โรคกลัวการเข้าสังคม โรคกลัวคนเยอะ จะเกิด กับเด็กได้ตั้งแต่ยังอายุน้อย และ จะมีอาการเด่นชัดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กต้องมีการเรียนรู้ทางสังคม หาประสบการณ์ในการพัฒนาตนเอง และ บุคลิกภาพ แต่เด็กที่มีอาการกลัวการเข้าสังคม คือ ความกลัวต่อการถูกมอง หรือถูกประเมินจากคนอื่น เด็กจะวิตกกังวลว่าถ้าตัวเองทำอะไรไม่เข้าท่า หรือผิดพลาดออกไป จะทำให้ตัวเองต้องรู้สึกอาย และ กลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะแตกต่างจากความ “ขี้อาย” เพราะหากเด็กที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม จะแทบทำอะไรต่อหน้าคนอื่น ไม่ได้เลย เกิดความประหม่า และ อาจมีอาการทางร่างกายต่าง ๆ ตามมา เช่น เวียนหัว มึนงง ท้องไส้ปั่นป่วน อยากอาเจียน มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก หน้าแดง หรือเกร็งกล้ามเนื้อต่าง ๆ
สถานการณ์ที่ทำให้เด็กต้องแสดงอาการของโรคกลัวการเข้าสังคม คือ การที่ต้องออกไปแสดงบนเวที การพูดหน้าชั้น หรือ การตอบคำถามในห้องเรียน ซึ่งเด็กที่มีอาการดังกล่าวจะหาวิธีช่วย ตัวเองโดยการหลีกหนี และ จะทำให้พวกเขาพลาดโอกาสที่จะรู้จักสิ่งใหม่ ๆ รู้จักกับผู้คน หรือ การคบเพื่อนในสังคมได้เลย โดยอาการเหล่านี้จะติดตัวไปจนโต และ ไม่สามารถบังคับตัวเองให้ มีความกล้าในการเข้าสังคมได้ จนอาจทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ หรือมีภาวะโรคซึมเศร้าตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตก และ น่ากลัว
โรคกลัวการเข้าสังคม
5 สัญญาณบ่งบอกโรคกลัวการเข้าสังคมของลูก โรคกลัวคนเยอะ
1.มีความลังเล รู้สึกไม่สบายใจ หรือ ยอมเป็นผู้ตามเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนอื่น ๆ
2.หลีกหนีการพูดคุย ไม่กล้าแสดงออก ไม่ชอบออกไปพบปะผู้คน หรือ แม้แต่การเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
3.ไม่ชอบสบตา และ มักจะพูดพึมพำเสียงเบา ๆ
4.คุยเล่นกับเพื่อนน้อย ชอบแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนอยู่คนเดียว และ ชอบหาที่เก็บตัว เช่น เข้าห้องสมุด
5.อ่อนไหวกลับคำพูดหรือคำวิจารณ์ต่าง ๆ อย่างมาก และ กลัวตัวเองขายหน้า กลัวถูกล้อ
ซึ่งผลกระทบที่ตามมาสำหรับเด็ก ๆ ที่เข้าข่ายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม อาจทำให้ลูกปฏิเสธการไปโรงเรียน หรือกลายเป็นเด็กที่ไม่ชอบพูดกับใครเลยยกเว้นคนที่คุ้นเคย เท่านั้น
แก้ปัญหาลูกเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมให้ถูกจุด
- หาโอกาสให้ลูกได้เจอกับสังคมที่หลากหลาย เช่น การพาลูกไปงานวันเกิดลูกพี่ลูกน้อง พาไปเล่นกับเพื่อน ๆ กลุ่มต่าง ๆ ตามงานกิจกรรม การสนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมในโรงเรียนแบบง่าย ๆ แต่ไม่ควรผลักดันให้ลูกเข้าไป ทำในกิจกรรมที่ใหญ่หรือยาก เพราะหากลูกผิดพลาดอาจ ได้รับประสบการณ์ที่แย่ และ ไม่กล้าขึ้นอีก
- ไม่ควรพูดแทนลูก ในขณะที่ลูกทำท่าอึดอัด หรือตอบช้า เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ความกล้า และ จังหวะในการพูด
- หาวิธีจูงใจเช่นการให้รางวัล หรือให้คำพูดเสริมกำลังใจกับลูก เมื่อลูกกล้าที่จะแสดงออก
- พ่อแม่คือตัวอย่างที่ดี ทำให้ลูกเห็นว่าควรวางตัวอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ
- ไม่ควรทำท่าเหนื่อยหน่ายหรือต่อว่าลูก เมื่อลูกไม่สามารถแสดงออกตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่ควรแสดงความเข้าใจลูก ให้กำลังใจ และ คอยส่งเสริมให้ลูกได้ลองทำในโอกาสหน้า
แม้ดูเหมือนว่าโรคกลัวการเข้าสังคม จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็มีผลกระทบในหลาย ๆ ด้านต่อตัวเด็กทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน และสังคมที่จะตามมาเมื่อเขาเติบโตขึ้น ซึ่งหากพบว่าลูกมีลักษณะสุ่มเสี่ยงอาการดังกล่าว คุณพ่อ คุณแม่ สามารถขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ เพื่อหาทางบำบัด หรือเยียวยารักษาอาการได้
ขอบคุณที่มา : www.manarom.com , https://www.manarom.com/
theAsianparent Thailand เชื่อว่าการศึกษาที่ดีจะช่วยเสริมสร้าง รากฐานที่ดีให้กับเด็ก เป็นการเริ่มต้นสร้างสภาะแวดล้อม ในการเรียนรู้ได้อย่างสมวัย และ เป็นไปตามที่ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องการการเลือกโรงเรียนให้กับลูก คือหัวใจหนึ่งของการศึกษา เพราะการเลือกโรงเรียนตั้งแต่เนอสเซอรี่ การเลือกโรงเรียนอนุบาล เป็นด่านแรกที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ให้กับลูกได้ เช่น มีหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรวิชาการที่พอดี กับการเรียนรู้ การใช้ Play Base Learning เพื่อเสริทสร้างพหุปัญญษทั้ง 8 ด้าน หรือ EF ที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill อย่างสมดุลย์ เพราะการเรียนรู้ที่ดี สามารถเรียนรู้ได้ต่อเนื่องไม่จำกัด และ ทำให้เด็กค้นพบตัวตน และ มีความสุขกับการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
“โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” ระบาดหนัก ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
6 วิธีรับมือเมื่อเจอ “โรคดื้อและต่อต้าน” ของลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!