เคยเจอไหม อาการคันของคนท้อง แม่ ๆ หลายคนชอบคันตอนท้อง สาเหตุเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไรได้บ้าง วันนี้เรารวบรวมคำตอบของ อาการคันของคนท้อง มาให้แม่ ๆ ทุกคนกันแล้ว
ทำไมคนท้องถึงมีอาการคัน ?
อาการคันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ คนส่วนใหญ่มักมีความคิดที่เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น แต่ผิวหนังที่ยืดออกเมื่อท้องคุณแม่โตขึ้น ทำให้เกิดอาการคันได้เช่นกัน บางครั้งอาการคันอาจเป็นอาการของโรคตับที่เรียกว่า ภาวะน้ำดีคั่งในตับขณะตั้งครรภ์ หรือที่รู้จักกันว่า Obstetric Cholestasis (OC) ซึ่งเป็นโรคที่จะต้องรับการรักษาจากแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก สาเหตุการเกิดโรคผิวหนัง อย่ารอจนเรื้อรัง
วิดีโอจาก : DrNoon Channel
ภาวะน้ำดีคั่งในตับขณะตั้งครรภ์คืออะไร ?
ภาวะน้ำดีคั่งในตับ IPC เป็นความผิดปกติของตับอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะ ICP นี้ แต่ภาวะนี้ควรหายไปหลังจากที่คุณแม่คลอดแล้ว โดยทั่วไปอาการของโรค IPC จะเกิดขึ้นช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ แต่บางครั้งอาจจะพบได้ตั้งแต่ในสัปดาห์ที่ 8 ของการตั้งครรภ์
อาการของภาวะ IPC เป็นอย่างไร ?
- คันแต่ไม่มีผื่นขึ้นตามตัว
- อาการคันส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณมือและเท้า แต่บางรายอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งร่างกาย
- ไม่สามารถทนอาการคันได้ แย่ลงในเวลากลางคืน แต่อาจจะไม่รุนแรง
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
- ผิวหนังและตาขาวมีสีเหลือง คล้ายอาการคนเป็นดีซ่าน แต่พบได้น้อย
ผิวพรรณเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แน่นอนว่าร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านสรีระ และอารมณ์ นั่นเป็นเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับผิวพรรณของคุณแม่บ้าง
- รอยคล้ำ มักจะเกิดขึ้นบริเวณข้อพับของร่างกาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ ต้นขาด้านใน หัวนม รวมถึงอวัยวะเพศ โดยบริเวณดังกล่าวจะมีสีเข้มขึ้นกว่าปกติ แต่สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์กลัวกันมาก คือ การเกิดฝ้าบนใบหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ถูกแดดเป็นประจำ ส่งผลให้กระที่อาจเป็นอยู่แล้วมีสีเข้มขึ้น และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะรอยคล้ำเหล่านี้จะเริ่มจางลงหลังจากคลอดแล้ว
- สิว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ มีผลต่อการทำงานของต่อมไขมันทำให้คุณแม่บางคนมีอาการสิวเห่อขึ้นที่หน้าและตัวได้ ในทางกลับกันคุณแม่บางคนก่อนตั้งครรภ์หน้าเป็นสิวง่าย พอตั้งครรภ์แล้วสิวกลับหายหน้าขาวผ่องก็มี
- รอยแตกลาย มักพบได้บ่อยโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องที่ต้องขยายขึ้น เรื่อย ๆ สะโพก ก้น หน้าอก ต้นขา อาจเป็นสีชมพูอมม่วง ๆ หรือดำคล้ำในผู้ที่มีผิวคล้ำ บางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย แต่หลังคลอดแล้วจะจางลงได้อีกเล็กน้อย
- ติ่งเนื้อสีน้ำตาลดำ มักเกิดขึ้นที่คอ รักแร้
- การติดเชื้อรา ที่ผิวหนังบริเวณที่มีการอับชื้น เนื่องจากคนท้องมักขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย จึงเกิดจุดอับชื้นบริเวณซอกพับที่สรีระมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อราได้ง่าย
- โรคผื่นคัน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งขอกล่าวในหัวข้อถัดไปค่ะ
คันเล็กน้อยอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ?
อาการคันที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่บางครั้งอาจมีอาการที่คันรุนแรงมาก โดยเฉพาะในช่วงเย็นและช่วงกลางคืน คุณแม่ควรแจ้งให้หมอทราบ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยว่าคุณแม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่
ประเภทและสาเหตุของอาการคันผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์
อาการคันเป็นได้ทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย นอกเหนือจากอาการคันที่พบได้ในบุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อรา ติดเชื้อแบคทีเรีย ยุงกัด การแพ้สารเคมี แพ้เหงื่อ การแพ้เสื้อผ้า เหมือนคนปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์ยังมีลักษณะพิเศษของโรคผิวหนังที่พบในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่
1. ผื่นตั้งครรภ์ Pruritic urticarial papules and plaques of pregnancy (PUPPP)
พบมากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์เฉลี่ยอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากผนังท้องขยายมากทาให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และ คอลลาเจน กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ อาการผื่นมีหลายลักษณะ เช่น ผื่นนูนแดงคล้ายลมพิษ หรือ เป็นตุ่มน้ำขนาดประมาณ 1-2 มม. เป็นต้น ซึ่งพบมากบริเวณหน้าท้องโดยเฉพาะที่เป็นรอยแตกลาย โดยเว้นรอบสะดือ แล้วจึงกระจายไปที่ต้นขา ก้น หน้าอก และแขน โดยทั่วไปมีอาการคันมาก ผื่นชนิดนี้ขึ้นนานประมาณ 6 สัปดาห์และหายได้เองหลังคลอดภายใน 1-2สัปดาห์ ไม่มีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์แต่อย่างใด การรักษาเป็นการบรรเทาอาการคัน เช่น ยาทาคาลาไมน์ ,ยาทากลุ่มสเตอรอยด์ และยาแก้แพ้ ก็เพียงพอ
2. ผื่นตั้งครรภ์ Herpes gestationis
ผื่นชนิดนี้พบได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเริมหรืองูสวัด ลักษณะสำคัญคือเป็นผื่นแดงเฉียบพลันคล้ายลมพิษบริเวณลำตัว หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส หากมีการแตกของผื่นอาจกลายเป็นตุ่มน้ำใหญ่ได้ และมีอาการคันมาก การรักษาคือใช้ยาทาสเตอรอยด์ ผื่นชนิดนี้พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ และภาวการณ์คลอดก่อนกำหนด
3. ผื่นตั้งครรภ์ Pustular psoriasis of pregnancy
พบในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ลักษณะเป็นผื่นแดงรวมกับตุ่มหนอง กระจายทั่วลำตัว ผื่นมีอาการคันหรือเจ็บ แม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดข้อร่วมด้วย ผื่นมักหายได้เองหลังคลอด และอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) ,การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต (bacterial sepsis) ,ภาวะรกเสื่อม (placental insufficiency) และทารกตายในครรภ์(still birth) การรักษาคือ ใช้ยาสเตอรอยด์ขนาดสูงตลอดการตั้งครรภ์ ,ยาไซโคลสปอริน(cyclosporine) ,การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลตชนิดบี ภาวะนี้มีอันตรายทั้งแม่และทารก ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
4. ผื่นตั้งครรภ์ Atopic eruption of pregnancy
สัมพันธ์กับผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้อยู่ก่อน พบในช่วงไตรมาสที่2-3ของการตั้งครรภ์ ผื่นพบได้ 2 แบบคือชนิด eczematous เป็นผื่นแดง คัน บริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และข้อพับแขนขา อีกชนิดหนึ่งคือ ชนิด papular eruption ซึ่งเป็นตุ่มแดง คัน กระจายทั่ว เป็นบริเวณด้านนอกของแขนขา การรักษาใช้ยาทากลุ่มยาสเตอรอยด์ ,ยาแก้แพ้บรรเทาอาการคัน โรคนี้ไม่มีผลกับทั้งแม่และทารกในครรภ์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังพบว่าอิทธิพลของฮอร์โมนจะมีผลต่อการทำงานของตับ โดยทำให้เกิดการขับถ่ายกรดน้ำดีมากผิดปกติ ทาให้เกิดอาการคัน เป็นต้น ซึ่งอาการคันในระหว่างตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุก่อน เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูก
รักษาอาการคันที่เกิดอย่างไรดี
การรักษาและบรรเทาอาการคัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของอาการคัน หากพบว่าอาการคันเกิดจากอาการแพ้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง ก็ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น คุณแม่ไม่ควรอาบน้ำหรือแช่น้ำนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งจนเกิดอาการคัน ทั้งนี้ อาจหาซื้อครีมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ตบดมาใช้ได้ เพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น
หากสวมชุดชั้นในแล้วรู้สึกอึดอัด ให้ลองถอดออกซัก ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่ชุดที่ทำจากขนสัตว์ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง นอกจากนี้ หากรู้สึกคันตอนที่นอนอยู่ช่วงกลางคืน ก็อาจเป็นไปได้ว่าแพ้ผ้าปูที่นอน ให้ลองนำฟูกหรือผ้าปูที่นอนไปซักหรือทำความสะอาดได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการคันรุนแรง จนเกิดแผลหรือหนองตามร่างกาย หรือหากพบว่าตัวเองมีอาการแปลก ๆ ร่วมด้วย ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยด่วนนะคะ
ข้อควรรู้
คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการผื่นแพ้เพราะฮอร์โมน คุณหมอมักรักษาตามอาการ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ยาแก้แพ้ใด ๆ เพราะยาอาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ได้ และคุณแม่ควรดูแลผิวไม่ให้อักเสบติดเชื้อ พยายามอย่าถูหรือเกา และไม่ควรซื้อยาแก้แพ้มากินหรือทาเองอย่างเด็ดขาดเพราะยาอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ และอาการผื่นแพ้นี้มักจะหายไปหลังคลอดลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคผื่นกุหลาบ มีอาการอย่างไร โรคผื่นกุหลาบสามารถรักษาได้หรือไม่
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง
คนท้องคันช่องคลอด อาการคันน้องสาว อันตรายต่อแม่ท้องหรือไม่
อ่านประสบการณ์จริงของแม่ท้องที่เป็นผื่นคันตามตัว
คีล่า โลชั่น มีแม่ ๆ บ้านไหนเคยใช้บ้างคะ
ที่มา : bangkokhealth, mfu
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!