คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรกตั้งแต่เดือนที่ 1 – 3 ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย และอารมณ์ รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตตามแต่ละช่วงเดือนด้วย มาดูกันว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่และลูกในไตรมาสแรก เป็นอย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงของแม่และลูกในไตรมาสแรก
แม่ท้องไตรมาสแรก : ตั้งครรภ์เดือนที่ 1
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
เต้านมจะขยายใหญ่ และแข็งมาก แม่ท้องจะรู้สึกคัด และเจ็บเวลาสัมผัส อารมณ์ของคุณแม่จะเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอาการหงุดหงิดง่าย จนบางครั้ง ดูเหมือนจะไร้เหตุผลในเดือนแรกของการตั้งครรภ์ยังอยู่ในช่วงของความเสี่ยงที่จะแท้งได้ ดังนั้นพฤติกรรมบางอย่างก็ควรลด ละ เลิกเพราะจะมีผลเสียต่อทารก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟ สุรา และยาอันตราย เป็นต้น ที่สำคัญควรรีบไปฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้คุณหมอช่วยดูแลสุขภาพ และพัฒนาการของครรภ์ได้อย่างใกล้ชิด
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ทารกน้อยยังมีขนาดเล็กมาก เท่ากับเมล็ดข้าวอยู่ในถุงน้ำคร่ำเล็ก ๆ ที่มีรกเกาะอยู่ที่ผนังมดลูก บริเวณลำตัวของทารก เริ่มมีตุ่มเล็ก ๆ ยื่นออกมา ตุ่มเล็ก ๆ เหล่านั้น คือ สิ่งที่เตรียมพัฒนาเป็นแขน ขา ระบบประสาทเริ่มก่อกำเนิดขึ้น และระบบไหลเวียนโลหิต ก็กำลังสร้างเครือข่ายไปทั่วร่างกายของทารกน้อยในครรภ์
ในช่วงเดือนแรกนี้ ถือว่าสำคัญมากนะคะ เพราะร่างกายกำลังสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น หัวใจระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ตา หู แขน ขา เป็นต้น จึงเป็นระยะที่ต้องดูแลป้องกันการติดเชื้อ และระวังการรับประทานยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เสี่ยงพิการ หรือแท้งได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำคร่ำน้อยอันตรายไหม ลูกในท้องจะเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันหรือเปล่า
ในเดือนที่ 2 นี้ เต้านมจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น
แม่ท้องไตรมาสแรก : ตั้งครรภ์เดือนที่ 2
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
ในเดือนที่ 2 นี้ เต้านมจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น เพราะการขยายตัวของขนาดของเซลล์ในต่อมน้ำนม ขนาดเต้านมที่ขยายใหญ่ ทำให้มีปริมาณเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้น หัวนมมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเข้มขึ้น หัวนมจะตั้งชู ต่อมไขมันที่ลานหัวนมมีขนาดใหญ่ขึ้น บริเวณรูเปิดจะมีลักษณะเป็นตุ่ม มองเห็นได้ชัดเจน ลานนมขยายวงกว้าง และมีสีเข้มขึ้น
ระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้การย่อยอาหารช้าลง คุณแม่จะเริ่มมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก และรู้สึกหน้ามืด คล้ายจะเป็นลมบ่อย ๆ อาการแพ้ท้องในเดือนที่ 2 นี้ ยังมีอยู่ ขนาดของครรภ์เริ่มนูนใหญ่ขึ้น เพราะมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น อวัยวะเพศขยายขนาด เพราะมีไขมันมากขึ้น รังไข่จะสร้างฮอร์โมนหลายชนิด เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับสภาพ ให้เหมาะสมกับทารกในครรภ์ ในช่วงนี้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศหญิงจะเพิ่มระดับสูง ส่งผลให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้องค่อนข้างมาก
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ในเดือนที่ 2 นี้ ทารกน้อยมีลำตัวยาวประมาณ 1 นิ้วแล้ว และมีการพัฒนาเจริญเติบโตของระบบประสาท และหลอดเลือดด้วย มีหัวใจที่เต้น และทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เดือนนี้ลูกน้อยจะมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ตัวจิ๋ว มีแขน ขา ใบหน้า รูปร่าง ซึ่งคุณแม่ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้ยาเป็นอย่างมาก เพราะอาจได้รับยาที่เป็นอันตราย หรือสารพิษที่จะทำให้ทารกเสี่ยงพิการได้
พฤติกรรมบางอย่างก็ควรลด ละ เลิกเพราะจะมีผลเสียต่อทารก
แม่ท้องไตรมาสแรก : ตั้งครรภ์เดือนที่ 3
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
เข้าเดือนที่ 3 เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกกันแล้ว คุณแม่จะเริ่มมีอาการบวมตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงมีเส้นปูดขึ้นมาให้เห็น เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือน ก็อาจจะเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่ายมาก คุณแม่จะคลำพบก้อนที่บริเวณเหนือหัวหน่าว แต่สำหรับคุณแม่ที่รูปร่างค่อนข้างผอม ก็อาจจะคลำพบก้อน ก่อนจะถึงเดือนที่ 3 นี้ ก็ได้ ในส่วนของต่อมน้ำนม ก็จะถูกสร้างประมาณเดือนนี้แล้ว
ส่วนอาการแพ้ท้องก็จะยังมีอยู่ อาจจะน้อยลง รู้สึกดีขึ้น จนเกือบไม่มีอาการ อารมณ์จะค่อย ๆ คงที่มากขึ้น เพราะไม่หงุดหงิดใจกับอาการแพ้ท้องเท่าไหร่นัก
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ในเดือนที่ 3 เมื่อใช้เครื่องมือตรวจการทำงานของหัวใจ คุณพ่อคุณแม่จะได้ยินเสียงหัวใจของเจ้าหนู ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนนี้ลูกน้อยจะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 นิ้ว อวัยวะต่าง ๆ เกิดขึ้นจนครบ และกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ อวัยวะต่าง ๆ เริ่มทำงานได้แล้ว สำหรับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย
คุณแม่คงพอจะเดาได้บ้างแล้วว่า อาการของคนท้องส่วนใหญ่แล้วเป็นอย่างไร เหนื่อยง่าย วิงเวียน หน้ามืดอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่า อาการเหล่านี้ เป็นอาการพื้นฐานที่คนท้องจะต้องเจอ หากแต่แม่ท้องแต่ละคน ก็จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่า มีอาการอะไรบ้าง ที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เหมือนกันที่คุณแม่กำลังเผชิญอยู่หรือเปล่า และจะรับมือได้อย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาที่คนท้องห้ามใช้ ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ข้อควรระวังการใช้ยาของคนท้อง ยาที่ควรหลีกเลี่ยง
อาการแพ้ท้องก็จะยังมีอยู่จนถึงเดือนที่ 3 แต่อาจจะน้อยลง รู้สึกดีขึ้น
รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของขนาดหน้าอก
หน้าอกหน้าใจของคุณแม่ใหญ่ขึ้นแน่นอน หลังจากการตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับลานนม และเนื้อเยื่อไขมันก็จะขยายขนาดจนเห็นได้ชัด บางครั้งก็จะมีของเหลวขุ่น ๆ ไหลออกมาด้วย ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว และไม่สบายใจ
- สวมเสื้อชั้นในที่ซัพพอร์ตหน้าอก
- เลือกใส่เสื้อชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือเส้นใยธรรมชาติ
- ใส่เสื้อชั้นในที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับกับขนาดหน้าอกที่เริ่มขยาย โดยหัวนมไม่ควรจะเบียดเสียดกับบรา อาจจะเลือกใช้บราสำหรับแม่ ซึ่งสามารถที่จะใช้ต่อเนื่องไปได้จนถึงระยะการให้นมลูกหลังคลอด
- ใส่เสื้อชั้นในตอนกลางคืนด้วย
- วางผ้าเช็ดหน้า ผ้าก๊อซ หรือ แผ่นซับน้ำนมไว้ใต้เสื้อชั้นใน เพื่อซึมซับของเหลวที่ไหลจากเต้านมคุณแม่ หมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความระคายเคือง
- ทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำอุ่น และสบู่อ่อน ๆ
รับมือกับความอ่อนล้า อ่อนเพลีย
การตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่ใช้พลังงานเยอะขึ้นมากจริง ๆ คุณแม่จะมีอาการเหนื่อยอ่อน เพลียสะสม ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสัญญาณของการขาดธาตุเหล็กในเลือดก็เป็นได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนเร็วกว่าเดิม งีบระหว่างวันบ้าง
- พยายามดำเนินกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ
- จัดตารางเวลาสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการพักผ่อนให้สมดุลกัน
- ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ
- ปรึกษาคุณหมอ หากสงสัยว่าจะมีอาการขาดธาตุเหล็ก
รับมือกับอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
อาการที่เป็นปกติมาก ๆ สำหรับแม่ท้อง ก็คืออาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน บางรายอาจจะมีอาการท้องเสียด้วย อาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทั้งสิ้น และมักจะหนักหน่วงในตอนเช้า รวมถึงเวลาที่ท้องว่าง แต่ข่าวดีก็คือ ความวิงเวียนศีรษะมักจะดีขึ้นในช่วงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์
- หากแม่ท้องรู้สึกคลื่นไส้ในตอนเช้า รับประทานอาหารแห้ง ๆในมื้อเช้า เช่น ซีเรียล ขนมปังปิ้ง หรือแครกเกอร์ พยายามรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงก่อนนอน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ชีส เป็นต้น
- หากรู้สึกหิวมาก ๆ แต่รับประทานไม่ลง ให้ลองทานกล้วยหอม ข้าว และชาร้อน ๆ สักถ้วย จะทำให้รู้สึกดีขึ้น
- อย่าปล่อยให้ท้องว่าง รับประมาณมื้อเล็ก ๆ วันละหลาย ๆ มื้อ แทนการรับประทานมื้อใหญ่มื้อเดียว เคี้ยวช้า และละเอียด จะช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารให้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง
- จิบน้ำบ่อย ๆ
- หากมีอาการวิงเวียนมาก ควรปรึกษาแพทย์
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของแม่ลูกในไตรมาสที่ 2 อย่าพลาดการติดตาม เร็ว ๆ นี้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
คนท้องไตรมาสแรกควรกินอะไร ท้องไตรมาสแรก กินอะไรดี แพ้ท้องหนักมาก กินอะไรไม่ได้เลย กลัวลูกในท้องไม่ได้รับสารอาหาร
แหล่งที่มา : (webmd)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!