ระบบภูมิคุ้มกัน หรือ Immune system ในร่างกายของเรา คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจเป็นอันตราย เช่น เชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต รา พยาธิ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น เซลล์ที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นมะเร็ง อวัยวะของผู้อื่นที่ปลูกถ่ายเข้ามาในร่างกาย การได้รับเลือดผิดหมู่ สารก่อภูมิแพ้ ฯลฯ
ระบบภูมิต้านทานแบ่งได้เป็น 2 ระบบ
1.Innate immunity คือระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ได้แก่ พื้นผิวที่สัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม โดยตรง คือ ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา การไอ ความเป็นกรดของสารคัดหลั่งในช่องคลอด และความแรงของกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
2.Acquired immunity คือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง หากเชื้อโรคสามารถฝ่าด่านแรกเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้แล้ว เซลล์ต่างๆของระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้ออกไปพ้นจากร่างกาย
ภูมิคุ้มมาจากไหน
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มมีบทบาทตั้งแต่แรกเกิด คือ 6 เดือนแรกเป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ และน้ำนมแม่ ต่อมาเด็กเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองในร่างกายจากการติดเชื้อแต่ละครั้ง บางครั้งการติดเชื้อเกิดอาการน้อย หรือไม่เกิดอาการ แต่เมื่อตรวจเลือดก็พบภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว อย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี เราจึงพบเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลป่วยบ่อย ซึ่งการติดเชื้อแต่ละครั้งก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้น จนกว่าจะสั่งสมภูมิคุ้มกันครบก็เข้าสู่วัยชั้นประถม จึงสังเกตได้ว่าเด็กชั้นประถมนั้นไม่ค่อยป่วยแล้ว
เราจะเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกได้อย่างไร คลิกหน้าถัดไป>>
คุณแม่คุณแม่สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกได้ด้วยวิธีง่ายๆ ต่อไปนี้
- รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดร.วิลเลียม เซียส์ ผู้แต่งหนังสือ The Family Nutrition Book กล่าวว่า ไฟโตนิวเทรียนในผักและผลไม้ เช่น แครอท ถั่วเขียว ส้ม สตรอเบอรรี่ มีประโยชน์ต่อร่างกายในการทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ในวัยผู้ใหญ่
ปริมาณที่แนะนำ: คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกวัยหัดเดินรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณวันละ 10 ช้อนโต๊ะ และ 1 ถ้วยสำหรับเด็กโต
- นอนหลับให้มากพอ ดร.คาธิ เคมเพอร์ ผู้อำนวนการศูนย์ศึกษาและวิจัยสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับเด็ก ที่โรงพยาบาลเด็กในบอสตันกล่าวว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงในเดย์แคร์มีความเสี่ยงที่จะอดนอน เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ในเดย์แคร์ทำให้เด็กๆ นอนหลับได้ยาก หากลูกของคุณไม่นอนกลางวัน ควรพาลูกเข้านอนตอนกลางคืนให้เร็วขึ้น
เด็กควรนอนมากแค่ไหน? :
- ทารกแรกเกิดควรนอนไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมงต่อวัน
- เด็กวัยหัดเดินควรนอน 12-13 ชั่วโมงต่อวัน
- เด็กก่อนวัยเรียนควรนอนประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวัน
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในน้ำนมแม่จะมีภูมิต้านทาน แอนดิบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ทำหน้าที่ปกป้องลูกน้อยจาก โรคหูติดเชื้อในเด็ก ภูมิแพ้ โรคท้องร่วง โรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และกลุ่มอาการเสียชีวิตกระทันหันขณะนอนหลับ การศึกษาพบว่าน้ำนมแม่ช่วยเพิ่มพลังสมองของทารก และช่วยป้องกันโรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบ และโรคมะเร็งบางชนิดในอนาคต โดยเฉพาะโคลอสตรัม หรือน้ำนมเหลืองที่ไหลออกมาในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด อุดมไปด้วยแอนติบอดี้ที่จำเป็นในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ งานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เพชรฆาตในร่างกายในผู้ใหญ่ และการออกกำลังกายเป็นประจำในเด็กก็ให้ประโยชน์ในทางเดียวกัน ดร.รานจิต จันทรา นักวิทยาภูมิคุ้มกันเด็กกล่าว การจะสร้างนิสัยการออกกำลังกายให้ได้ผล พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีมากกว่าแค่กระตุ้นให้ลูกออกไปเล่น ดร.เรนี สตักกี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิก ด้านแผนกกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรี กล่าวว่า การออกกำลังกาย ยังรวมถึง กิจกรรมครอบครัวที่สนุกสนานอย่างการขี่จักรยาน เดินป่า สเก็ต บาสเกตบอล เทนนิส เป็นต้น
- ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค แม้การต่อสู้กับเชื้อโรคจะไม่ได้เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานได้โดยตรง แต่ก็เป็นวิธีที่ดีในการลดความเครียดในระบบภูมิคุ้มกันของเด็กคุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ในเรื่องสุขอนามัย ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังจากออกไปเล่นนอกบ้าน หลังจากเล่นกับสัตว์เลี้ยง การจาม การใช้ห้องน้ำ ควรฝึกนิสัยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ให้กับลูก โดยให้เขาเลือกผ้าเช็ดมือของเขาเองที่มีสีสันสดใส รวมถึงได้เลือกสบู่ในรูปทรง สี และกลิ่นที่เขาชอบได้เอง เป็นต้นหากลูกป่วย แนะนำให้ทิ้งแปรงสีฟันของลูกทันที ทันตแพทย์หญิง บาร์บารา ริช โฆษกของสถาบันทันตกรรมทั่วไปกล่าว ว่า เด็กจะไม่ติดเชื้อไวรัสหรือไข้หวัดชนิดเดียวกันซ้ำสองครั้ง แต่ไวรัสสามารถกระโดดจากแปรงสีฟันของลูกไปยังสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้ แต่หากเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น คออักเสบ เด็กสามารถเป็นซ้ำได้ การทิ้งแปรงสีฟันเป็นการปกป้องลูก รวมถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวของคุณ
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง หากคุณพ่อหรือคุณแม่สูบบุหรี่ ควรเลิกเสีย เพราะสารท็อกซินจากบุหรี่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย ดร. เบเวอรี่ คิงสลีย์ นักระบาดวิทยา ในแอตแลนตา กล่าวว่า เด็กมีความไวต่ออันตรายจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กหายใจในอัตราที่เร็วกว่า และระบบการล้างพิษตามธรรมชาติของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงของภาวะ SIDS ในเด็ก หลอดลมอักเสบ ติดเชื้อที่หู และโรคหอบหืด นอกจากนี้ ยังอาจมีผลต่อสติปัญญา และการพัฒนาระบบประสาทอีกด้วย หากคุณไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ คุณสามารถลดความเสียงต่อสุขภาพของลูกได้ด้วยการสูบบุหรี่นอกบ้าน
ที่มา : wikipedia.com, parents.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เมื่อไหร่ที่ต้องนำเด็กป่วยส่งโรงพยาบาล?
5 อาหารที่ช่วยบำบัดอาการป่วย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!