15 อาการสุดฮิตที่ต้องเจอในช่วงตั้งครรภ์
1. หน้ามืดเป็นลม
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีระดับความดันโลหิตต่ำ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด จะเป็นลม นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ การรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่อึดอัด รวมถึงหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด เป็นวิธีการป้องกันได้
บทความแนะนำ ความดันต่ำขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่?
2. ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ การขาดน้ำกะทันหัน ความอ่อนเพลีย หรือเกิดจากความเครียด เป็นต้น สามารถลดอาการนี้ได้ด้วยการนวดบริเวณต้นคอด้านข้าง เริ่มจากฐานกะโหลกศีรษะ นอกจากนี้การนวดใบหน้า ลำคอ และไหล่ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายขึ้น ที่สำคัญต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำบ่อย ๆ ระหว่างอาหารแต่ละมื้อ
3. อาการคลื่นไส้อาเจียน
อาการนี้จะพบได้ในช่วงไตรมาสแรก ช่วง 1 – 3 เดือนของการตั้งครรภ์ คุณแม่แต่ละท่านจะมีอาการแพ้ท้องแตกต่างกันไป บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย แต่ไม่ต้องตกใจค่ะ อาการนี้เกิดจากฮอร์โมนที่หลั่งในช่วงตั้งครรภ์ การพยายามทำสิ่งต่าง ๆในแต่ละวัน ควรทำอะไรช้า ๆ รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ หรือการรับประทานเครื่องดื่มที่ช่วยลดอาการแก้แพ้ท้อง เช่น น้ำขิง จะช่วยลดอาหารคลื่นไส้อาเจียนลงได้
4. เหงื่อออกในเวลากลางคืน
ช่วงตั้งครรภ์มีการเพิ่มปริมาณของเลือดในร่างกาย หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องขับเหงื่อออกมา ไม่ต้องกังวลค่ะคุณแม่ อาการนี้ไม่มีอันตรายใด ๆ คุณแม่สามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่มีโปรแตสเซียมสูง เช่น ผักสด ผลไม้แห้งอย่างลูกพรุน และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายทำจากผ้าคอตตอน เวลานอนอาจจะเปิดแอร์หรือพัดลมช่วยระบายความร้อนได้
5. การผายลม
ไม่ต้องเขินค่ะ อาการนี้เป็นอาการหนึ่งของแม่ตั้งครรภ์ การผายลมเกิดจากของเสียที่สะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานจนเกิดลมในกระเพาะ เพื่อไล่อาการคลื่นไส้วิงเวียน หรือจุกแน่นหน้าอก ก็สามารถทำให้ลมขึ้นได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องรับประทานอาหารอย่าง ช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด และหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดลมในกระเพาะอาหารค่ะ
6. อาการท้องผูก
เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ทำลำไส้บีบตัวช้าลง มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นทำให้อุจจาระผ่านได้ลำบาก อุจจาระที่คั่งค้างอยู่นานจะถูกดูดซึมน้ำออกไปมาก เวลาถ่ายอุจจาระมีลักษณะแข็งและขับถ่ายลำบาก แต่สามารถป้องกันได้ค่ะ คุณแม่ควรรับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่ายรวมถึงการดื่มน้ำให้เพียงพอด้วยนะคะ
บทความแนะนำ อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์
7. ริดสีดวงทวาร
อาการท้องผูกมักจะมาร่วมกับริดสีดวงทวาร เพราะเกิดจากการกดทับของมดลูก ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก หลอดเลือดจึงบวมเป็นผลทำให้บริเวณทวารหนักเกิดอาการบวม เจ็บ คัน โดยเฉพาะเวลาที่มีท้องผูกด้วยแล้ว เวลาถ่ายยิ่งทวีความระคายเคือง
การแก้ไขก็ทำเช่นเดียวกับการแก้ไขอาการท้องผูกคือ รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก หรือหากมีอาการมากควรปรึกษาคุณหมอหากต้องใช้ยาถ่ายช่วยในการขับถ่าย ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาดนะคะ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
บทความแนะนำ อาการริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร
อ่าน 15 อาการสุดฮิตที่ต้องเจอในช่วงตั้งครรภ์ (ข้อ 8 – 15 ) คลิกหน้าถัดไป
8. หายใจไม่สะดวก
เมื่อฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และฮอร์โมนบางชนิดอาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกหย่อนตัวลงและขยายหลอดลม เนื่องจากต้องผลิตเลือดให้ปอดมากขึ้น เมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น ท้องขยายขนาดโตขึ้น มดลูกที่ขยายนั้นขยายใหญ่ขึ้นไปดันกระบังลม ส่งผลถึงปอด ทำให้หายใจไม่สะดวก คุณแม่ไม่ควรอยู่ในที่แออัดนะคะ พยายามหายใจลึก ๆ หายใจช้า ๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นค่ะ
9. ปวดหลัง
แน่นอนว่า ไม่พลาดอาการนี้ เพราะข้อต่อและกระดูกหย่อนตัวมากขึ้น หรือขึ้นอยู่กับท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีอาการปวดหลังมากยิ่งขึ้น คุณแม่อาจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยท่านั่ง นอน ยืนด้วยท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสำหรับคนท้อง เวลานั่งอาจใช้หมอนหนุนหลังจะได้สบายขึ้นค่ะ
บทความแนะนำ การปฏิบัติตัวของคนท้อง : ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรให้ถูกต้อง
10. ตะคริวที่ขาหรือเท้า
ส่วนใหญ่มาจากการขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น แคลเซียม วิตามินบีรวม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการหมุนเวียนของเลือดที่ลดประสิทธิภาพลง สามารถแก้ไขได้ค่ะคุณแม่ หมั่นออกกำลังกายเบา ๆ ให้เลือดไหลเวียน ที่สำคัญต้องรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการตามคำแนะนำของคุณหมอนะคะ
บทความแนะนำ 8 อาหารเสริมแคลเซียมสำหรับคนท้องที่ไม่ชอบดื่มนม
11. อาการคันและผื่นแดง
อาการคันตามตัวในช่วงตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นเสมอ เพราะช่วงนี้ผิวหนังของคุณแม่จะแห้งมากกว่าปกติหรืออาจเกิดจากความร้อนในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น หากคุณแม่รู้สึกว่ามีผดผื่นขึ้นตามตัวมากผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอนะคะ การดูแลโดยทั่วไป คือ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ใช้ครีมบำรุงผิว สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อาบน้ำชำระร่างกายบ่อยขึ้นหรือในระหว่างวันเช็ดตัวก็ได้ค่ะเพิ่มระบายความร้อนให้แก่ร่างกาย และควรอยู่ในสถานที่มีอากาศระบายดี
บทความแนะนำ ผื่นตั้งครรภ์ เรื่องคัน คัน ของแม่ตั้งครรภ์
12. เหงือกอักเสบ
หลาย ๆ อาการที่กล่าวมามักเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงอาการเหงือกอักเสบ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เหงือกอ่อนนุ่มขึ้น เมื่อมีรอยขีดข่วนหรือเศษอาหรติดตามซอกฟันทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเหงือกอักเสบ หรือมีเลือดออกตามไรฟันได้
บทความแนะนำ แม่ท้องมีเลือดออกตามไรฟันจะเป็นอันตรายหรือไม่
13. นอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับ มักเกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะความกังวลใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้คุณแม่บางคนอาจจะหงุดหงิดง่าย หรือหูไวต่อเสียงรบกวนทำให้นอนไม่หลับ รวมไปถึงปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืนทำให้ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งอาจทำให้นอนไม่หลับได้เหมือนกัน วิธีแก้ไข พยายามออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเล่น การฝึกโยคะ นอกจากนี้การอาบน้ำอุ่นหรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน การฟังเพลง การอ่านหนังสือ ก็ช่วยให้หลับสบายขึ้นนะคะ
14. มีเส้นคล้ำ รอยดำ รอยแตกลายที่หน้าท้อง
เป็นผลมาจากผิวหนังที่ตึงตัว และการที่ร่างกายต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น แต่รอยนี้จะค่อย ๆ จางลงหลังจากคลอดแล้วค่ะ แต่หากไม่อยากให้มีรอยดำหรือรอยแตกลาย คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องการเพิ่มน้ำหนักต้องเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการทาครีมบำรุงผิว ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น ควรเริ่มทาตั้งแต่ตั้งครรภ์เลยค่ะ แต่ต้อระมัดระวังด้วยนะคะสำหรับครีมที่มีส่วนผสมของไวท์เทนนิ่งอาจจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่าค่ะ
15. ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน
เกิดจากข้อต่อกระดูกหย่อนตัวลงเพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอด บางครั้งอาจมีอาการเจ็บแปลบ ๆ ร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะทารกน้อยในครรภ์กำลังดิ้นไปชนกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่วิธีการแก้ไขคือ เลือกที่นอนที่ไม่แข็งจนเกินไป หรือหาหมอนข้างหรือวางหมอนนิ่ม ๆ ระหว่างเข่าและใต้ท้องของคุณแม่หากนอนตะแคงนอกจากนี้ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนะคะ
บทความแนะนำ คนท้องกังวล ปวดขาหนีบเป็นสัญญาณการคลอดหรือไม่?
เป็นอย่างไรบ้างคะทั้ง 15 อาการ ตอนนี้คุณแม่พบอาการใดบ้างแล้ว ร่วมแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ อย่างไรก็ตามอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปเองเมื่อคุณแม่คลอดเจ้าหนูแล้วค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ เตรียมตัวคลอดให้ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก สำนักพิมพ์ณัฎฐ์ธนัน
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง