น้ำเดินเป็นยังไง ? สัญญาณใกล้คลอดที่แม่ท้องต้องรู้ อาการ และวิธีรับมือ

ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย คำถามที่วิ่งวนในใจคุณแม่คงเป็นเรื่องสัญญาณใกล้คลอด โดยเฉพาะภาวะน้ำเดิน มาเช็กอาการและทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อการตั้งครรภ์เดินทางมาถึงช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะเข้าใกล้กำหนดคลอดไปทุกที คำว่า “น้ำเดิน” จึงมักเป็นคำศัพท์ที่ระบุถึง สัญญาณใกล้คลอด ซึ่งคุณแม่หลายคนได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่ก็อาจมีแม่ท้องหลายคนที่ยังไม่รู้ หรือไม่มีความเข้าใจชัดเจนว่า น้ำเดินคืออะไร? อาการ น้ำเดินเป็นยังไง ? จะแยกออกจากอาการปัสสาวะเล็ดอย่างไร เราจะพามาทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีรับมือ เมื่อแม่ท้องเกิดอาการน้ำเดินกันค่ะ

น้ำเดิน คืออะไร?

เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า คำว่า “น้ำเดิน” ก็คืออาการ “น้ำคร่ำแตก” หนึ่งในสัญญาณเตือนว่าคุณแม่ “ใกล้คลอด” เต็มทีแล้ว โดยเป็นภาวะที่ถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มทารกในครรภ์แตกออก แสดงถึงการที่มดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลง เพื่อบีบให้ศีรษะของทารกในครรภ์เคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มีของเหลวไหลออกมาทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก และโดยปกติน้ำคร่ำจะมีสีใส หรือสีเหลืองอ่อนคล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น หรือมีกลิ่นเหมือนคลอรีนหรือน้ำอสุจิ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากเกิดน้ำเดินแสดงว่ามีโอกาสมากถึง 80% ที่คุณแม่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมงค่ะ และแม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ใกล้คลอด แต่หากเกิดน้ำเดินก่อนกำหนด โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์ยังไม่ครบ 37 สัปดาห์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้นะคะ

น้ำคร่ำคืออะไร? มีอยู่มากแค่ไหน?

  • น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) คือ ของเหลวสีใส หรือสีออกเหลืองเล็กน้อย รายล้อมอยู่รอบทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ
  • เมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จะมีปริมาณน้ำคร่ำประมาณ 30 มิลลิลิตร
  • ปริมาณน้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณเป็น 200 มิลลิลิตรเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์
  • น้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณสูงสุด 800 มิลลิลิตร เมื่ออายุครรภ์ราว 34 สัปดาห์
  • หลังจากอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป น้ำคร่ำจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง

 

น้ำเดินเป็นยังไง ? อาการที่แม่ท้องต้องรู้

ความรู้สึกของอาการน้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดินเป็นยังไง ? ต้องบอกว่าจะมีความแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคนค่ะ อาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกเหมือนถุงแตก น้ำคร่ำจะไหลทะลักออกมา หรือมีอาการน้ำคร่ำรั่วเล็กๆ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีน้ำคร่ำไหลหยดช้าๆ เหมือนกำลังปัสสาวะก็ได้เช่นกันค่ะ แต่โดยทั่วไปแล้วแม่ท้องจะรู้สึกถึงแรงกด จากนั้นความรู้สึกเหมือนมีอะไรเล็กๆ แตกอยู่ข้างใน ตามมาด้วยความรู้สึกโล่งทันทีที่ถุงน้ำคร่ำแตกค่ะ ซึ่งลักษณะอาการน้ำเดินที่คุณแม่ต้องสังเกตและทำความเข้าใจเพิ่มเติมมีดังนี้

  • น้ำเดินธรรมดา น้ำคร่ำจะซึมออกมาในปริมาณเล็กน้อย บางครั้งอาจไม่สามารถควบคุมได้ และอาจไหลออกเป็นระยะๆ เมื่อคุณแม่ขยับตัวหรือยืนอยู่
  • น้ำเดินฉับพลัน น้ำคร่ำอาจออกมาในปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนการรั่วไหลของน้ำ หรืออาจเป็นน้ำใสๆ หรือมีมูกเลือดเล็กน้อย
  • น้ำเดินพร้อมอาการอื่นๆ อาจมีอาการปวดท้องหรือเจ็บท้องคล้ายการเจ็บครรภ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วย

น้ำเดินเป็นยังไง ? แยกให้ชัดจาก ปัสสาวะเล็ด

น้ำเดิน
  • มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา และไม่สามารถควบคุมได้
  • มีปริมาณมากกว่าปัสสาวะเล็ด
  • โดยทั่วไปมีสีใส หรือเหลืองอ่อน
ปัสสาวะเล็ด
  • มักเกิดขึ้นเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ
  • สามารถควบคุมได้
  • มีปริมาณน้อยกว่าน้ำเดิน

 

น้ำเดินเป็นยังไง จะเกิดขึ้นตอนไหน?

โดยปกติแล้ว น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก จะเกิดก่อนอาการเจ็บท้องคลอดเล็กน้อย คือพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ไปจนถึงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกสามารถคลอดได้ทุกเมื่อ แต่ไม่ใช่ว่าแม่ท้องทุกคนจะเกิดอาการน้ำเดินในช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะๆ นะคะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนเลยค่ะที่มีภาวะน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ประมาณร้อยละ 10 มีภาวะน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด ที่เรียกว่า “ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด” หรือ “ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์” (Premature rupture of membranes หรือ Prelabor rupture of membranes : PROM) เกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วก่อนเริ่มมีอาการปวดท้องคลอด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 3 อาจเกิด “ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ” หรือ Preterm prelabor rupture of membranes: PPROM ซึ่งหมายถึง ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บคลอด ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องคลอดทารกทันทีหรือสามารถยืดอายุครรภ์ออกไปก่อนได้ เพราะการยืดอายุครรภ์ออกไปหลังจากถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว อาจทำให้แม่และทารกเสี่ยงติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สูงขึ้น แต่การคลอดก่อนกำหนดก็มีความเสี่ยงเช่นกัน จึงต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

รับมืออย่างไร เมื่อแม่ท้องเกิดอาการ “น้ำเดิน”

หากคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตพบว่าตัวเองเกิดอาการน้ำเดิน ควรปฏิบัติและรับมือด้วยวิธีการต่อไปนี้ค่ะ

  1. ตั้งสติ และสังเกต

น้ำเดินเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว หากไม่มีอาการอื่นๆ ที่เป็นอันตราย การน้ำเดินไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเสมอไป ดังนั้น คุณแม่ควรตั้งสติ อย่าตกใจ แล้วสังเกตปริมาณ สี และกลิ่นของของเหลวที่ไหลออกมา

  1. ติดต่อแพทย์ทันที

เมื่อรู้ตัวว่าน้ำเดิน ควรติดต่อโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลครรภ์เพื่อขอคำแนะนำทันที โดยแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการ เช่น ปริมาณและลักษณะของน้ำที่ออกมา เวลาที่เริ่มมีน้ำเดิน และอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และเตรียมตัวไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินและวางแผนการคลอด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. ระวังการติดเชื้อ

หากน้ำเดินก่อนกำหนด เช่น ในช่วงอายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ การติดเชื้ออาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยและคุณแม่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่มีน้ำเดิน และรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว นอกจากนี้ หากน้ำเดินพร้อมกับการมีเลือดออกหรือปวดท้องรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

 

ทำไม? ต้องไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการน้ำเดิน

  • ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก ทารกจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
  • ตรวจสอบสภาพทารก แพทย์จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจทารก และประเมินความพร้อมในการคลอด
  • จัดการภาวะแทรกซ้อน หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำคร่ำมีสีเขียว หรือมีสายสะดือย้อย แพทย์จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัญญาณใกล้คลอดอื่นๆ ที่แม่ท้องควรรู้

นอกจากน้ำเดินแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงการใกล้คลอดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ ได้แก่

  • การเจ็บครรภ์ คือการที่มดลูกบีบรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บท้องเป็นระยะๆ ซึ่งการเจ็บท้องคลอดจริง จะเจ็บเป็นพักๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย อาการเจ็บจะไม่หายไปเมื่อครบ 1 ชั่วโมง ซึ่งคุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าเจ็บแล้วหายไปอาจเป็นการเจ็บเตือนจากการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ปากมดลูกจะเปิดและขยายเพื่อเตรียมคลอด
  • การหลุดของมูกปากมดลูก อาจมีการหลุดของมูกที่ปิดทางออกของมดลูก ซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดออกปนมา โดยบริเวณปากมดลูกจะมีมูกจุกอยู่ เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ศีรษะของทารกจะเคลื่อนลงไปกดปากมดลูก เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดและมูกที่อุดกั้นหลุดออกมา แสดงให้เห็นว่าคุณแม่กำลังเข้าสู่ระยะคลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดค่ะ

 

คุณแม่น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะคะว่า น้ำเดินเป็นยังไง ซึ่งเป็นอาการที่หากเกิดขึ้น คุณแม่จะสามารถสังเกตและรับรู้ได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียวค่ะ ไม่น่ากังวและเตรียมตัวคลอดได้เลย อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการน้ำเดินก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

 

 

ที่มา : www.bangkokhospital.com , www.nakornthon.com , hellokhunmor.com , www.medparkhospital.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คนท้องปวดก้นกบ ทำยังไงดี? 6 วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบแม่ตั้งครรภ์

ท้องลายทำไงดี ? 9 วิธีป้องกันและลดรอยแตกลายให้แม่ท้อง แม่หลังคลอด

คนท้องเท้าบวม ตอนไหน? คนท้องเท้าบวมนวดได้มั้ย มีวิธีรับมือยังไง?

บทความโดย

จันทนา ชัยมี