ระบบภูมิคุ้มกัน สำคัญอย่างไร
คุณแม่คงเคยสังเกตว่าเด็กบางคนเจ็บป่วยง่ายมาก ในขณะที่บางคนแข็งแรงดี ทั้งๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน ทานอาหารร่วมกัน นั่นเพราะร่างกายของเด็กแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันโรคไม่เท่ากันนั่นเองค่ะ รอบๆ ตัวเราซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อย่างเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ หากร่างกายได้รับเข้าไป ระบบภูมิคุ้มกัน จะทำหน้าที่กำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากวันใดภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะใช้ยาราคาแพง วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีเลิศแค่ไหนก็ไม่การันตีได้ว่าจะหายหรือเปล่า เพราะการรักษาโรคติดเชื้อบางอย่างให้หายขาดได้ ต้องขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกายเป็นหลักด้วย
ร่างกายของลูกน้อยเริ่มพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยว่าได้ แต่หลังจากคลอดแล้ว จะได้รับจากทางไหนบ้างนั้น มาดูกันเลย!
ภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ เป็นการถ่ายทอดผ่านทางรก นั่นหมายความว่า ทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันโรคบางชนิดเช่น โรคคอตีบ โรคหัด ไข้ทรพิษ ติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะอยู่ได้ประมาณ 3 เดือนหลังคลอด หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง
ภูมิคุ้มกันที่ได้รับขณะคลอด ทารกที่คลอดตามธรรมชาติจะได้รับ โพรไบโอติก(Probiotics) (จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย) ในช่วงระหว่างคลอด ซึ่งปกติจะพบบริเวณช่องคลอดของแม่ และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โพรไบโอติกจะเข้าสู่ร่างกายลูกทางปาก จมูก แล้วไปเจริญเติบโตอยู่ภายในลำไส้ใหญ่ โดยพรีไบโอติก(Prebiotics) จะช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์นี้ จึงช่วยสร้างสมดุลในลำไส้ไม่ให้มีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคขยายพันธุ์มากเกินไป เพราะหากลำไส้เต็มไปด้วยแบคทีเรียตัวร้ายจะส่งผลให้การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย โพรไบโอติกและพรีไบโอติกยังมีส่วนช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาการหอบหืด ภูมิแพ้อีกด้วย สำหรับทารกที่ผ่าคลอดอาจจะพลาดโอกาสรับจุลินทรีย์นี้ไป แต่ก็สามารถเร่งคืนภูมิต้านทานได้ด้วยนมแม่ค่ะ

สารอาหารในน้ำนม น้ำนมแม่สีเหลืองข้นที่ไหลออกมาหลังคลอดใหม่ๆ เรียกว่า “หัวน้ำนม” หรือ colostrum อุดมไปด้วย โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน A วิตามิน K และสารช่วยการเจริญเติบโต ปริมาณโปรตีนในหัวน้ำนมส่วนใหญ่เป็นสารภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกบูลิน โดยเฉพาะ secretary Ig A (สารที่คอยดักจับสารแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย), เม็ดเลือดขาว, ไลโซไซม์, แลตโตเฟอริน, โปรเท็กทีฟ ลิปิค (protective lipids), น้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharides) เบต้าเคซีน จุลินทรีย์ ไพรไบโอติก พรีไบโอติก นอกจากนี้ นมแม่ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้ขี้เทาถูกขับถ่ายสะดวก ช่วยลดปัญหาตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้อีกด้วย
วัคซีน การนำแอนติเจน (เชื้อโรคที่ตายหรืออ่อนกำลังลงแล้ว) เข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะโรคนั้นขึ้นมา เป็นวิธีการ “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้” และสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคขึ้นมาก่อน เพราะถ้าลูกได้รับเชื้อโรคทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน อาการที่แสดงออกย่อมรุนแรงกว่าเด็กที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว วัคซีนที่ลูกต้องได้รับตามกำหนดก็คือ วัคซีนคอตีบ วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนไอกรน วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนโปลิโอ และอื่นๆ ตามโปรแกรมคุณหมอที่แนะนำ
ร่างกายสร้างขึ้นเองหลังจากติดเชื้อ โดยการติดเชื้อแต่ละครั้ง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นๆ ไม่ให้กลับมาเป็นอีก เช่น ไข้ทรพิษ หัด อีสุกอีใส คางทูม
ระบบภูมิคุ้มกัน เปรียบเสมือนกองทัพทหารอันแข็งแกร่งที่ช่วยปกป้องลูกให้ปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูหรือเชื้อโรคร้าย ดังนั้น คุณแม่ควรให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงตั้งแต่เกิด และหากเกิดความผิดปกติใดๆ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื้อรังในระยะยาวนะคะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!