ประสบการณ์เลี้ยงทารก 14 วันแรก
เรื่องเล่าจากคุณแม่มือใหม่ เกศรินทร์ สีหเนตร วัย 34 ปี ถูกถ่ายทอดลงเฟซบุ๊ก ที่เป็นเหมือนพื้นที่บันทึกความทรงจำของโลกออนไลน์ หลังจากได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ก็รู้สึกประทับใจ จึงเชิญชวนเธอมาบอกเล่าเรื่องราว ตั้งแต่วันคลอดจวบจน ประสบการณ์เลี้ยงทารก 14 วันแรก จะอบอุ่นแค่ไหน ตามไปอ่านเรื่องราวของเธอและลูกได้เลย
แม่ผ่าคลอด
ในวันคลอดนั้น เธอจำเป็นต้องผ่าคลอด เพราะรกเกาะต่ำมาก รกคลุมช่องคลอด ทำให้คลอดเองเสี่ยงตกเลือด แต่การผ่าคลอดก็เป็นไปได้ด้วยดี น้องสริณ ออกมาอย่างแข็งแรงปลอดภัยด้วยน้ำหนักแรกเกิด 3,140 กรัม
นอกจากความดีใจที่ได้เจอหน้าลูกครั้งแรก การผ่าคลอดครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า ช็อคโกแลตซีสต์ (ที่เพิ่งรับรู้การมีอยู่ของมันตอนตั้งท้อง) เพิ่งแตกไปเมื่อคืน! ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเจอเนื้องอกที่รังไข่ข้างซ้าย เจอไส้ติ่งอักเสบระดับรุนแรง และที่น่ากลัว คือพังผืดในมดลูก (ภาษาหมอเรียกว่า เนื้อเยื่อโพรงมดลูกโตผิดที่) เพราะถึงจะตัดออกไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก การผ่าตัดเปิดหน้าท้องครั้งแรกในชีวิตจึงคุ้มเกินคุ้ม
หลังจากเลี้ยงน้องสริณได้ 14 วัน เธอจึงตระหนักว่า การเลี้ยงลูก สำคัญสุดคือเรื่องทัศนคติ เช่นเวลาที่ลูกร้อง อย่าไปโมโหรำคาญ มันคือการสื่อสาร เพราะเค้ายังพูดบอกไม่ได้
“ร้องก็อาจจะมีอยู่ไม่กี่เรื่อง หิว ฉี่ อึ ปวดท้องมีลม หรือไม่สบายตัวอะไรสักอย่าง เป็นหน้าที่ของแม่ในการแปลรหัสนั้นออกมา”
ในช่วงแรกๆ นั้น เธอยอมรับว่า นอยด์ พอนานเข้าก็เริ่มหาสาเหตุไปทีละเรื่อง เราก็จะไม่ทุกข์ ไม่เหนื่อย พอเดาทางได้ แต่มันจะมีเรื่องใหม่ๆ รหัสใหม่ๆ ให้ถอดตลอดๆ เราก็เรียนรู้จากเค้า
ประสบการณ์เลี้ยงทารก 14 วันแรก ของแม่มือใหม่คนนี้ || th.theasianparent
วันแรกของเรากับลูก
วันแรกนอยด์ กังวลทุกสิ่ง รอยข่วนจากเล็บ รอยแดงเล็กๆที่หน้าลูก เหมือนมองเห็นทุกอย่างเป็นปัญหา แต่คือในหัวเราจะพยายามยัดเยียดให้ลูกเป็น ซึ่งจริงๆ แล้ว ลูกไม่ได้เป็นอะไรเลย รอยข่วน รอยแดง เป็นเรื่องปกติของเด็กทารก ก็ตัดเล็บไป หรือถ้ากลัวก็ใส่ถุงมือ หรือเช็ดหน้าด้วยน้ำต้มสุก
อาการธรรมดาทารกนะ ที่แม่นอยด์ก็อย่างเช่น เป็นตุ่มขาวที่แก้ม หน้าผาก ดั้งจมูก ผิวเป็นไข ผิวหนังลอก ผื่นแดงตรงกลางมีตุ่มนูน ผิวหนังลายคล้ายร่างแห ขางอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหายไปเอง
สำหรับวันแรกก็เลี้ยงเองเลย อาบน้ำลูกเอง มีสามีคอยช่วย แต่ผ่านวันแรกมาได้ ทุกอย่างเหมือนกราฟความสุขพุ่งขึ้น
ของจริง มีมากกว่าตำรา
เพราะเด็กแต่ละคน หน้าตายังแตกต่างกัน อุปนิสัยและพฤติกรรม ก็ย่อมไม่เหมือนในตำราเสียทั้งหมด หลายอย่างก็ต้องปรับเองให้ตรงกับลูกเรา
เธอเพิ่มเติมว่า เด็กแรกเกิดต้องปลุกกินนมทุกๆ 3 ชั่วโมง ลูกพี่ไม่ยอมตื่น ปลุกยาก หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน พี่พยายามให้นมแม่ให้พอ ก็จับเค้าชั่งน้ำหนักก่อนและหลังกินนม เพื่อรู้ว่าแต่ละมื้อกินนมได้เท่าไร คราวนี้ก็เตรียมตัว
แบ่งเวรพ่อแม่
กลางคืนที่เราไม่ไหว ให้พ่อเค้าช่วย ก็เอานมแม่ที่ปั๊มเตรียมไว้ ให้พ่อเป็นคนป้อน พ่อเค้าก็แฮปปี้นะ เหมือนได้ให้นมลูก ส่วนเราก็ได้นอน อันนี้ก็ช่วยให้ไม่เหนื่อย ไม่ทุกข์เวลาลูกตื่นกลางคืน
สามี ย่า ยาย ช่วยได้เยอะมาก มีคนมาช่วยเยอะ แต่เราก็ต้องพยายามอย่าเหวี่ยง คือ มีหลายคนมาช่วย แล้วเค้าคิดไม่เหมือนเรา โดยเฉพาะย่า ยาย ที่ต้องสื่อสารกันดีๆ และทำความเข้าใจ
วิธีรับมือผู้ใหญ่ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อน
ส่วนมากพี่จะอธิบาย อย่าง ทำไมไม่ให้ลูกกินน้ำ ทำไมไม่โกนผม อย่างลูกพี่ไม่อึ 3 วัน ย่าบอกให้กินน้ำ พี่ก็ไปค้นข้อมูล รู้มาว่า เด็กทารกกินนมแม่ บางคนไม่อึตั้ง 7 วัน 3 วันดูจิ๊บๆไปเลย พอเรารู้อย่างนี่ก็ไม่นอยด์ ก็เหลือคุยกับผู้ใหญ่ในบ้าน
การคุยต้องคุยด้วยเหตุผล สมัยนี้มีคนวิจัยมาแล้ว สมัยก่อนยังไม่มี เรื่องทารกกับน้ำนี่ชัดเจน เพราะนมแม่มีน้ำเยอะมากพอ ยิ่งกินน้ำมาก ลูกก็จะกินนมได้น้อย เราไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่เพราะน้ำ แต่เพราะสารอาหารในนั้น ให้กินน้ำลูกก็ไม่ได้สารอาหาร ส่วนกล้วยก็ระบบย่อยทารกยังไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ย่อยได้เหมือนผู้ใหญ่ สารอาหารจำเป็นอยู่ในนมแม่เพียงพอจนครบ 6 เดือน แต่แม่ก็ต้องกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ อยากให้ลูกได้อะไร แม่ก็กินอย่างงั้น ถ้าอยากให้ลูกได้สารอาหารจากกล้วย ก็ให้แม่นั่นแหละกิน แล้วกลั่นออกมาทางน้ำนม
เรื่องน้ำนมของแม่ผ่าคลอด
หลายๆ คนมักบอกว่า น้ำนมแม่ผ่าคลอดจะมาช้า… แต่สำหรับแม่แก้วนั้นมาปกติ
น้ำนม ของพี่มาปกติค่ะ ไม่เยอะไม่น้อย น้ำนมมาซึมๆ ตั้งแต่วันแรกที่ผ่าคลอดเลย พยาบาลมาบีบให้
แม่ต้องดื่มน้ำมากๆ ให้มากกว่าที่เคยดื่มเยอะๆ เลย และกระตุ้นโดยให้ลูกดูด ให้นมลูก ลูกก็ช่วยให้แม่ไม่ต้องคัดนม ต่างคนต่างช่วยกัน มันเป็นโมเมนท์ที่ดีที่สุดในโลกเลยนะ ตอนให้นมลูก แม้ว่าบางทีลูกกัดหัวนมก็ตาม หลังๆ โดนเด็กกัดไม่พอ เอาเหงือกบี้ด้วย
อย่างเพื่อนพี่ นมมาเยอะมาก เพราะก่อนคลอดกินน้ำหัวปลี กินหลายอย่างเป็นการกระตุ้น ปรากฏว่า ท่อน้ำนมตัน ปวดนมมาก คือนมเยอะแต่มันออกไม่ได้ กลายเป็นทุกข์อีก หมอต้องทำจี๊ดที่นม ลูกก็ไม่อยากเข้าเต้า เพราะลูกต้องออกแรงดูดเยอะ จึงต้องปั๊มนมแม่ใส่ขวดนมให้ลูกแทน เป็นการแก้ปัญหา
จะเห็นได้ว่า แม่แต่ละคนก็เจอปัญหาที่แตกต่างกัน เธอจึงหาข้อมูลเยอะๆ และปรึกษาคนที่มีประสบการณ์มาก่อน แล้วเอามาปรับใช้กับลูก สุดท้ายนี้ เธอฝากด้วยว่า เลี้ยงลูกอยู่ที่วิธีคิด วิธีมองปัญหาต่างๆ ทัศนคติต่อลูก ต่อคนในครอบครัวที่มาช่วยเราเลี้ยงลูก ทุกคนหวังดี แต่จะให้ถูกใจเราทุกอย่างเป็นไปไม่ได้เลย
เรื่องราวของคุณแม่มือใหม่ มีเรื่องสนุกๆ ความสุข ความอบอุ่น ให้ได้พบเจอไม่เว้นแต่ละวัน เล่ายังไงก็ไม่หมด สำหรับคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับลูกและครอบครัว สามารถติดต่อทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ได้นะคะ เราพร้อมเป็นสื่อกลางแบ่งปันเรื่องราวให้แม่ๆ ทุกท่าน
อ่านคำแนะนำของหมอสูติเรื่องการดูแลทารกแรกเกิด หน้าถัดไป
วิธีดูแลทารกแรกเกิด
ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ สูติแพทย์ ได้แนะนำเรื่องการดูแลทารกแรกเกิด ว่า คุณแม่ทุกคนควรศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมเรื่องการดูแลเด็กทารกแรกคลอด หรือปรึกษาผู้รู้ หรือเข้ารับฟังการอบรมระหว่างการฝากครรภ์ เพื่อจะได้รับสถานการณ์หลังคลอดได้อย่างดีและถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะแม่ป้ายแดง อาจต้องมีการเตรียมอุปกรณ์เด็กทารกแรกเกิดบางอย่างล่วงหน้า เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม เตียงนอน อ่างอาบน้ำ สบู่ เป็นต้น สามารถแบ่งเป็นหัวข้อหลักได้ดังนี้
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในช่วง 2-3 วันแรก จะเริ่มมีหัวน้ำนมไหลออกมาก่อนลักษณะสีเหลืองข้น ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสีขาวข้น คุณแม่ควรหมั่นให้ลูกเข้าเต้าบ่อยทุก 3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สร้างน้ำนมได้ต่อเนื่องและเพียงพอสำหรับทารก การจัดท่าเข้าเต้าก็มีความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกน้อยดูดนมได้อย่างเต็มที่โดยที่คุณแม่รู้สึกสบาย
- การอาบน้ำทารก คุณแม่ควรเรียนรู้และปฏิบัติจริงระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล อุ้มอย่างไร จัดท่าอย่างไร ปิดหูเด็กอย่างไร เช็ดตัวอย่างไร ห่อผ้าอ้อมอย่างไร เป็นต้น
- การทำความสะอาดสะดือ ต้องหมั่นทำความสะอาดสะดือลูกน้อย เช็ดอย่างไร ดูแลอย่างไร ระวังอย่างไร สะดือจะค่อย ๆ แห้งและหลุดไปเองภายใน 2 สัปดาห์
- การขับถ่าย เด็กทารกทุกคนจะต้องมีถ่ายปัสสาวะและอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงแรก โดยอุจจาระของทารกจะคงเป็นสีเขียวเข้มในช่วงต้น ที่เรียกว่าขี้เทา ต่อมาเมือทารกดูดนมแม่แล้ว เริ่มมีการดูดซึมและย่อยจากกระเพาะอาหารและสำไส้ จึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเหมือนปกติต่อไป
สิ่งที่แม่ต้องระวังสำหรับเด็กแรกเกิด
ควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของทารกอย่างใกล้ชิด ที่พบบ่อย เช่น
- อาการตัวเหลืองหลังคลอด
- อาการสะดืออักเสบ
- อาการแหวะนมบ่อย
- ท้องเสีย
- อาการง่วงซึม
- อาการหยุดหายใจ/เขียวขณะหลับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการแม่ท้องใกล้คลอด ตรงตามตำราเป๊ะๆ แม่ท้องไตรมาสสุดท้าย แชร์ประสบการณ์สิ่งที่ต้องเจอ
เช็คความปกติลูก 10 เรื่อง แม่ต้องสังเกตทารกแรกเกิด ตั้งแต่หัวจรดเท้า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!