เตือนคนท้อง อย่าเอะอะผ่าคลอดทั้งที่ไม่จำเป็น
อย่าเอะอะผ่าคลอดทั้งที่ไม่จำเป็น …ปัจจุบันอัตราการผ่าท้องคลอดเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน เนื่องด้วยความสะดวกสบาย สามารถกำหนดได้ว่าจะคลอดเมื่อไหร่ แต่จริง ๆ แล้ว การผ่าคลอดนั้น ไม่ควรเป็นทางเลือกแรก! มาอ่านความเสี่ยงกันก่อนว่า คุ้มหรือไม่ หากตัดสินใจผ่าคลอด
เพจใกล้มิตรชิดหมอ ให้ข้อมูลในโพสต์ คลอดเอง กับ ผ่าคลอด ถ้าเลือกได้ จะเลือกอะไรดี (ตอนที่ 3) โดยหมอเมษ์ ว่า การผ่าคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัยขึ้นมาก ทั้งเรื่องเทคนิคการผ่าตัดและการระงับปวดในระหว่างการผ่าตัด (ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลังหรือที่เรียกกันว่าบล็อคหลัง – spinal block หรือการดมยาสลบ – general anesthesia) ดังนั้นถ้ามีความ “จำเป็น” ต้องผ่าคลอด ด้วยข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์ ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะเหตุผลมันคุ้มกัน
สำหรับความจำเป็นต้องผ่าคลอดก็เช่น
- เด็กท่าก้น
- เด็กตัวโต
- อุ้งเชิงกรานมารดาแคบ
- ทารกมีความพิการที่ไม่สามารถคลอดเองได้
- ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดช้า
- ทารกมีภาวะหัวใจเต้นช้า
กรณีคนที่ขอผ่าคลอด โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ หรือผ่าคลอดเพราะกลัวเจ็บเวลาคลอดเอง หรือผ่าคลอดตามฤกษ์ คุณหมอได้ชี้แจงถึงความเสี่ยงไว้ว่า
เมื่อผ่าตัดคลอดแล้ว คุณแม่ก็จะมีแผล ไม่ใช่แผลที่หน้าท้องเท่านั้น แต่เป็นแผลที่มดลูกด้วย
การผ่าตัดต้องเปิดผิวหนัง ผ่านชั้นไขมัน ชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อหุ้มช่องท้อง แล้วถึงจะเป็นส่วนของมดลูก จากนั้นต้องเปิดแผลที่มดลูกเข้าไปเพื่อเอาทารกออกมา โดยทั่วไปแผลที่มดลูกในปัจจุบันจะกรีดเป็นแนวขวาง ที่บริเวณมดลูกส่วนล่าง (lower uterine segment) ซึ่งมีกล้ามเนื้อน้อยกว่าบริเวณมดลูกด้านบน (upper uterine segment) เมื่อมีแผลที่มดลูก กระบวนการหายของแผล (wound healing) ก็จะคล้ายคลึงกับการหายของแผลในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย คือ อาศัยกระบวนการอักเสบ (inflammation process) เพื่อสร้างเนื้อเยื่อใหม่
อย่างไรก็ตาม เหมือนแผลเป็นตามผิวหนังของร่างกาย ความแข็งแรงของโครงสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในบริเวณแผลก็จะไม่แข็งแรงเท่ากับบริเวณอื่นๆ ของมดลูก กลายเป็นจุดอ่อนของมดลูกไป
เมื่อมีการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
ลองคิดดูว่ามดลูกที่ขนาดเพียงเท่ากำปั้นก่อนการตั้งครรภ์ ต้องขยายมากขนาดไหนเมื่อครบกำหนดคลอด ก็ขนาดที่ใส่เด็กน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัมเข้าไปได้แหละนะ มดลูกมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาก เมื่อเข้าสู่ระยะการคลอดและมีการบีบตัวของมดลูก จะเกิดแรงมหาศาล ความดันในมดลูกจะเกิดขึ้นอย่างมาก มากขนาดที่จะดันให้ปากมดลูกที่แข็งแรงซึ่งพยุงการตั้งครรภ์มาได้ถึง 40 สัปดาห์เปิดออกและดันเด็กออกมาตามช่องทางคลอดได้นั่นแหละ
แต่ถ้ามีแผลเป็นซึ่งเป็นเหมือนจุดอ่อนของมดลูก เมื่อมีการเจ็บครรภ์คลอดมดลูกบีบตัวความดันในมดลูกสูงขึ้น ลองคิดดูนะคะว่าจะเกิดอะไร
ความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกแตก (uterine rupture) ในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาก่อนก็จะสูงขึ้นกว่าคนที่ไม่มีแผลที่มดลูก
ความเสี่ยงจะอยู่ที่ประมาณ 0.5-1% ในกรณีที่แผลผ่าตัดที่มดลูกเป็นแบบแนวขวางที่มดลูกส่วนล่างที่ทำกันทั่วไป (low transverse incision) ***อ่านดีๆ นะคะ หมายถึงแผลที่มดลูก ไม่ใช่แผลหน้าท้อง *** แต่ถ้าเป็นแผลแบบอื่นซึ่งจำเป็นต้องทำในบางราย เช่น กรีดที่ส่วนบนของมดลูก หรือกรีดตามแนวยาว ความเสี่ยงจะสูงกว่านี้อีกนะคะ
ถ้ามดลูกแตกจะเกิดอะไร ก็จะเพิ่มอัตราตายของทารก และอัตราตายของมารดาสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งจิตตก เพราะไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่บอกว่ามีโอกาสเสี่ยง “เพิ่มขึ้น” และส่วนมากหมอมักจะนัดผ่าตัดคลอดในคนที่เคยผ่าตัดคลอดในครรภ์ก่อนประมาณ 38-39 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่สมดุลระหว่างทารกโตเต็มที่และการเจ็บครรภ์คลอดจะไม่เกิดขึ้นก่อน แต่เราก็ไม่รู้แน่หรอกใช่มั๊ยคะ ว่าคุณจะเจ็บครรภ์คลอดเทื่อไหร่
เมื่อมีแผลผ่าตัดที่เป็นจุดอ่อนอยู่ ถ้าเกิดโชคร้ายไปกว่านั้น
“รก” เกิดไปเกาะในตำแหน่งที่เป็นแผลพอดี จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง โดยปกติเมื่อมีการฝังตัวของรก รกจะฝังตัวในชั้น “เยื่อบุโพรงมดลูก” เท่านั้น ถ้าเกาะลึกกว่านั้นจะเรียกว่ารกเกาะลึก (placenta adherens) ซึ่งจะลึกขนาดไหนก็จะมีแบ่งเป็นระดับ ลึกระดับกล้ามเนื้อมดลูก หรือทะลุออกมานอกมดลูกก็ได้ ที่น่ากลัวคือถ้ารกมาเกาะส่วนที่เป็นแผลแล้วเกิดรกเกาะลึกนี่ล่ะ
เพราะมันจะเอาไม่ออก หลังคลอดรกจะไม่ลอกตามปกติ จะใช้มือดึงแบบลอกกระดาษกาวสองหน้าแน่นๆ ก็ไม่ได้ มดลูกจะฉีกไปด้วย แล้วก็จะเสียเลือดมาก บางคนอาจจะเสียเลือดมากถึง 5-10 ลิตรเลยทีเดียว
ถ้าเกิดแบบนี้แล้วทำยังไงล่ะ ก็ทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากหลังคลอดเด็ก (ซึ่งก็ยากมากในภาวะนี้) ก็ห้ามลอกรก แต่ตัดออกมาทั้งมดลูกเลย
อย่าคิดว่าง่ายๆ นะคะ ใครเจอซักเคสเนี่ย หน้ามืดเลยนะ ลองถามคุณหมอทุกคนดู ไม่มีใครอยากเจอเคสแบบนี้หรอก เพราะมันเสี่ยงสุดๆ การตัดมดลูกออกในตอนที่ตั้งครรภ์ไม่ง่ายนะ เพราะตอนท้องมดลูกจะมีเลือดมาเลี้ยงเยอะมาก เส้นเลือดขนาดเท่าหลอดยาคูลย์ตอนก่อนท้องจะขยายขนาดเป็นเกือบเท่านิ้วก้อย เนื้อเยื่อรอบๆ ก็มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย จะหยิบจะจับตรงไหนก็เลือดออก เรียกว่าหน้ามืดเหงื่อตกกันเลยทีเดียวล่ะ
แต่ก็อย่างที่บอก อย่าเพิ่งจิดตกไป เพราะไม่ได้เกิดกับทุกคน ไม่ได้เจอบ่อยมาก แต่ก็เจอได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะปัจจุบัน อัตราการผ่าคลอดสูงขึ้นมาก บางแห่งอัตราการผ่าคลอดมากถึง 60-70% และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ 80-90% ก็มี
นอกจากแผลที่มดลูกแล้ว การเข้าไปยุ่งกับชั้นเยื่อหุ้มช่องท้อง ก็ยังทำให้เกิดผังผืด (adhesion)
ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการหายของแผลที่เกิดจากกระบวนการอักเสบเช่นกัน เจ้าตัว adhesion นี้อาจจะไปทำให้ลำไส้, กระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุช่องท้องเองมาแปะติดกับมดลูก เหมือนใยแมงมุมยุ่งๆ ได้ ซึ่งเราบอกไม่ได้ว่าใครจะเกิดมากหรือเกิดน้อย เจ้า adhesion นี้เองทำให้เกิดความยากลำบากในการผ่าตัดครั้งต่อๆ ไป ยิ่งผ่ามาก ยิ่งเกิด adhesion มาก
ดังนั้น คนที่เคยผ่าตัดมาหลายๆ ครั้ง จึงสร้างความลำบากใจให้กับคุณหมอผ่าตัดมากกว่าคนที่ไม่เคยผ่าตัดมาก่อน เพราะกลัวว่าถ้ามี adhesion ติดอิรุงตุงนัง อาจจะเกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่นแบบไม่ได้ตั้งใจได้ เพราะมันยากจริงๆ เคยผ่าตัดคนที่ adhesion เยอะๆ เล่นเอาหน้ามืดเหมือนกัน
ไม่ใช่แค่ผ่าตัดคลอดครั้งต่อๆ ไป การผ่าตัดช่องท้องด้วยความจำเป็นอื่นๆ
เช่น เนื้องอกมดลูก ตัดมดลูก หรือเป็นมะเร็ง หรือบาดเจ็บในช่องท้องแล้วต้องผ่าตัด แล้วมีประวัติผ่าตัดคลอดมาก่อน โดยเฉพาะถ้าเคยผ่าตัดมาแล้วหลายๆ ครั้ง ก็จะทำให้ความเครียดของหมอผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีกหลายระดับ เพราะไม่รู้ว่า adhesion จะยุ่งอิรุงตุงนังขนาดไหน จะเกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่นที่ไม่จำเป็นหรือเปล่า จะเสียเลือดเยอะขึ้นหรือเปล่า
ปัจจุบันเรื่องการผ่าตัดคลอด เป็นเรื่องของธุรกิจมากขึ้น คุณแม่หลายๆ คนเลือกที่จะไปฝากครรภ์กับหมอที่ได้ยินมาว่าผ่าคลอดให้ตามฤกษ์ การผ่าตัดคลอดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการคลอดเอง ค่าผ่าตัดที่แพทย์จะได้รับก็จะเยอะขึ้น ไม่ต้องมานั่งเฝ้าคลอด ตั้งเวลาได้ว่าจะผ่าเมื่อไหร่ ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าจะคลอดได้หรือเปล่า จะว่าไปก็ win-win เนาะ แต่เมื่อหมอได้ประโยชน์ขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ผ่ามันซะทุกคนเลยล่ะ จะมานั่งลำบากเฝ้าทำไม ทราบแล้วใช่มั๊ยคะ
สำหรับคนที่จำเป็นต้องผ่า ก็ผ่าเถอะคะ แต่คนที่เลือกได้ ลองคิดดูถึงสิ่งที่จะตามเหล่านี้ซักนิด หมอเชื่อว่าในเวลานั้น น้อยคนนักที่จะพูดถึงความเสี่ยงเหล่านี้ให้คุณฟัง …. คุณลองชั่งดูนะคะ ว่าฤกษ์ดี แต่สิ่งที่ลูกคุณ (อ่านในตอนที่ 2) และคุณจะต้องเสี่ยงมันคุ้มกันหรือเปล่า
ที่มา : facebook.com/Drnextdoor
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลอดลูกธรรมชาติ คลิปจำลองการคลอดธรรมชาติ แม่ใกล้คลอดห้ามพลาด
วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด จะคลอดเองหรือผ่าคลอด ก็ฟื้นตัวเร็วได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!