ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ แม่ท้องจะต้องก้าวผ่านอาการเจ็บปวดต่าง ๆ มากมาย และประคับประคองทารก และรกในครรภ์ให้ถึงวันคลอดอย่างปลอดภัย หนึ่งในอาการที่แม่ท้องกำลังเผชิญ และอาจจะสงสัยว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ถ้าบางครั้ง แม่ท้องรู้สึกท้องแข็ง หรือตึงบริเวณหน้าท้อง อันตรายหรือไม่ ควรจะแก้ไข หรือมีวิธีป้องกันอย่างไร
การที่ แม่ท้องรู้สึกท้องแข็ง ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ เป็นภาวะปกติในช่วงเวลาที่มดลูกกำลังขยายตัว เพื่อรองรับตัวอ่อนที่ฝังตัว และเติบโตขึ้นในทุก ๆ สัปดาห์ ในทางกลับกันก็อาจเป็นความเสี่ยงแท้ง การเจ็บท้องเตือน รวมทั้งเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นเดียวกัน
ปรึกษาอาการท้องแข็งในช่วงตั้งครรภ์แต่ละไตรมาส กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกวัน เพียง ดาวน์โหลด ALive Powered by AIA แอปพลิเคชันสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คลิกเลย!
อาการท้องแข็งในแม่ท้องไตรมาสแรก
ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ ความรู้สึกแข็ง ตึง มีสาเหตุมาจากการยืดขยายมดลูก เพื่อรองรับการเติบโตของตัวอ่อนทารก แม่ท้องอาจมีความรู้สึกปวดเมื่อยที่บริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณนั้นกำลังยืด และขยายตัวออก
ท้องแข็งไตรมาสแรก เสี่ยงแท้งหรือไม่
แม่ท้องที่รู้สึกท้องแข็ง ไม่ได้หมายความว่าจะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเสมอไป อย่างไรก็ตาม อาการปวด แน่น ตึง ที่เกิดขึ้น ก็อาจนับเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน โดยอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย มีดังนี้
- รู้สึกแน่น บีบ เกร็ง บริเวณหน้าท้อง
- ปวดเกร็งที่หลังช่วงล่าง
- มีเลือดออก
- มีของเหลว หรือมูกออกมาทางช่องคลอด
ระยะของการตั้งครรภ์ใน 12 – 20 สัปดาห์แรกนับว่ามีความเสี่ยง หากแม่ท้องรู้สึกปวด หรือมีอาการท้องแข็ง ควรปรึกษาเพทย์ทันที
อาการท้องแข็งในแม่ท้องไตรมาสที่สอง
ร่างกายของแม่ท้องยังคงทำงานอย่างหนัก เพื่อปรับสภาวะให้เหมาะสมกับการมีเจ้าตัวน้อยอยู่ในครรภ์ แม่ท้องอาจรู้สึกว่าท้องแข็งตึง ตั้งแต่หน้าท้อง ลงไปจนถึงสะโพก และขาหนีบ หรือแม้แต่รู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย อาการเหล่านี้คงสร้างความกังวลใจ และความกลัวให้กับคุณแม่ ไม่น้อย แต่สำหรับการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง อาการเจ็บปวดดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ และอาจปวดมากขึ้นเวลาเดิน ออกกำลังกาย หรือหลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ
การเจ็บท้องหลอก ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่แม่ท้องจะรู้สึกท้องแข็ง รู้สึกแน่น ๆ ที่ท้อง เนื่องจากมดลูกกำลังฝึกตัวเองให้แข็งแรง และพร้อมสำหรับวันคลอดจริง ด้วยการบีบตัวเป็นระยะ ๆ แต่การเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องเตือนนี้ ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนเจ็บท้องคลอดจริง ๆ ปากมดลูกของคุณแม่ยังไม่ได้เปิดพร้อมสำหรับการคลอด เพียงแต่อาการนี้มักเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย การทำกิจกรรมหนัก ๆ อย่างการออกกำลังกาย หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรจะงดไปก่อน หากรู้สึกว่าปวดท้อง หรือมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้น
ท้องแข็งไตรมาสที่สอง เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
อาการท้องแข็งตึงเป็นทั้งอาการปกติ และอาการที่น่ากังวลด้วยเช่นเดียวกัน แม่ท้องบางคนท้องแข็ง มดลูกบีบรัด คล้ายกับการเจ็บท้องหลอก แต่กลับรุนแรง เจ็บนานกว่า และเกิดขึ้นบ่อย แม้ว่าจะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว หรือดื่มน้ำมากพอแล้วก็ตามอาการท้องแข็งตึง ที่เกิดจากการบีบรัดตัวของมดลูก (Irritable Uterus) ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ ข้อมูลจากการวิจัยหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการบีบรัดตัวของมดลูกของหญิงตั้งครรภ์ โดยร้อยละ 18.7 ของแม่ท้อง พบเจอกับการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ในขณะที่ร้อยละ 11 ของหญิงตั้งครรภ์ ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า อาการท้องแข็งตึง ซึ่งเกิดจากการบีบรัดตัวของมดลูกนั้น ไม่ได้เป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดเสมอไป แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจได้เช่นกัน หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย หรืออัลตร้าซาวด์ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการท้องแข็งในแม่ท้องไตรมาสที่สาม
ถึงเวลาแล้วที่อาการท้องแข็ง ๆ แน่น ๆ นี้ ใกล้จะเป็นสัญญาณของการคลอดจริง ๆ เสียที แม่ท้องอาจจะเริ่มรู้สึกเล็กน้อย และค่อย ๆ รู้สึกมากขึ้น บ่อยขึ้น เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอดจริงอย่างไรก็ตาม แม่ท้องอาจจะยังมีอาการเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องเตือนอยู่ในไตรมาสที่สามนี้ ให้แม่ท้องลองนับความถี่ดู หากรู้สึกบีบรัดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือรู้สึกท้องแข็งขึ้น มากกว่า 4 – 6 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง แม่ท้องควรพบแพทย์ทันที
พฤติกรรมที่ไม่ควรทำ หากแม่ท้องรู้สึกท้องแข็ง
1. อย่าจับท้องบ่อย
ยิ่งจับท้องบ่อย ก็อาจทำให้ท้องแข็งมากยิ่งขึ้น เพราะมดลูกเป็นอวัยวะที่ไวต่อการสัมผัส และถูกกระตุ้นได้ง่าย เมื่อรู้สึกว่าท้องแข็ง แม่ท้องไม่ควรจะเอามือไปจับ หรือลูบคลำบ่อย ๆ
2. งดการมีเพศสัมพันธ์เอาไว้ก่อน
หากแม่ท้องมีอาการท้องแข็ง แพทย์อาจจะสั่งให้งดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะไปกระตุ้นบริเวณปากมดลูกให้มีการบีบตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แม่ท้องมีอาการท้องแข็งมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังพบว่า ในน้ำอสุจิมีสารเคมีที่ชื่อว่า โพรสต้าแกลนดิน (Prostaglandin) สารเคมีตัวนี้จะทำให้ปากมดลูกขยายตัวในระหว่างการคลอด ดังนั้นหากมีเพศสัมพันธ์ คุณหมอจะหลีกเลี่ยงการปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปข้างใน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็ง และกระตุ้นการคลอดได้
3. ห้ามบิดขี้เกียจ
ลองนึกภาพการบิดขี้เกียจ ที่เหมือนบิดผ้าเปียก ๆ ผ้าก็จะแข็งขึ้น เช่นเดียวกัน ในขณะตั้งครรภ์ ปริมาตรในช่องท้องของคุณแม่ก็เล็กลง ความดันในมดลูกก็สูงขึ้น การบิดตัวมาก ๆ จึงทำให้ท้องของคุณแม่แข็งขึ้นนั่นเอง
คุณแม่อ่านไม่ผิดหรอกคะ ห้ามบิดขี้เกียจจริง ๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องแข็ง เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนกับตอนที่เราบิดผ้าเปียก ๆ นั่นแหละน้ำที่ค้างอยู่ในผ้าจะไหลออกมา เช่นเดียวกับตอนเราบิดขี้เกียจเหมือนกัน ช่องท้องของเราปริมาตรจะเล็กลง ความดันในมดลูกก็สูงขึ้น ท้องก็เลยแข็ง
4. ห้ามกลั้นปัสสาวะ
มดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะไปเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้แม่ท้องรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย แม่ท้องไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะใหญ่มากขึ้น จนไปเบียดมดลูก ทำให้มดลูกมีความดันสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ การปล่อยปัสสาวะออกเมื่อรู้สึกปวด จะทำให้อาการท้องแข็งบรรเทาลงได้
นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่จะช่วยหลีกเลี่ยง หรือลดอาการท้องแข็ง ที่เป็นปกติลงได้ ดังนี้
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ และอย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ
- เปลี่ยนท่านั่งบ้าง อย่านั่งในท่าเดิมนานเกินไป
- อย่าลุก หรือนั่งเร็วเกินไป
- นวดผ่อนคลาย
- อาบน้ำอุ่น หรือประคบอุ่น ก็สามารถลดอาการท้องแข็งลงได้
- อาการท้องแข็งแบบไหน อันตราย และควรพบแพทย์
อาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และมีสัญญาณของการคลอดเหล่านี้ ควรพบแพทย์ทันที
- มีเลือดออก
- ถุงน้ำคร่ำแตก
- ปวดบีบมากที่บริเวณเชิงกราน หรือช่องคลอด
เมื่อเกิดความวิตกกังวล แม่ท้องควรจะพูดคุย และปรึกษาแพทย์ จะดีที่สุด แม่ท้องไม่ควรเก็บความกังวลไว้ในใจ เพราะร่างกายของคุณแม่แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน สุขภาพของครรภ์ และวิธีการดูแลครรภ์ก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วย การพูดคุยเรื่องที่สงสัยกับคุณหมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือโรคต่าง ๆ ในแต่ละไตรมาส ให้ครรภ์ของคุณแม่แข็งแรง สมบูรณ์ ตลอดเวลา 9 เดือน จนถึงวันที่ลูกน้อยคลอดออกมา
ที่มาของข้อมูล
What Causes Stomach Tightening During Pregnancy
Irritable Uterus and Irritable Uterus Contractions
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ปวดท้องด้านซ้ายระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุ อันตรายไหม?
เทคนิคการหายใจสำหรับคนท้อง แม่ท้องเตรียมคลอดต้องฝึกการหายใจอย่างไรให้ถูกวิธี
ลูกดิ้นมาก จนแม่ปวดท้อง อันตรายไหม ทำไงดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!