จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์สมบูรณ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากให้ลูกในท้องเกิดมาสมบูรณ์ แข็งแรง แต่ในระหว่างตั้งครรภ์ จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์สมบูรณ์ แข็งแรง ครบ 32
การที่จะรู้ว่าทารกในครรภ์สมบูรณ์ดีหรือไม่ สามารถตรวจได้ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ เมื่อไปฝากครรภ์ คุณหมอก็จะตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อดูความพร้อมและสุขภาพของแม่ท้องและนัดติดตามดูการเจริญเติมโตของทารกในครรภ์เป็นระยะๆ ซึ่งการตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์นั้น สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ครับ
1. การตรวจอัลตราซาวด์
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้น การตรวจอัลตราซาวด์จะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติบางอย่าง เช่นภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะ และวินิจฉัยชนิดครรภ์แฝด รวมไปถึงประเมินอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำ หลังจากนั้นในช่วง 5 – 6 เดือนของการตั้งครรภ์ ก็จะสามารถตรวจหาความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ (Fetal Structural Abnormality) โดยเฉพาะโครงสร้างหลัก (Major Structures) ได้แก่ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง โครงกระดูก แขนขา ทรวงอก เนื้อปอด หัวใจ ผนังหน้าท้อง อวัยวะหลักภายในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ความผิดปกติของลำไส้บางชนิด กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะส่วนอื่น เช่น ภาวะปากแหว่ง จำนวนนิ้วมือนิ้วเท้าครบหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถตรวจปริมาณน้ำคร่ำ ลักษณะของรก ตำแหน่งที่รกเกาะ และสายสะดือได้อีกด้วยนะครับ
2. การตรวจการดิ้นของทารกในครรภ์
วิธีการนับลูกดิ้น ก็เป็นอีกวิธีที่คุณแม่สามารถสังเกตความแข็งแรงและประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ซึ่งคุณแม่จะสามารถรับรู้การดิ้นของลูกในท้องได้ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 16 – 20 สัปดาห์ขึ้นไป การที่ทารกดิ้นน้อยลง มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย โดยทารกจะดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นเป็นเวลา 12 – 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะเสียชีวิต คุณแม่จึงต้องคอยสังเกตการดิ้นของทารก หากพบว่าทารกดิ้นน้อยลง นับเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์ขึ้นไป
3. การวัดความสูงยอดมดลูก
ในระหว่างการตั้งตรรภ์ หากทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง ทารกก็จะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดมดลูกสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 18 ถึงสัปดาห์ที่ 34 ซึ่งวิธีวัดความสูงยอดมดลูกนั้นสามารถบอกได้ว่าสุขภาพของทารกในครรภ์นั้นเป็นอย่างไร ทารกตัวใหญ่แค่ไหน และยังสามารถบอกอายุครรภ์ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าหากว่าระดับยอดมดลูกผิดปกติ ก็อาจบ่งบอกได้ว่าอาจมีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หรือลูกตัวใหญ่เกินเกณฑ์ได้ครับ
4. การนำเซลล์ของทารกในครรภ์มาตรวจหาโครโมโซม หรือดีเอ็นเอ
คุณหมอจะนำเซลล์ของทารกในครรภ์มาตรวจหาโครโมโซม หรือดีเอ็นเอ ในรายที่สงสัยว่ามีโรคทางพันธุกรรมชนิดต่างๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์และโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น ซึ่งวิธีการในการนำเซลล์ทารกในครรภ์มาตรวจนั้น สามารถทำได้โดยการเจาะดูดน้ำคร่ำ การตัดเนื้อรก และการเจาะดูดจากเลือดของทารกโดยตรง
5. การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารก
คุณหมอจะทำการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หากทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงและไม่ขาดออกซิเจน เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ก็จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจทารกเร็วขึ้นในตอนที่ทารกดิ้น
แม้ว่าผลการตรวจจะออกมาปกติ และก็ดูเหมือนว่าทารกน่าจะสมบูรณ์ดี แต่อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์นั้น ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงของคุณแม่และลูกในท้องตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์และการคลอด เพราะเราไม่สามารถตรวจดูความแข็งแรงสมบูรณ์ของทารกได้ตลอดเวลา ดังนั้นคุณแม่จึงควรใส่ใจสุขภาพ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ นับลูกดิ้น กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน จะได้ช่วยลดปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งช่วยให้คุณแม่และลูกในท้องมีสุขภาพที่ดี คลอดออกมาปลอดภัย สมบูรณ์ แข็งแรงครับ
ที่มา si.mahidol.ac.th, rcpsycht.org
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!