต่างๆ ตามมา ซึ่งพ่อแม่สามารถเตรียมตัวรับมือและหาวิธีช่วยบรรเทาความเจ็บปวด เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวขึ้นได้
ฟันซี่แรกมาเมื่อไร ชวนหาคำตอบ “ฟันเด็กขึ้นกี่เดือน”
ฟันขึ้น ถือเป็นพัฒนาการทางร่างกายที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งในการเจริญเติบโตของลูกน้อย คำว่าฟันขึ้น ในที่นี้ หมายถึงการที่ฟันโผล่พ้นเหงือขึ้นมานั่นเอง โดยฟันซี่แรก จะขึ้นในช่วงที่ลูกอายุประมาณ 4-8 เดือน แต่สัญญาณที่แสดงว่าฟันซี่แรกลูกกำลังขึ้นนั้นอาจเกิดล่วงหน้าเป็นเดือนๆ เช่น ลูกน้ำลายไหลมากกว่าปกติ ชอบหยิบจับสิ่งของเข้าปากแล้วกัดๆ ขบๆ เมื่อใกล้เวลาที่ฟันจะโผล่พ้นเหงือก ลูกอาจมีไข้และอาการไม่สบายเนื้อตัว งอแงผิดปกติ
ฟันน้ำนมซี่แรกของลูกจะเริ่มจากฟันหน้าล่าง 2 ซี่ ตามมาด้วยฟันหน้าบน 4 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 13-14 เดือน จะเริ่มมีฟันกรามซี่ที่ 1 ขึ้นทั้งบนและล่าง ขณะที่ฟันกรามซี่แรกขึ้น ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ลูกอาจงอแงมากกว่าปกติ เพราะฟันกรามซี่ใหญ่ อาจทำให้เด็กๆ รู้สึกหงุดหงิดไม่สบายตัว จนกระทั่งอายุประมาณ 16-17 เดือน จะเริ่มมีฟันเขี้ยวบนและล่างขึ้น อายุ 23 – 25 เดือน เป็นเวลาของฟันกรามซี่ที่ 2 ทั้งบนและล่าง กระทั่งลูกอายุประมาณ 3 ปี ก็จะมีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ฟันขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจเริ่มเร็วหรือช้ากว่า 4 เดือน ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4 สัญญาณ ลูกปวดเหงือก ฟันขึ้น พ่อแม่ช่วยอะไรได้บ้าง
บทความจาก British Dental Journal ระบุว่า พ่อแม่กว่า 70-80% พบว่าลูกน้อยมีอาการไม่สบายตัว หงุดหงิด งอแง น้ำลายไหล เบื่ออาหาร ฯลฯ เมื่อฟันขึ้น ต่อไปนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อลูกฟันขึ้น พร้อมวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวขึ้นได้
1. หงุดหงิดไม่สบายตัว
มักพบได้บ่อยเมื่อฟันซี่แรก และฟันกรามซี่แรกกำลังขึ้น ลูกอาจเจ็บเหงือก คันเหงือก แต่ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร จึงมีอาการหงุดหงิด รำคาญ และงอแงมากกว่าปกติ
พ่อแม่ช่วยได้: หากลูกอยู่ในวัยที่ฟันกำลังขึ้น และมีงอแงหงุดหงิดโดยไม่มีเหตุผล ให้เดาไว้ก่อนเลยว่าฟันของลูกอาจกำลังขึ้น สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ กอด และใช้เวลากับลูกรัก ว่ากันว่าสัมผัสจากพ่อแม่ช่วยคลายความรู้สึกไม่สบายเนื้อตัวได้ การใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้นสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของพวกเขา เพราะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจและมั่นคงทางอารมณ์
2. น้ำลายไหล มีผื่นแดง
โดยทั่วไปทารกมักมีน้ำลายไหลเป็นปกติ แต่หากพบว่าลูกน้ำลายไหลเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผื่นขึ้น เพราะน้ำลายที่ไหลมากเกินไป อาจทำให้เกิดผื่นรอบปาก แก้ม คาง และลำคอ เนื่องจากแบคทีเรียจากน้ำลายที่สะสมบนผิวหนัง ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าเจ้าตัวน้อยใกล้จะฟันขึ้นเต็มที
พ่อแม่ช่วยได้: พ่อแม่ควรพกผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กๆ ไว้ซับน้ำลายให้เจ้าตัวน้อย พยายามรักษาบริเวณรอบๆ ปากของลูกให้แห้งเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเริ่มสังเกตว่าผิวมีการระคายเคือง มีผื่นขึ้น อาจใช้วาสลีนทาเพื่อปกป้องผิวจาก การระคายเคือง
3. ชอบกัด แทะ
เห็นอะไรก็หยิบเข้าปากแล้วกัดๆ แทะๆ นั่นเป็นเพราะแรงกดจากการกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ ช่วยลดความเจ็บปวด ตึงๆ คันๆ เหงือกขณะที่ฟันกำลังขึ้นได้นั่นเอง อาการกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าฟันของลูกใกล้จะพ้นเหงือกออกมาแล้ว
พ่อแม่ช่วยได้: ความเย็นบรรเทาอาการไม่สบายเหงือกจากฟันขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้น้ำผลไม้แช่แข็งเป็นไอติมให้ลูกกัดๆ แทะๆ หรือนำยางกัดของลูกไปแช่เย็นให้แข็งๆ ก็ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือเรื่องความสะอาด ควรทำความสะอาดยางกัดและของเล่นต่างๆ ที่ลูกมักหยิบเข้าปาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคด้วย
4. ดึงหู ถูแก้ม
อาการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากลูกรู้สึกเจ็บเหงือกและความเจ็บนั่นลามมาถึงบริเวณหู หรือ แก้ม พบได้บ่อยเมื่อฟันกรามกำลังขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการดึงหู ก็อาจมีสาเหตุจากหูติดเชื้อได้เช่นกัน หากไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะฟันขึ้น หรือเพราะสาเหตุอื่น ควรปรึกษาแพทย์
พ่อแม่ช่วยได้: หากอาการดึงหู ถูแก้ม ของลูกมีสาเหตุจากฟันขึ้น สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือการนวดเหงือกให้ลูกเบาๆ ทำได้โดยล้างมือให้สะอาด ใช้นิ้วชี้คลึงเบาๆ บริเวณเหงือกตำแหน่งที่ฟันจะขึ้น ประมาณ 2-3 นาที ช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกได้

สัญญาณฟันขึ้นแบบไหน ที่ไม่ปกติ
ลูกปวดเหงือก ฟันขึ้น แบบไหนที่ควรพบแพทย์ อาการฟันขึ้นของเด็กส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและสามารถดูแลที่บ้านได้ แต่หากลูกมีอาการเหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์
- มีไข้สูงเกิน 38.5°C ร่วมกับอาการซึม ไม่ร่าเริง
- น้ำลายไหลมากผิดปกติ จนผื่นรอบปากลุกลาม ไม่สามารถควบคุมได้
- เหงือกบวมแดงมาก หรือมีเลือดออก
- ไม่กินนม ไม่กินอาหารต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
- มีอาการท้องเสีย (อาจเกิดจากติดเชื้อเพราะนำสิ่งต่างๆ เข้าปาก)
ฟันซี่แรกของหนู ดูแลอย่างไร
เมื่อฟันของลูกเริ่มขึ้นเกินครึ่งซี่ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้แปรงสีฟันเด็กขนาดเล็กที่มีขนนุ่มและปลายขนกลมมนแปรงฟันให้ลูก สามารถใช้ยาสีฟันเด็กปริมาณเท่าเม็ดข้าวแตะแค่ปลายแปรงสีฟัน ทำความสะอาดฟันให้ลูก และหลังแปรงเสร็จให้เช็ดฟองออกพร้อมทำความสะอาดภายในช่องปากด้วยผ้าสะอาด
เมื่อลูกฟันขึ้นแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกดูดนมจนหลับคาขวด เพราะอาจทำให้ฟันผุ และเมื่ออายุครบ 1 ปี ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็กเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นครั้งแรก
ในช่วงฟันขึ้น เด็กๆ มักจะงอแงจากอาการระคายเคืองเหงือก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแลทั้งสุขภาพช่องปากและจิตใจของลูกเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกสบายตัว สบายใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขอนามัยในช่องปาก ทำให้ฟันของลูกแข็งแรงและอยู่กับลูกได้จนกว่าจะหลุดตามธรรมชาติ เพื่อให้ลูกมีรอยยิ้มที่สวยงามตลอดไป
ที่มา: Children Hospital LA, โรงพยาบาลเชียงใหม่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกปากแห้ง อันตรายไหม? แนะวิธีดูแลริมฝีปากลูกน้อยให้กลับมาชุ่มชื้น สุขภาพดี
ลูกป่วยเพราะเขียง เตือน! พ่อแม่อย่ามองข้าม แหล่งก่อเชื้อโรคร้ายให้ลูกน้อย
15 วิธีกระตุ้นสมองทารก ช่วยให้ลูกฉลาด ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!