ทารกในครรภ์คืออะไร คุณแม่เคยสงสัยไหมคะ ว่าทำไมผู้หญิงจึงมีชีวิตน้อยๆ เติบโตขึ้นในร่างกายของเราอย่างมหัศจรรย์ จริงๆ แล้วก่อนจะเป็นทารกนั้น มาจาก เอ็มบริโอ (Embryo) ค่อยๆ เป็นตัวอ่อนเจริญเติบโตจากการปฏิสนธิทั้งทางธรรมชาติหรือทางวิทยาศาสตร์แล้วฝังตัวอยู่ในมดลูกอยู่ 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน ก่อนจะเรียกตัวอ่อนนี้ว่า “ทารก”
Credit: www.vecteezy.com
ทารกในครรภ์คืออะไร หรือตัวอ่อนมีพัฒนาการอย่างไร?
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์นั้น คือ ช่วงเวลาพัฒนาการของ “เอมบริโอ” จนเป็น “ทารก” ไม่ใช่แค่การเติบโตของทารกอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมของมารดา ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองและทารกในครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ หรือกว่า10 เดือนกันเลยทีเดียว ซึ่งทางการแพทย์สามารถแบ่งการพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วงหรือ 3 ไตรมาส ตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดแล้วนับตามอายุครรภ์ได้ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง: ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ อาการเป็นอย่างไร และจำเป็นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
พัฒนาการของเอมบริโอและทารกในไตรมาสแรก
ทารกในครรภ์คืออะไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเริ่มต้นตอนตั้งครรภ์ เราต้องนับสัปดาห์แรกซึ่งใน 1 เดือนมี 4 สัปดาห์ดังนั้น ไตรมาสแรกจึงนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1- 12 ซึ่งตัวอ่อนจะเริ่มมีพัฒนาการดังนี้
1. สัปดาห์ที่ 1 – 4 หรือเดือนแรก
สองสัปดาห์แรก คือ ช่วงระยะไข่ตก จึงเริ่มตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ช่วงนี้คุณแม่อาจจะสงสัยว่า ท้องหรือไม่ท้อง ทราบหรือไม่ว่าระยะนี้ รังไข่จะปล่อยไข่ที่สมบูรณ์ไปยังท่อนำไข่พบกับอสุจิ เพื่อปฏิสนธิ จนก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 หลังจากปฏิสนธิ แล้วจะเกิดเซลล์ที่เรียกว่า ไซโกต (Zygote) หรือโครโมโซม 46 แท่ง จากแม่ 23 แท่งและจากพ่อ 23 แท่ง ซึ่งเป็นการรวมเอาพันธุกรรมหรือยีนเด่นจากพ่อแม่
รวมไปถึงการกำหนดเพศของทารก จากนั้นจะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปยังมดลูก โดยสัปดาห์ที่ 4 จะเป็นตัวอ่อนเอ็มบริโอ พัฒนาเนื้อเยื่อด้านนอกไปเป็นส่วนหนึ่งของรก ซึ่งรกมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและอาหารจากมารดามาเลี้ยง รวมถึงกำจัดของเสีย
2. สัปดาห์ที่ 5-8 หรือขึ้นเดือนที่ 2
จากเอ็มบริโอ เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนหรือ ทารก ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอกที่พัฒนาไปเป็นท่อประสาท เส้นผม ผิวหนัง และเล็บ ส่วนเนื้อเยื่อชั้นกลาง ถูกพัฒนาเป็นกระดูกและเนื้อเยื่อตามร่างกาย รวมถึงหัวใจและหลอดเลือด และเนื้อเยื่อชั้นใน จะเป็นปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้
เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 6 ท่อประสาทของตัวอ่อนที่เปิดอยู่จะปิดลง เพื่อพัฒนาไปเป็นสมองและไขสันหลัง รวมทั้งมีการพัฒนาไปเป็นหัวใจ ตา และหู ตอนนี้จะเห็นว่า ส่วนนูนๆ จะกลายเป็นแขน และค่อยๆ ปรากฏส่วนของใบหน้าของตัวอ่อน สุดท้ายจากเอมบริโอจะกลายเป็นทารกที่มีความยาวจากยอดศีรษะถึงสะโพกประมาณ 0.5 นิ้ว มีฝ่าเท้า นิ้วมือ ดวงตา ริมฝีปากบน เห็นจมูกชัดเจนและลำตัวของทารกจะเหยียดตรงอย่างเห็นได้ชัด
3. สัปดาห์ที่ 9-12 หรือขึ้นเดือนที่ 3
แม้จะเห็นศีรษะกับคางไม่ชัดเจนมากนัก แต่ส่วนข้อศอก นิ้วมือ นิ้วเท้า และเปลือกตาทารกจะเห็นชัดขึ้น ส่วนพังผืดตามนิ้วต่างๆ เริ่มหายไป กลายเป็นนิ้วเรียวและเห็นสายสะดือชัดเจนในสัปดาห์ที่ 10 ส่วนสัปดาห์ 11-12 ดวงตาทารกจะเคลื่อนออกจากกัน เปลือกตาจะค่อยๆ กลมกลืนกับดวงตา เริ่มมีหน่อหรือฐานของรากฟัน มีการสร้างเม็ดเลือดแดงในตับ ซึ่งช่วงนี้จะเห็นอวัยวะเพศที่บ่งบอกว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง และใบหน้าชัดเจนขึ้นมากในสัปดาห์ที่ 12 รวมถึงเล็บมือ ลำไส้มีการพัฒนาในช่องท้องของทารกแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง: ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
พัฒนาการของทารก ไตรมาสที่ 2
เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณแม่สามารถเห็นเพศลูกได้อย่างชัดเจนโดยการอัลตราซาวนด์ ช่วงนี้จะมีความตื่นเต้นอย่างหนึ่งคือ ทารกเริ่มดิ้นมากขึ้น บ่อยขึ้น
1. สัปดาห์ที่ 13-16 หรือขึ้นเดือนที่ 4
ช่วงเดือนนี้ทารกจะมีพัฒนาการของกระดูกที่แข็งแรงขึ้น ทั้งกะโหลก แขน ขา และลำคอ มีการปัสสาวะใส่ถุงน้ำคร่ำแล้ว อีกทั้งมีการเกิดเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในม้าม เริ่มเห็นเส้นผมบางๆ ในสัปดาห์ที่ 15 ถัดมาอีกสัปดาห์ ทารกจะกระพริบตาได้ช้าๆ ถ้าอัลตร้าซาวนด์จะเห็นว่าทารกจะค่อยๆ ขยับไปมาจนคุณแม่ท้องรู้สึกได้
2. สัปดาห์ที่ 17-20 หรือขึ้นเดือนที่ 5
ทารกสามารถพลิกตัวได้ มีเล็บมือเล็บเท้า หัวใจสูบฉีดเลือดได้วันละ 47 ลิตร ความยาววัดจากยอดศีรษะถึงปลายสะโพกได้ 5.5 นิ้ว เขาจะเริ่มได้ยินเสียงภายนอก ระบบย่อยอาหารมีการทำงาน และสังเกตได้ว่ามีไขมันสีขาวขุ่นปกคลุมผิวหนังที่เรียกว่า ไขทารก เพื่อปกป้องผิวจากรอยถลอก หากไปเสียดสีกับถุงน้ำคร่ำ จนปลายเดือนหรือสัปดาห์ 20 ทารกจะมีอาการหลับๆ ตื่นๆ แล้วค่ะ
3. สัปดาห์ที่ 20-24 หรือขึ้นเดือนที่ 6
จากเดือนที่แล้วทารกมีขน มีไขปกคลุมรอบตัว เดือนนี้เขาจะเริ่มอมนิ้วหัวแม่มือ นอกจากนี้ยังมีคิ้ว มีเส้นผมบางๆ ร่างกายเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาลเพื่อทำหน้าที่เผาผลาญพลังงาน เพื่อให้เกิดความอบอุ่นภายในน้ำคร่ำ ทารกบางคนเริ่มสะอึกจนคุณแม่ท้องรู้สึกได้ อีกทั้งลายมือลายเท้าเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่น แต่สุกใสสีชมพูอมแดง แสดงว่า มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดอย่างจริงจัง ตรงนี้เองถ้าอัลต้าซาวนด์จะเริ่มเห็นเส้นเลือดของเขาแล้วค่ะ
4. สัปดาห์ที่ 25-27 หรือขึ้นเดือนที่ 7
ความตื่นเต้นของเดือนนี้จะอยู่ที่ทารกน้อยได้ยินเสียภายนอกแล้วค่ะ สามารถตอบสนองจากเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ ปอดเริ่มผลิตสารลดแรงตึง เพื่อให้ถุงลมขยายตัวเพื่อหายใจสะดวกขึ้น ส่วนระบบประสาทพัฒนาได้ดีมากขึ้นตามลำดับ ผิวหนังเริ่มนุ่มนวลด้วยไขมันที่แทรกตามร่างกาย
Credit: freepik.com
บทความที่เกี่ยวข้อง: ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไรในไตรมาส 2-3
พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3
ช่วงนี้จะคาบเกี่ยวมาถึงปลายเดือนที่ 7 ขึ้นสู่เดือนที่ 8 ร่ายกายของทารกมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมตัวออกมาดูโลกแล้วค่ะ
1. สัปดาห์ที่ 28-31 หรือเดือนที่ 7-8
ทารกบิดขี้เกียจได้แล้วค่ะ ช่วงต้นของไตรมาสนี้ เขาจะเริ่มเตะขา ยืดตัว ประสาทส่วนกลางมีการพัฒนาจึงทำให้ระบบควบคุมการหายใจทำงาน น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้น มีการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก ลูกใครผมดกดำก็จะเห็นได้ชัดช่วงนี้เลย
2. สัปดาห์ที่ 32-35 หรือเดือนที่ 8-9
เส้นขนบางๆ ตามร่างกายทารกเริ่มหลุดร่วง มีการตอบสนองของรูม่านตารับแสง มวลกระดูกของเขาจะหนาแน่นขึ้น ทำให้กระดูดต่างๆ แข็งแรง แต่ศีรษะยังไม่แข็งแรงดีนัก ส่วนเล็บมือ เล็บเท้าจะเรียว มีลำแขน ท่อนขาอวบอ้วนขึ้น ลำตัวพองขึ้นเป็นสีชมพู ความยาวจากยอดศีรษะถึงปลายสะโพกจะอยู่ที่ 12 นิ้ว มีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กรัมแล้วค่ะ
3. สัปดาห์ที่ 36-39 หรือเดือนที่ 9-10
เริ่มสัปดาห์ที่ 36 ทารกจะสมบูรณ์ ตัวใหญ่ ทำให้เขาอึดอัดกับมดลูกที่มีพื้นที่จำกัด ช่วงนี้อาจจะรู้สึกว่าเขาดิ้นน้อยลง คุณแม่ก็ไม่ต้องแปลกใจค่ะ พอเข้าเดือนที่ 10 ทารกมักจะกลับหัวไปบริเวณอุ้งเชิงกราน พร้อมจะคลอดแล้ว อวัยวะทุกอย่างชัดเจน ทั้งหน้าอก เล็บมือ เล็บเท้า ถ้าเป็นทารกเพศชาย ลูกอัณฑะของเขาจะตกใส่ถุงอัณฑะแล้ว นอกจากนี้ยังมีการสะสมไขมันเอาไว้สร้างความอบอุ่นร่างกายหลังคลอด
4. สัปดาห์ที่ 40
คุณแม่หลายท่านอุ้มท้องมาถึงช่วงสุดท้ายสัปดาห์ที่ 40 (หรือมากกว่านั้น) แล้วค่ะ ความยาวของทารกจากยอดศีรษะถึงปลายสะโพกประมาณ 14 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 3,400 กรัม ทั้งนี้น้ำหนักของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป คุณแม่บางคนอาจจะคลอดลูกออกมาตั้งแต่เดือนที่ 9 ขึ้นอยู่กับร่างกายและภาวะเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่แทรกซ้อนเข้ามาระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์นั้น อยากให้คุณแม่คอยสังเกตตัวเองและดูปฏิกิริยาของทารกในครรภ์ว่าเป็นไปอย่างไรหากมีผิดปกติจากนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
Credit: freepik.com
คุณแม่สามารถรับรู้ว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวอย่างไร
เพียงเดือนกว่าๆ ลูกดิ้นแล้ว! คุณแม่ไม่ต้องแปลกใจค่ะ จริงๆ แล้วท้อง 7 สัปดาห์เอมบริโอเริ่มกลายเป็นทารก เขาจึงเริ่มเคลื่อนไหวน้อยๆ แต่คุณแม่ไม่รู้สึก กระทั่งคุณแม่ท้องจะสามารถรู้สึกและสังเกตทารกในครรภ์ได้ตอน 5 เดือนหรือ 18-20 สัปดาห์ ช่วงนี้เขาจะเริ่มเหยียดตัว มีการขยับเขยื้อน เป็นครั้งแรก แต่ขึ้นอยู่กับลูกของแต่ละคนด้วยค่ะ
เนื่องจากคุณแม่ท้องแต่ละท่านอาจมีความหนาของชั้นผิวหนังไม่เท่ากัน ปริมาณน้ำคร่ำก็แตกต่างกัน รวมถึงตำแหน่งรกอีกด้วย หากกังวลใจก็สามารถไปอัลตร้าซาวนด์กับคุณหมอได้ แต่หลังจากตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนหรือ 32 สัปดาห์ ลองสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของลูกได้ดังนี้
- ลองคลำท้องทุกวัน หลังรับประทานอาหารหรือก่อนเข้านอน
- คลำท้องตอนนอนตะแคงด้านซ้ายลงข้างล่าง ด้านขวาขึ้นบน
- ลองจับเวลาและบันทึกว่าทารกเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนครบ 10 ครั้งต่อวันหรือไม่
สารอาหารสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- โปรตีน คุณแม่ควรเน้นโปรตีนเพื่อร่างกายและสมองของทารกในครรภ์ เช่น นม ถั่ว เนื้อสัตว์ ปลา
- แคลเซียม แร่ธาตุสำคัญที่ต้องรับประทานตั้งแต่ไตรมาสแรก เพื่อเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรงทั้งทารกและตัวคุณแม่ท้องด้วย เต้าหู้ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย หรือวิตามินเสริมแคลเซียม
- โฟลิค กรดสำคัญในการสร้างดีเอ็นเอ ถ้าขาดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังปฏิสนธิ อาจส่งผลให้ลูกพิการได้ ซึ่งโฟลิคหรือโฟเลตพบมากใน ตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว
- ไอโอดีน แร่ธาตุที่ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องกินอาหารที่มีไอโอดีนสม่ำเสมอ เช่น อาหารทะเล เกลือทะเล
- เหล็ก ระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายคุณแม่สร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น 25% เพื่อสร้างออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ จึงห้ามขาดธาตุเหล็ก ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง เช่น ไข่แดง ตับสัตว์ เครื่องในสัตว์ (แต่ระวังไขมันด้วย)
- ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาสมองและสายตาของทารก ดังนั้น แม่ท้องจึงไม่ควรขาดอาหารที่มีดีเอชเอสูง พบมากใน ปลาทะเล ปลาน้ำจืด
ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรตระหนักไว้ว่า เมื่อทารกเริ่มเจริญเติบโตในท้องของเราแล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของตนเองเพื่อดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้ดีและปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน การออกกำลังกาย และความเครียดทางอารมณ์ ล้วนแล้วส่งผลต่อการพัฒนาการของทารกในครรภ์ทั้งสิ้นค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
อยากรู้ไหม ทารกเพศหญิงกับเพศชาย ต่างกันอย่างไร
เริ่มแพ้ท้องตอนไหน จะรู้ได้เมื่อไร อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร?
แม่ท้อง อัลตร้าซาวน์ ไตรมาสแรก จะเห็นอะไรบ้าง แล้วกี่สัปดาห์ถึงจะเห็นตัวลูก
ความหมายอักษรย่ออัลตร้าซาวด์ ในแต่ละไตรมาส
ที่มา 1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!