เป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ จะซุกซน ขี้เล่น และมีพลังงานมากมายจนล้น ชอบยุกยิก เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งพฤติกรรมที่ดูเกินกว่าจะเรียกว่า “ซน” อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาของโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเกิดความสงสัยว่า ลูกของตนเองกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรกันแน่นะ? เพราะพฤติกรรม เด็กสมาธิสั้น เด็กซน ที่แสดงออกมักจะมีความคล้ายกันจนแยกไม่ค่อยออก วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมนี้กันค่ะ
เด็กสมาธิสั้น เด็กซน แตกต่างกันอย่างไร ?
อาการของ เด็กสมาธิสั้น เด็กซน อาจดูคล้ายคลึงกัน เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมักมีพลังงานสูงและควบคุมตัวเองได้ยาก แต่เด็กสมาธิสั้นจะมีปัญหาในการควบคุมความสนใจและมีพฤติกรรมซ้ำซากมากกว่า อยากรู้ว่าลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เป็นแค่เด็กซนธรรมดา หรือมีอาการสมาธิสั้นหรือเปล่า ลองมาเช็คความแตกต่างเหล่านี้กันเลยค่ะ
8 ความแตกต่างของ เด็กสมาธิสั้น vs เด็กซน
|
เด็กซน |
เด็กสมาธิสั้น |
มีพลังงานสูง แต่สามารถควบคุมได้ในบางสถานการณ์ |
มีปัญหาในการควบคุมพฤติกรรม อยู่ไม่นิ่ง |
ยุกยิกขยับตัวไปมา อยู่นิ่งไม่ได้ นั่งไม่ติดที่ ต้องลุกเดินไปมา |
ขาดสมาธิในการทำกิจกรรม |
ซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน |
เหม่อลอย ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน |
มีความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว |
หุนหันพลันแล่น ทำอะไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง |
มักวิ่งวุ่นหรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม |
มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ |
สามารถเล่นได้นานและมีความสุข แต่ไม่สามารถเล่นเงียบๆ ได้ |
ไม่ค่อยฟังเวลามีคนพูดด้วย |
พูดมากเกินไป |
จำได้ไม่นาน ลืมได้เร็ว และมักลืมรายละเอียดสำคัญ |
อาจมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมบ้างในบางครั้ง แต่โดยรวมแล้วสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี |
หลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม |
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นสมาธิสั้น ?
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้อย่างละเอียด เด็กสมาธิสั้น เด็กซน เราขอนำเสนอ 3 อาการหลักที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของ “โรคสมาธิสั้น” ดังนี้
-
ซนมากกว่าปกติหรือไม่อยู่นิ่ง
เด็กมักจะควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยาก มีความบกพร่องในการควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรม ทำให้พวกเขาซนกว่าเด็กทั่วไป เล่นได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชอบขยับตัว ยุกยิกอยู่ตลอดเวลา แม้จะพยายามให้นั่งนิ่งๆ ก็มักจะนั่งไม่ติด เผลอแป๊บเดียวก็ลุกไปจับนู่นนี่มาเล่น หรือบางคนอาจพูดคุยเสียงดังรบกวนคนรอบข้าง พูดคุยเกินความจำเป็น ส่งเสียงดัง รวมถึงชอบพูดแทรกขณะเรียนหนังสือ
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักจะขาดสมาธิเป็นประจำ เหม่อลอย วอกแวกง่ายเกือบตลอดเวลา และหลงลืมสิ่งต่างๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ เมื่อต้องนั่งเรียนนานๆ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูง อาการเหล่านี้ส่งผลให้เด็กเรียนไม่ทันเพื่อนและมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม แต่ถ้าได้ทำในสิ่งที่สนใจหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบ อาการเหล่านี้ก็จะลดลง
-
ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น
การที่เด็กขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น เป็นลักษณะนิสัยที่แสดงออกถึงการกระทำหรือตัดสินใจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากมีความบกพร่องในการหยุดยั้งตัวเอง ขาดความอดทน ทำให้ใจร้อน โดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ได้พิจารณาถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น ทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และมักจะเปลี่ยนใจไปมาอยู่เสมอ
เปรียบเทียบพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น vs เด็กซน
|
อาการ |
เด็กสมาธิสั้น |
เด็กซน |
ด้านการควบคุมตัวเอง |
ซนทุกที่ควบคุมตัวเองไม่ได้
ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากสมอง |
จะควบคุมตัวเองได้ระดับหนึ่ง
รู้ว่า ที่ไหนซนได้ หรือซนไม่ได้ |
ด้านสมาธิ |
ไม่สามารถจดจ่อกับบทเรียน
หรือทำการบ้านให้เสร็จตามกำหนด |
ยังมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ
ที่ได้รับมอบหมายได้ดี |
ด้านพฤติกรรม |
จะซน อยู่ไม่นิ่งตั้งแต่เล็ก ๆ
ไม่ได้เป็นเด็กเรียบร้อยมาก่อนแล้วค่อยมาซน
หรือไม่มีสมาธิตอนโตขึ้น |
ซนเหมือน ๆ กันแต่เป็นการซนที่เป็นการเรียนรู้
และยังควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเองได้ |
หลังจากโดนดุ |
จะคุมตัวเองได้ไม่ดี เพราะจะซนต่ออีกครั้ง
หลังจากถูกดุได้ไม่นาน |
ซนเหมือนกันแต่เมื่อถูกดุ
มักจะควบคุมตัวเองได้ไม่ให้ซนอีก |
วิธีการดูแล รับมือเมื่อลูกเป็น เด็กสมาธิสั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
การเลี้ยงดูเด็กที่มีสมาธิสั้นอาจเป็นเรื่องท้าทาย การรักษาโรคสมาธิสั้นมีหลายวิธี ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับแต่ละคน แต่ด้วยความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลลูกน้อยให้เติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เรามีวิธีรับมือมาฝากกันค่ะ
1. เข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น
คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค และแนวทางในการช่วยเหลือ ดูแลอย่างเหมาะสม มีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก โดยควรมองว่า เป็นความบกพร่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข
2. ปรับพฤติกรรม
การชมเชยหรือให้รางวัล เป็นการฝึกให้ลูกสามารถจดจ่อกับกิจกรรมต่างๆ ได้นานขึ้น รู้จักการตั้งใจฟังคำสั่งที่มอบหมายให้ทำ และรู้จักการรอคอย การอดทน
3. ฝึกให้ลูกอยู่นิ่ง
โดยทำเป็นเกมสนุกๆ เล่นกับลูก อยากรู้ว่าใครจะอยู่นิ่งได้นานที่สุด มาลองเล่นเกมแปลงร่างเป็นหินกันไหม? เริ่มจากนับ 1-2-3 แล้วทุกคนหยุดนิ่งเหมือนหินเลยนะ ใครอยู่ได้นานที่สุดคือผู้ชนะ! เริ่มจาก 3 นาที ถ้าลูกทำได้ดีก็ค่อยเพิ่มเวลาไปเรื่อยๆ
4. สอนทักษะการจัดการตนเอง
สอนทักษะการจัดการตนเองของลูก โดยเริ่มจากการแบ่งงานใหญ่ให้เป็นงานย่อยๆ ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริง และให้รางวัลเมื่อลูกทำสำเร็จ การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการวางแผนและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
5. ฝึกฝนสมาธิ
พาลูกไปเล่นกีฬา ดนตรีหรือศิลปะ เล่นเกมที่ต้องใช้สมาธิ อยากให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น ลองเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ รอบตัว เช่น กระโดดเชือก ตีแบต หรือวาดรูป สังเกตดูว่าลูกชอบอะไร แล้วสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมนั้นๆ เพิ่มขึ้น จะช่วยให้ลูกจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น
6. กำหนดตารางกิจวัตรประจำวัน
การกำหนดตารางกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ฝึกให้เขาวางแผนการใช้เวลา และยังช่วยลดความวิตกกังวลที่อาจเกิดจากความไม่แน่นอนได้อีกด้วยค่ะ
7. สื่อสารอย่างเปิดอก
พูดคุยกับลูกอย่างเปิดอก ฟังความรู้สึกของเขา และให้กำลังใจ เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ค่อยๆ อธิบายเหตุผลและผลที่ตามมาอย่างใจเย็น
8. ลดสิ่งเร้ารอบตัว
สภาพแวดล้อมรอบตัวมีผลต่อสมาธิของลูกน้อยอย่างมาก เพราะอาจทำให้ลูกวอกแวกไปจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การลดสิ่งเร้ารอบตัวไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การเรียนรู้ การแก้ปัญหา และการควบคุมอารมณ์
9. ให้ความร่วมมือกับโรงเรียน
แจ้งครูประจำชั้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูก เพื่อให้ครูสามารถปรับวิธีการสอนให้เหมาะสม ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดพื้นที่ให้เรียบง่าย สร้างมุมส่วนตัวสำหรับทำกิจกรรมที่สนใจ ลดปัจจัยรบกวน เช่น เสียงดัง หรือแสงจ้า จะช่วยฝึกให้ลูกมีสมาธิและตั้งใจทำงานมากขึ้นค่ะ
10. ไม่ลงโทษหรือโทษว่าเป็นความผิดของลูก
เพราะเด็กสมาธิสั้น เกิดจากการทำงานของสมองที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป การลงโทษจึงไม่ได้ช่วยให้ผลมันดีขึ้น การอธิบายและสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ลูกเข้าใจและปรับตัวได้ดีกว่านะคะ
11. ปรึกษาแพทย์
ปัจจุบันการใช้ยาในการรักษาจะสามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิสงบ และควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาและการบำบัดที่เหมาะสมหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมและดูแลเองได้
เวลาที่ลูกน้อยดูอยู่ไม่นิ่งเป็นเด็กสมาธิสั้น หรือเด็กที่ซน อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจ การสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ถ้าลูกมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน การเข้าสังคม หรือชีวิตประจำวัน เช่น อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย หุนหันพลันแล่น หรือทำของเสียหายบ่อยๆ และมีระยะเวลาติดต่อกันนานๆ อย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยที่ถูกต้องค่ะ เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคสมาธิสั้น หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนการดูแลและช่วยเหลือลูกได้อย่างเหมาะสมค่ะ
ที่มา : HEALTH ADDICT , โรงพยาบาลศิครินทร์ , Brain and Life
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ 2 ขวบ พูดไม่ได้! หมอชี้สาเหตุเพราะขาดทักษะสำคัญ
13 เทคนิคสอนลูกโตไปไม่ก้าวร้าว ! เทคนิคง่ายๆ ลองทำดู
เกรงใจหรือไม่สู้คน! วิธีฝึกลูกให้มั่นใจ แย้งได้ เถียงได้แบบยังน่ารัก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!