ด้วยสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบัน รวมถึงพันธุกรรมของผู้เป็นพ่อ และแม่เด็ก เป็นสาเหตุให้เราพบว่าเด็กเล็ก เป็นโรค ภูมิแพ้จมูกอักเสบ (Allergic rhinitis) หรือแพ้อากาศ มากยิ่งขึ้น และหากปล่อยทิ้งเอาไว้นาน โรคนี้ ก็จะกลายเป็นโรคเรื้อรังได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ควรหมั่นสังเกตอาการ และดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว
ภูมิแพ้จมูกอักเสบ คืออะไร?
อาการภูมิแพ้อากาศ หรือภูมิแพ้จมูกอักเสบ (Allergic Rhinitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น รังแคสัตว์ ขนสัตว์ หรือควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งมักจะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีอาการจาม คัดจมูก คันจมูก มีน้ำมูกไหล และมีคันคอ ระคายคอนั้นเอง
ภูมิแพ้จมูกอักเสบในเด็ก มีอาการอย่างไร?
อาการเริ่มต้นที่อาจเป็นสัญญาณว่า เด็กมีโอกาส หรือมีอาการที่จะเป็นภูมิแพ้จมูกอักเสบหรือไม่ นั่นก็คือ
- มีอาการคล้ายเป็นหวัดบ่อย ๆ และต่อเนื่อง
- คัดจมูก คันจมูก มีน้ำมูกใส จามติดต่อกัน
- หายใจติดขัด นอนกรน หายใจทางปากเป็นเวลานาน
- ไอเรื้อรัง กระแอมบ่อย ๆ
- ระคายเคืองบริเวณดวงตา และอาจมีอาการหูอื้อร่วมด้วย
เด็กที่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาการกำเริบเมื่อได้สัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือ สารระคายเคือง ทำให้มีอาการคัดจมูก คันจมูก และมีขอบตาล่างบวมคล้ำ
แม้ว่า อาการดังกล่าวอาจจะไม่รุนแรง แต่ก็รบกวนคุณภาพชีวิต ทั้งการเรียน การนอน แต่หากผู้ปกครองปล่อยไว้นาน อาการต่าง ๆ ก็อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้นอนไม่ดีจนเกิดอาการง่วงในตอนกลางวัน ขาดสมาธิคล้ายสมาธิสั้น นอนกรนจนหยุดหายใจจากต่อมทอลซิลและอะดีนอยด์โตเรื้อรัง
หากมีอาการดังกล่าว ควรพาเด็ก ๆ ไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพราะต้องแยกจากโรคไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในโพรงจมูก หรือภาวะที่มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก ซึ่งอาจพบในเด็กได้บ่อยด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคภูมิแพ้อาหาร แพ้อาหาร คืออะไร สาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษา
ภูมิแพ้จมูกอักเสบมีผลกระทบอย่างไร?
เนื่องจากโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบนี้มักจะเป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบระยะยาวต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น เมื่อมีน้ำมูกไหลตลอด จามบ่อย ๆ มีผลต่อการเข้าสังคมของเด็ก ๆ การใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ส่งผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของเด็ก ๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อื่น เช่น ริดสีดวงในโพรงจมูก โพรงไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไอเรื้อรัง นอนกรน รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคหอบหืดร่วมด้วย โอกาสที่จะทำให้อาการกำเริบได้ก็จะมีสูงตามด้วยเช่นกัน
สังเกตอาการเบื้องต้นได้อย่างไร
เด็กจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไหล และชอบขยี้จมูกเพราะคันจมูก หรือจามหลายครั้งติด ๆ กันในตอนเช้า หรือก่อนนอน บางคนมีอาการคันตาขยี้ตาร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานาน อาการเหล่านี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมทอนซิล และอะดีนอยด์ในช่องคอโตขึ้น ส่งผลให้หายใจลำบาก หากแบ่งอาการตามอวัยวะจะสังเกตได้ดังนี้
- จมูก : มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก
- ผิวหนัง : ทำให้มีผื่นขึ้น คัน เป็นลมพิษ
- ตา : ทำให้มีอาการคันตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง
- ปอดและหลอดลม : ทำให้หลอดลมหดตีบ มีเสียงหวีดในทรวงอก หอบ ไอ มีเสมหะ
บางครั้งอาการเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ผ่านใบหน้าของเด็ก เช่น มีรอยย่นสีคล้ำใต้ตา มีรอยย่นบนสันจมูก มีกระดูกโหนกแก้มแบน ฟันบนด้านหน้ายื่นเหยิน และหายใจทางปากมากกว่าทางจมูก เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคผิวหนังอักเสบ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคผิวหนังและภูมิแพ้ผิวหนัง
วิธีป้องกัน และดูแลรักษาเบื้องต้น
1. การหลีกเลี่ยง
หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หรือกำจัด หรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น
- หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบ ๆ ให้ปราศจากฝุ่น
- ฟูก โต๊ะ เตียง หมอน พรม ไม่ควรใช้แบบเก็บกักฝุ่น
- ของเล่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า ไม่เลือกแบบมีขน
- ในรายที่แพ้ขนสัตว์ หลีกเลี่ยงสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพ้
- กำจัดแมลงสาบ โดยทิ้งขยะเปียกนอกบ้านทุกวัน
- ซักทำความสะอาดเครื่องนอน ปลอก หมอน มุ้ง ผ้าห่ม อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และนานอย่างน้อยสัก 30 นาที
- หลีกเลี่ยงละอองเกสร หญ้า ดอกไม้ วัชพืช
- ทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในอากาศ ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้
- หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง หรือปัจจัยที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ให้มากขึ้น เช่น การอดนอน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การสัมผัสกับฝุ่น ควัน อากาศร้อน เย็น เกินไป ถ้าผู้ป่วยไวต่ออะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
2. การใช้ยาบรรเทาอาการ
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีหลายชนิด
- ยาต้านฮิสตามีน คือควรใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากได้ผลดี มีความปลอดภัย โดย สามารถใช้ยาต้านฮิสตามีนได้ในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ทุกชนิด และทุกความรุนแรง
- ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีความปลอดภัยสูงในขนาดยาที่ใช้ในการรักษา ควรเลือกใช้ยาสเตอรอยด์พ่นจมูกเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นชนิดคงที่และอาการปานกลางถึงรุนแรง หรือมีอาการคัดจมูกมาก ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ข้อบ่งชี้ และหยุดยา เมื่อหมดความจำเป็น
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมกัน เช่น ภูมิแพ้จมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ หอบหืด วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปีจึงจะเห็นผลในการรักษา และต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3 – 5 ปี
4. การผ่าตัด
ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา
ถึงแม้ว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะเป็นโรคที่ไม่หายขาด แต่การป้องกัน และรักษาที่ถูกวิธี ก็จะทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคสงบลงได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการเข้ารับการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระตุ้น ก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยง ป้องกัน และทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ในเด็ก โรคยอดฮิตที่พ่อแม่เด็กเล็ก ต้องระวัง!
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก รักษาด่วนก่อนเรื้อรัง