เทคนิคการเลี้ยงลูก ให้มั่นใจในตัวเอง
พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง เทคนิคการเลี้ยงลูก ให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองเอาไว้ว่า ในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตนั้น เป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่มากที่สุด อีกทั้งเด็กในวัยนี้ จะมีวิวัฒนาการ และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และจะเริ่มเรียนรู้ได้ว่า ผลที่เกิดจากการกระทำต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกในการแก้ปัญหา และชมเชยให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี ก็จะยิ่งเพิ่มทักษะความสามารถ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกได้ แต่จุดอ่อนที่คุณหมอมักพบบ่อย ๆ คือ การไม่ให้โอกาสแก่ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง และไม่ค่อยได้ชื่นชมลูก คอยแต่ตำหนิติเตียน หรือเรียกว่าการจับผิดมากกว่าจับถูก ทำให้เด็กไม่มีการพัฒนาความมั่นใจในตนเอง
ชม 5 ครั้ง ดุ 1 ครั้ง สร้างความมั่นใจให้แก่ลูก
พญ.ถิรพร แนะนำว่า การสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกควรอยู่ในอัตราส่วนชม 5 ครั้งต่อการดุ 1 ครั้ง กล่าวคือ ถ้าลูกสามารถทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกได้ เมื่อลูกทำถูกต้องก็ควรกล่าวชมลูก เพื่อทำให้ลูกเกิดความสุขใจ และเรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ ๆ
การกล่าวชื่นชมนั้น ประกอบไปด้วย 3 หลักใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
- ชมถึงพฤติกรรม
- พฤติกรรมนั้นเรียกว่าคุณสมบัติอะไร
- ความรู้สึกของพ่อแม่
ยกตัวอย่าง “ลูกเก่งมากที่ทำการบ้านเสร็จ หนูเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ แม่ภูมิใจในตัวหนูนะ” เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้สึกอย่างนั้นกับลูกจริง ๆ เพราะถ้าแกล้งทำ ลูกก็จะดูออกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ชื่นชมจากใจจริง
ระวัง ชมเก่งสุดในโลก ทำลูกเหลิง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
“เด็ก ๆ ที่พ่อแม่เจาะจงชมที่ตัวพฤติกรรมอันเหมาะสม หรือชื่นชมในความพยายามของลูก จะทำให้เด็ก ๆ พร้อมเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ของชีวิตในอนาคตได้ดีกว่าเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ชมแบบกว้าง ๆ อย่างคำว่า ดีจัง หรือ เก่งจัง เพราะบางครั้งเด็กทำพฤติกรรมหลายอย่างพร้อมกัน เด็กจะไม่รู้ว่าตัวเองได้รับคำชมจากการกระทำอะไรที่ทำแล้วได้รับคำชม ดังนั้น การชมโดยเจาะจงที่พฤติกรรมทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าเขามีศักยภาพและความสามารถอย่างไร และการชื่นชมในความพยายามของลูก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่าความพยายามเป็นทักษะที่จำเป็นในชีวิต
แต่ในขณะเดียวกันการชมลูกด้วยคำพูดปิดท้ายประโยคว่า “ที่สุดในโลก” เช่น เก่งที่สุดในโลก หรือ ดีที่สุดในโลก หากชมนาน ๆ ครั้งก็คงไม่มีผลอะไร แต่หากเราติดปากพูดเป็นประจำก็อาจทำให้เด็กหลงคิดว่าตนเองนั้นเก่งและดีที่สุดในโลกจริง ๆ จนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรืออาจคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านทักษะการเข้าสังคมในอนาคตได้” พญ.ถิรพร กล่าว
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยได้พูดชื่นชมลูกบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ดูขัดเขิน ซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นด้วยการพูดการชมกันเองก่อน เพื่อให้เกิดความเคยชินและเป็นธรรมชาติ และไม่ต้องกลัวว่าจะชมลูกมากเกินไปแล้วลูกจะเหลิง เพราะการชมนั้น นอกจากจะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกน้อย กับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยเป็นเด็กที่เก่ง นิสัยดี และมีความสุขต่อไปครับ
ที่มา manager.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เล่นอย่างไร ให้ลูกหัวไว ในช่วงขวบปีแรก
เด็กสมัยเรา vs เด็กสมัยนี้ นี่ฉันแก่ไปขนาดนี้แล้วเหรอ
15 สิ่งที่แม่ควรสอนลูกชายตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!