วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง
วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง วิธีทำให้พี่น้องรักกัน เทคนิคการเลี้ยงลูก 2 คนขึ้นไป ที่เริ่มมีอาการพี่อิจฉาน้อง
สังเกตอาการพี่น้องอิจฉากัน
การอิจฉากันของพี่น้อง มักจะสังเกตเห็นเด่นชัดเมื่อลูกเติบโต มีการแข่งขันกัน หรือต่อสู้กัน ดังนี้
- แข่งกันแย่งความสนใจจากพ่อแม่ ญาติ คนในครอบครัว หรือคนอื่น ๆ
- แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงคือ การต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
- ทะเลาะกันเพื่อแย่งของเล่น ไม่แบ่งปันสิ่งของหรืออาหารให้แก่กัน
- เด็กบางคนมักจะมีพฤติกรรมถดถอย แสดงพฤติกรรมเลียนแบบเด็กเล็ก ๆ มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องอาละวาด เก็บตัวหรือวิตกกังวล
สำหรับสาเหตุที่ทำให้พี่อิจฉาน้อง หรือมีการอิจฉากันในหมู่พี่น้อง เพราะต้องการเวลาจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ลูกเรียกร้องความสนใจ เพราะอยากให้สนใจตัวเอง สิ่งที่ลูกแสดงออกอยู่บนพื้นฐานของความต้องการความรักและการยอมรับ
วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้องต้องทำอย่างไร
พญ.อาภาภรณ์ พึ่งยอด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะนำเทคนิคการเลี้ยงลูกไม่ให้พี่อิจฉาน้อง ว่า
- ให้ความสนใจเอาใจใส่พี่เท่าเดิม โดยให้ความสนใจกับพี่ควบคู่กับการให้ความสนใจน้อง และไม่ทุ่มเทเวลาเอาใจใส่แต่น้องคนเดียว
- ไม่พูดเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง
- อย่าเน้นปมเด่นลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
- พ่อแม่ต้องมีความรักเด็กเท่ากันอย่างจริงใจ
วิธีการแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง
วิธีการป้องกันพี่อิจฉาน้อง
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสอง แนะนำว่าปัญหาพี่อิจฉาน้อง ควรเริ่มจากการป้องกันพี่อิจฉาน้อง โดยสอนพี่ให้รักน้องเริ่มจากตอนที่น้องยังอยู่ในท้อง
วิธีสอนพี่ให้รักน้อง
เริ่มจากตอนที่น้องยังอยู่ในท้อง
หลักการคือ ทำให้พี่ตระหนักว่า กำลังจะมีน้อง และเสริมสร้างความรัก ความผูกพัน ให้พี่มีแต่น้อง ตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องคุณแม่เลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถลองทำตามวิธีต่างๆ เหล่านี้ ยิ่งทำบ่อย ก็ยิ่งดีค่ะ
- บอกกับพี่ว่า “พี่..กำลังจะมีน้อง” พร้อมกับชี้ท้องของคุณแม่ให้ดู บอกว่าน้องอยู่ในนี้
- ให้พี่ช่วยหยิบซองยาวิตามินบำรุงครรภ์ส่งให้คุณแม่กินทานวัน และบอกว่าเค้าเป็นพี่ที่ดี ช่วยดูแลให้น้องให้เติบโต ตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องคุณแม่ แล้วให้เค้าจับท้องคุณแม่ที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน
- ให้พี่กอดท้องคุณแม่เหมือนกับกอดน้องอยู่ แล้วบอกรักน้องเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่บอกรักพี่ ทุกๆ วัน
- เวลาคุณแม่ไปฝากครรภ์ก็เอาพี่ไปด้วย เพื่อให้เค้าได้ยินเสียงหัวใจน้องหรือเห็นภาพน้องผ่านอัลตราซาวด์
- หานิทานเรื่องเกี่ยวกับการมีน้อง พี่รักน้อง มาอ่านให้ฟังก่อนเข้านอนทุกวัน
- เวลาคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้พี่ฟัง ก็ให้เค้าจับท้องคุณแม่ และบอกว่าเราเล่านิทานให้น้องฟังด้วยกัน
สอนลูกคนโตให้ดูแลน้อง
หลังจากน้องได้เกิดมาแล้ว
หลักการคือ ทำให้พี่ทราบว่าน้องได้เกิดมาแล้ว พี่ก็ยังเป็นที่รักและได้รับการเอาใจใส่เหมือนเดิม ทุกคนในบ้านรักพี่กับน้องเท่ากันเสมอ
- บอกพี่ทันทีที่ได้เห็นน้องครั้งแรกว่า “น้องออกมาจากท้องคุณแม่แล้วนะคะ/ครับ” และนี่คือน้องที่เค้าช่วยดูแลมาตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่
- ให้พี่ได้สัมผัสน้องตัว โดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ
- ชี้ให้พี่ได้ดูอวัยวะต่างๆ เช่น มือ แขน ขา นิ้ว ของน้องที่เล็กกว่าเค้ามาก เพื่อย้ำว่า น้องยังเล็กมากจึงต้องทะนุถนอม อาจบอกเค้าว่า “จับน้องเบา เบา เพราะน้องยังเล็กอยู่ค่ะ/ครับ”
- สอนวิธีอุ้มน้องที่ถูกต้องภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ใหญ่
- ให้พี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบของใช้น้องส่งให้คุณแม่ หยิบผ้าอ้อม ป้อนอาหาร เพื่อให้พี่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยดูแลน้อง
- ชมเชยพี่ ที่ช่วยคุณพ่อ คุณแม่ ดูแลน้องได้
- หาเวลาทำกิจกรรมเดิมที่คุณพ่อคุณแม่เคยทำร่วมกับพี่ก่อนที่น้องจะเกิดมา เช่น ไปเที่ยว เล่นกัน เล่านิทานก่อนนอน โดยหากคุณแม่ต้องดูแลน้อง ก็อาจให้คุณพ่อช่วยทำแทน
- คุณแม่ควรหาเวลาเพื่อชดเชย ให้ความสนใจและทำกิจกรรมร่วมกับพี่อย่างเต็มและให้ผู้อื่นช่วยดูแลน้องแทน เพื่อมิให้พี่รู้สึกไม่ดีว่า เมื่อมีน้องแล้วทำให้คุณเเม่ไม่มีเวลาให้กับพี่ หรือไม่รักพี่เหมือนเดิม
- เมื่อน้องเริ่มโต ก็ค่อยๆ สอนให้พี่รู้จักการแบ่งปัน ทั้งขนมและของเล่น ให้กับน้อง เพื่อป้องกันการทะเลาะ แย่งของกันระหว่างพี่น้อง
วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้องที่ได้ผลที่สุด คือพ่อแม่ คนในครอบครัว ต้องแสดงให้เด็กรับรู้ และสัมผัสได้ว่า ทุกคนในครอบครัวยังรัก ยังห่วง และใส่ใจเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าน้องได้รับความรักมากกว่า ยิ่งพี่คนโตเติบโตขึ้น อาจจะพูดมากขึ้น เรียกร้องความสนใจมากขึ้น จนทำให้พ่อแม่หงุดหงิด รำคาญใจ ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทน เข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาพี่อิจฉาน้องที่อาจติดตัวลูกไปจนโต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตารางพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-6 ปี พฤติกรรมและพัฒนาการทารก ตั้งแต่แรกเกิด! ทำอะไรได้มากขึ้นแล้วนะแม่
นิสัยของลูกคนโต คนกลาง คนเล็ก และลูกคนเดียว พี่น้อง นิสัย เหมือนหรือต่างกัน
มีลูกคนต่อไปเมื่อไหร่ดี พี่-น้อง ควรมีอายุห่างกันกี่ปีถึงจะดีที่สุด?
ลูกคนโปรดมีจริงพ่อแม่ยอมรับแมนๆ มาเถอะว่า คุณไม่ได้รักลูกทุกคนเท่าๆ กัน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!