ลูกชอบนั่งท่า W เวลานั่งเล่นของเล่นอาจเป็นท่านั่งที่ดูชิลตามธรรมชาติของเด็ก นั่งได้นานไม่รู้สึกเมื่อย เด็กจะรุ้สึกได้นั่งในท่าที่มั่นคงไม่ล้มง่าย จนนั่งท่านี้ติดเป็นนิสัย
ลูกขา..อย่านั่งขาแบะ ลูกชอบนั่งท่า W ดูชิลๆก็จริง แต่มันแย่กว่าที่คิด!!
คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมค่ะ ท่าขาแบะออกมาเป็นตัว W แบบนี้แหละที่ส่งปัญหาถึงกระดูกของเจ้าตัวเล็กได้ เนื่องจากทำให้เกิดการกดทับที่สะโพกหัวเข่าและข้อเท้า จนนำไปสู่การมีปัญหาเกี่ยวกับท่าทางและการเคลื่อนไหวของเด็กได้ นอกจากนี้ท่านั่งแบบนี้ยังทำให้เกิดความตึงของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ลูกจะเคลื่อนไหวได้แค่อาจโค้งตัวได้ด้านหน้า แต่ไม่รู้วิธีการเคลื่อนไหวหมุนตัวอย่างอิสระ ซึ่งควรจะเป็นพัฒนาการสำหรับเด็กที่จะใช้ร่างกายเคลื่อนไหวได้รอบทิศ
ท่านั่ง W หรือ W-sitting คือลักษณะที่เด็กนั่งบนพื้น เข่างอ ขาวางแนบลำตัว และสะโพกจะวางอยู่ตรงกลางระหว่างเข่าทั้งสองข้าง มองดูคล้ายกับตัว W เด็กทุกคนสามารถนั่งท่านี้และชอบนั่งท่านี้ได้โดยไม่ต้องมีใครสอน เนื่องจากการนั่งในท่านี้ทำให้ฐานการนั่งกว้างขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายต่ำลง จึงช่วยเพิ่มความมั่นคงผ่านสะโพกและลำตัว ทำให้สะดวกต่อการหยิบจับของเล่นมานั่งเล่นอยู่กับที่เพราะไม่ต้องคอยที่จะทรงตัวมาก
แต่การนั่งในท่านี้กลับส่งผลเสียต่อทางกายภาพร่างกายของลูกได้ อาจเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อสะโพกและขาหดเกร็ง ทำให้เด็กเดินเท้าบิด เท้าแบนทั้งสองข้าง เสี่ยงต่อการปวดสะโพกและหลังบ่อยเมื่อโตขึ้น การนั่งขาแบะแบบนี้ยังทำให้เด็กมีปัญหาต่อพัฒนาการ ลูกจะไม่สามารถหมุนตัว เอี้ยวตัว หรือเอื้อมมือไปหยิบจับของเล่นชิ้นอื่น ๆ ได้ ยิ่งลูกที่ชอบนั่งท่านี้เป็นประจำบ่อย จะมีผลเสียต่อทักษะต่าง ๆ ล่าช้า กระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อกลุ่มอื่น ๆ และอาจเกิดผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามมาในอนาคต
ท่านั่งที่เหมาะสมของเด็ก ๆ เวลานั่งเล่นกับพื้นควรให้นั่งเหยียดขาหรือขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบก็ควรแนะให้ลูกได้นั่งสลับซ้ายขวาเปลี่ยนข้าง อย่านั่งอยู่ท่าเดียวเวลานาน คอยเตือนเมื่อเห็นลูกนั่งท่าขาแบะและจัดท่าให้ลูกนั่งในท่าที่เหมาะสมแทนทุกครั้งที่ลูกนั่งผิดท่านะคะ หมั่นบอกลูกทุกครั้งลูกก็จะจำได้ว่านั่งท่านี้ไม่ดีและไม่ติดนั่งท่า W ได้อีก
วิธีสังเกตเด็กขาโก่ง ทารก ขาโก่ง
แม่จะรู้ได้ยังไงว่า ลูกขาโก่ง ถ้าลูกขาโก่ง ดัดขาได้ไหม มาดู วิธีสังเกตเด็กขาโก่ง ทารก ขาโก่ง แบบไหนปกติ? โตแล้วหายเองได้ แบบไหนผิดปกติ? แม่ต้องรีบพาลูกไปหาหมอ ก่อนจะสายเกินแก้
ตามรูปด้านบนนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงเด็กที่มีขาโก่งโดยธรรมชาติที่เป็นมาตั้งแต่เกิด
โดยภาพที่ 1A ลักษณะขาเด็กจะโก่งออกนอก เข่าทั้งสองข้างจะห่างกัน และข้อเท้าชิดกัน ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในเด็กทุกคนหลังจากคลอดออกมาใหม่ ๆ ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เด็กเจริญเติบโต หรือขดตัวอยู่ในมดลูกของคุณแม่ซึ่งมีลักษณะกลม ๆ
- ภาพที่ 2B เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 2 ขวบ ขาเด็กจะตรงขึ้น
- ภาพที่ 3C เมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบ ขาเด็กมีลักษณะเป็นขาเป็ด
- ภาพที่4D เมื่อเด็กอายุได้ 7 ขวบ ขาเด็กจะกลับมาตรงเป็นปกติเหมือนขาผู้ใหญ่
ตามภาพนี้จะแสดงให้เห็นว่าเป็นขาโก่งที่ปกติ คือสามารถหายได้เองตามธรรมชาติเมื่อเด็กโตขึ้น
การสังเกตว่าเด็กขาโก่งผิดปกติ
แน่นอนว่าภาวะขาโก่งในเด็กนั้นเป็นไปตามธรรมชาติตั้งแต่แรกคลอด แต่หากเมื่อลูกอายุได้ 2 ขวบ ขาไม่ตรงคือยังคงเป็นลักษณะขาโก่งอยู่ (ตามรูป1A) และสามขวบก็โก่งมากขึ้น แนะนำว่าไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะเมื่อลูกอายุโตขึ้นขาก็จะยิ่งโก่งมากขึ้น ผลทางสุขภาพที่ตามมาคือจะเจ็บปวดตรงหัวเข่า และข้อเข่าจะเสื่อม
วิธีการรักษาเด็กขาโก่งที่ผิดปกติ
ในเด็กที่มีภาวะขาโก่งที่ผิดปกติคือไม่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ การรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัด โดยตัดแต่งกระดูกให้ตรง ใส่เฝือกขารอกระดูกติด เป็นวิธีรักษาที่ได้ผลมากที่สุด ยิ่งหากเป็นเด็กเล็กอายุน้อย ๆ การผ่าตัดจะรักษาได้หายเร็วกว่าเด็กที่อายุโต เพราะเด็กเล็ก ๆ กระดูกจะติดเร็ว หลังผ่าตัดคุณหมอจะใส่เฝือกให้ประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นจะฝึกกายภาพให้เด็ก ยืน เดิน ออกกำลังกายเบาๆ ให้กล้ามเนื้อฟื้นความแข็งแรง ขาก็จะตรงเดินได้ตามปกติ
ดัดขาลูกแต่เล็ก โตไปจะได้ไม่ขาโก่ง จริงไหม?
สำหรับข้อสงสัยที่ถามว่าการดัดขาเด็กตั้งแต่แรกเกิดจะช่วยให้เด็กไม่ขาโก่ง และการอุ้มเด็กเข้าเอวจะทำให้เด็กขาโก่งนั้น มีคำตอบเช่นเดียวกับข้อสงสัยเรื่องการใส่ผ้าอ้อมจะทำให้เด็กขาโก่งค่ะ
เพราะตามหลักการแพทย์แล้วเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ขาโก่งในเด็กเป็นไปตามธรรมชาติที่เด็กทุกคนต้องเป็นตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว สรุปคือเด็กขาโก่งตามธรรมชาติจะหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น ส่วนเด็กขาโก่งที่เป็นภาวะผิดปกติ ต้องได้รับการรักษาขาถึงจะกลับมาตรงเดินได้เหมือนขาตรงปกติทั่วไป ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีภาวะขาโก่งที่ผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากการรักษาตั้งแต่ตอนเด็กอายุน้อยๆ จะทำให้การรักษาได้ผลดีมากกว่าปล่อยไปรักษาตอนโตค่ะ
ลูกขาโก่งผิดปกติหรือเป็นโรคขาโก่ง เกิดจากอะไร
นายแพทย์ปวริศร สุขวนิช แผนกศัลยแพทย์กระดูกและข้อในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงสภาวะอาการขาโก่งเก ไว้ว่า อาการขาโก่งมักพบในเด็กในวัยช่วงหัดเดิน ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่า ๆ กัน ทั้งขาซ้ายและขาขวา หรือบางรายอาจจะพบว่าขาโก่งข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า ขาโก่งตามสรีระ (physiologic bow legs) ทั้งนี้ หากไม่ใช่ขาโก่งตามธรรมชาติ หรือขาโก่งปกติ (อาจขดตัวขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้เกิดการตึงของเส้นเอ็น และการรั้งของกล้ามเนื้อด้านในของข้อเข่า พอเริ่มยืนร่างกายก็จะปรับเข้าที่) ก็เป็นไปได้ว่า ขาโก่งผิดปกติ
สาเหตุที่ลูกขาโก่งผิดปกติ
- เกิดจากเนื้อกระดูกผิดปกติ
- หรือเป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม
- หรือเกิดจากความผิดปกติของข้อตะโพก
ป้องกันยังไงไม่ให้ลูกขาโก่ง
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาโก่ง ต้องระวังไม่ให้เด็กอ้วน เพราะภาวะนี้จะพบมากในเด็กที่อ้วน ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตดูอาการของลูก ถ้าปล่อยให้ภาวะขาโก่งนาน ๆ อาจมีการเจริญของขาฝั่งด้านผิดปกติทำให้กระดูกเกิดการผิดรูปและสั้นลงด้วย ทำให้ขาโก่งมากขึ้น และข้อเข่าที่ผิดรูปจะทำให้เสื่อมได้ง่ายขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : th.theasianparent.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
8 ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้อง ปลอดภัย และสบายสำหรับเจ้าตัวน้อย
ท่าให้นมลูก อย่างถูกท่าที่สุดต้องเป็นอย่างไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!