เรื่องของความสัมพันธ์อาจมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์แย่ลง หนึ่งในนั้นคือเรื่องสุขภาพ หลาย ๆ คนคงคิดไม่ถึงว่าสุขภาพจะส่งผลกับความสัมพันธ์อย่างไร วันนี้ theAsianparent Thailand ขอนำบทความเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หูดหงอนไก่ มาแบ่งปันทุกคนกัน หูดหงอนไก่อันตรายไหม มาดูกันว่าโรคดังกล่าวจะเป็นอย่างไร หูดหงอนไก่ อันตรายไหม และควรป้องกันอย่างไรบ้าง
หูดหงอนไก่ คืออะไร หูดหงอนไก่อันตรายไหม
หูดหงอนไก่ หรือ Genital warts หรือ Condyloma acuminata คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยมากที่สุด โดยมีสาเหตุหลักมาจาก เชื้อไวรัสต้นเหตุที่เรียกว่า ฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human Papilloma Virus : HPV) ที่ถ่ายทอดถึงกันได้ง่าย ผู้ที่ให้เชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย และผู้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย กว่าจะเกิดอาการใช้เวลานานเป็นปี ปัจจุบันพบว่า หญิงชายวัยเจริญพันธุ์ โรคนี้พบบ่อยในช่วงวัยเจริญพันธ์ุ คือ ช่วงอายุ 16-25 ปี โดยเชื้อนี้มักเกิดบริเวณที่อับชื้น ทำให้เกิดรอยโรครอบอวัยวะเพศ โดยจะพบรอยโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หูดหงอนไก่ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต แต่ทำลายความมั่นใจในชีวิตอย่างมาก รวมทั้งต้องเสียเงินและเวลาในการรักษามากมาย และยังพบเกิดซ้ำร้อยละ 30-70 หลังจากหยุดการรักษาไป 6 เดือน
การติดต่อของหูดหงอนไก่มาจากอะไร ?
โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่อย่างไรก็ตามโรคหูดหงอนไก่นั้นสามารถติดได้โดยไม่มีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน โดยติดจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงบริเวณทวารหนัก เช่น การสัมผัสมือที่มีเชื้อของคู่นอนที่มีการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้สามารถเป็นโรคหูดหงอนไก่ได้ทั้งที่บริเวณทวารหนัก และอวัยวะเพศได้
อาการของการเป็นหูดหงอนไก่
เชื้อหูดหงอนไก่มีระยะในการฟักตัวประมาณ 3 สัปดาห์จนถึง 8 เดือน เชื้อไวรัสชนิดนี้มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีชมพูหรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ บริเวณที่พบส่วนมากที่บริเวณต่อไปนี้
- บริเวณปากช่องคลอด
- แคมคลิตอริส
- รอบทวารหนัก
- ผนังช่องคลอด
- ปากมดลูก
ในขณะที่บางรายมีเลือดออกจากก้อนเนื้อ มีอาการคัน ตกขาวผิดปกติ หรือแม้แต่แสบร้อนที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก โดยหูดหงอนไก่จะสามารถขยายจำนวนได้โดยได้รับการกระตุ้นจากความร้อน ความชื้น
บทความที่น่าสนใจ : โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส โรคซิฟิลิสอันตรายกว่าที่คิด
วิธีการรักษาหูดหงอนไก่
เป้าหมายของการรักษาคือ ความสวยงามบรรเทาอาการและลดความกังวลใจ วิธีการรักษามีให้เลือกหลายรูปแบบทั้งการใช้ยา หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อกำจัดหูดออกไป โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
โดยทั่วไปหูดที่มีขนาดเล็กย่อมรักษาได้ง่ายกว่า โดยพบว่าถ้าขนาดเล็กกว่า 1 ตารางเซนติเมตรมักรักษาด้วยยาสำเร็จ ประสิทธิภาพของวิธีการรักษาแตกต่างกันไปและมีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้อีกทุกวิธีโดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดการรักษา ซึ่งการใช้ยารักษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังต่อไปนี้
-
- การรักษาด้วยยาชนิดที่แพทย์ทาให้โดยแพทย์มักจะนัดทุก 1 สัปดาห์ โดยก่อนทายาทุกครั้งผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอเพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรให้รอยทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ยามีหลายชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่
-
-
- โพโดฟีโลทอกซิน (Podophylotoxin) เป็นสารสีเหลืองน้ำตาลลักษณะเหนียว ทำให้เซลล์ตายโดยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ยานี้อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และปวด หากเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เส้นประสาทอักเสบ ชาตามตัว เม็ดเลือดขาวต่ำ และ เกล็ดเลือดต่ำ
- ไตรคลอโรเซติกแอซิด (80-90% Trichloroacetic acid ; TCA) ออกฤทธิ์โดยทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตายหูดที่มีก้านมักหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน ทำให้เกิดผิวหนังระคายเคือง เป็นแผลเลือดออกได้
-
- การใช้ยาที่ผู้ป่วยสามารถทาเองได้ โดยในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
-
-
- อิมิควิโมด (5% Imiquimod/ Aldara) ทา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ยานี้จะกระตุ้นภูมิต้านทานเฉพาะที่ ให้ร่างกายกำจัดไวรัสเอชพีวีด้วยตัวเอง ข้อเสียคืออาจทำให้เกิดผื่นแดงเฉพาะที่
- โพโดฟิลอก (Podofilox 0.5%) เป็นยาที่ยับยั้งการแบ่งเซลล์วิธีการใช้คือทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ อาจทำให้เกิดระคายเคืองเล็กน้อย เช่นเดียวกับยาที่แพทย์ทาให้ ก่อนทายาเองทุกครั้งผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอเพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรให้รอยทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
เมื่อหูดมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับการใช้ยาในการรักษา แพทย์อาจจะพิจารณาในการรักษาเป็นการผ่าตัดเพื่อนำหูดออก โดยการผ่าตัดนั้นแพทย์จะให้คุณดมยาสลบเพื่อทำหัตถการ และใช้ยาชาทาบริเวณที่ต้องการนำหูดออก ซึ่งปริมาณของยาชานั้นขึ้นอยู่กับจำนวน และตำแหน่งของหูด
บทความที่น่าสนใจ : ทำความรู้จัก 5 โรคพบบ่อยในเด็กวัยเรียน พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษา และเทคนิครับมือฉบับคุณแม่มืออาชีพ
หูดหงอนไก่ อาการหลังการรักษาเป็นอย่างไรบ้าง?
หลังจากการรักษาหูดหงอนไก่แล้ว ความเจ็บปวด และความรู้สึกไม่สบายตัวจะอาจจะยังมีอยู่ โดยแพทย์ของคุณอาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดให้กลับมาทานเพื่อบรรเทาอาการ หากบาดแผลของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติในวันถัดไป แต่ถ้าหากมีบริเวณกว้างและรุนแรงคุณอาจจะต้องพักฟื้นเป็นเวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามการรักษานั้นไม่ได้สามารถทำให้คุณหายขาดจากการเป็นหูดหงอนไก่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส HPV ที่จะเจริญเติบโตในเนื้อเยื่อบนร่างกายของคุณ หากหูดหงอนไก่กลับมาเป็นอีกครั้งคุณควรรีบปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรักษาในทันที เพราะว่าการเกิดใหม่นั้นจะเพิ่มจำนวนที่มากขึ้น และแพร่กระจายรวดเร็วกว่าเดิม และอาจจะต้องมีการผ่าตัดอีกครั้ง และสิ่งที่สำคัญที่สุดหลังการผ่าตัดในครั้งแรกคือคุณควรที่จะไปตามนัดหมอในทุกครั้งเพื่อติดตามอาการ และเข้ารับการรักษาจนแน่ใจว่าหูดนั้นหมดไปและจะไม่มีการเกิดใหม่อีก
ป้องกันโรค หูดหงอนไก่ ได้อย่างไร?
เชื้อไวรัส HPV หรือเชื้อที่นำไปสู่การเป็นโรคหูดหงอนไก่นั้นในช่วงแรกของการได้รับเชื้อจะไม่มีอาการใด ๆ โดยคุณสามารถทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคได้
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ทางทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ หากต้องการมีเพศสัมพันธ์จะต้องป้องกันด้วยถุงยางอนามัยด้วย
- จำกัดคู่นอน ควรมีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
- ถ้าเป็นไปได้อยากให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า
- ใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ซึ่งสามารถช่วยลดการติดเชื้อได้ แต่ไม่ได้จำกัดในเรื่องของความเสี่ยงที่จะติด
- พาคู่นอนไปตรวจหาเชื้อ HPV และโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ว่าคู่นอนจะไม่มีการแสดงอาการก็ตาม
- ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV โดยคุณสามารถเข้าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยวัคซีนนี้นั้นสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี และสามารถฉีดได้ทุกเพศ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับโรคหูดหงอนไก่ เป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ติดง่าย แต่การรักษายาก ไม่สามารถหายได้ในการรักษาครั้งแรก ถ้าหากไม่อยากเป็นโรคนี้แล้วละก็อย่าลืมป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์นะคะ
บทความที่น่าสนใจ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เริม เริมคืออะไร อันตรายยังไง?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส โรคซิฟิลิสอันตรายกว่าที่คิด
คอตีบคืออะไร โรคคอตีบมีอาการเป็นอย่างไร มีสาเหตุเกิดมาจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่
ที่มา : siphhospital, paolohospital, nih, ASCRS
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!